รีเซต

ศ.ศ.ป.ชวน4ภาคโชว์ออกแบบ “ผ้าไทยใส่ได้ทุก Gen” ต่อยอดนำไปผลิตและจำหน่ายจริง

ศ.ศ.ป.ชวน4ภาคโชว์ออกแบบ “ผ้าไทยใส่ได้ทุก Gen” ต่อยอดนำไปผลิตและจำหน่ายจริง
มติชน
31 พฤษภาคม 2564 ( 13:16 )
49

นายพรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศ.ศ.ป.) หรือ SACICT เปิดเผยว่า SACICT ได้กำหนดจัดการประกวดผลงานศิลปหัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ ครั้งที่ 2 (SACICT Award 2021) ภายใต้แนวคิด “ผ้าไทยใส่ได้ทุก Gen” โดยจะจัดประกวดใน 4 ภูมิภาค เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความสามารถด้านการออกแบบผลงานศิลปหัตถกรรม ได้นำเสนอแนวคิดการสร้างสรรค์ผลงานศิลปหัตถกรรมไทยที่สื่อถึงกระบวนการและเทคนิคเชิงช่างดั้งเดิม มาผสมผสานกับเทคโนโลยี หรือการพัฒนาลวดลาย รูปแบบ ให้มีความร่วมสมัย เพื่อส่งเสริมให้เกิดประโยชน์ใช้สอยที่เข้ากับวิถีชีวิตคนในยุคปัจจุบันมากขึ้น รวมถึงการนำเรื่องราวจากภูมิปัญญาท้องถิ่นมาถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่ ให้เกิดแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์ฝีมืองานศิลปหัตถกรรม โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2564

 

 

สำหรับการจัดประกวดในครั้งนี้ ได้แบ่งการประกวดออกเป็น 2 ประเภท คือ บุคคลทั่วไป และนิสิต นักศึกษา โดยกำหนดให้ใช้ผ้าในท้องถิ่น ทั้ง 4 ภาค มาใช้เป็นวัสดุ วัตถุดิบ ออกแบบเป็นเครื่องแต่งกายผ้าไทยที่สามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวันตรงกับความต้องการของทุกเจเนอเรชั่นในแต่ละภูมิภาค โดยการผสมผสานองค์ความรู้ และภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมไทยเข้ากับทักษะการออกแบบแฟชั่น และเครื่องแต่งกายผ้าไทยได้อย่างสอดรับกับวิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน

 

 

ทั้งนี้ ในการออกแบบแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย กำหนดให้ออกแบบ 4 ชุด คือ 1. ชุดผ้าไทยสำหรับ Baby Boomer หรือ Gen-B 2. ชุดผ้าไทยสำหรับ Generation X หรือ Gen-X 3. ชุดผ้าไทยสำหรับ Generation Y หรือ Gen-Y และ 4. ชุดผ้าไทยสำหรับ Generation Z หรือ Gen-Z ซึ่งสร้างสรรค์โดย นิสิต นักศึกษา

 

 

ส่วนการคัดเลือกคณะกรรมการจะคัดเลือกรอบแรกจากข้อมูลผู้สมัครทั้งหมดให้เหลือจำนวน 10 ทีม รอบที่สองนำ 10 ทีมที่ผ่านในรอบแรกมาพิจารณาจากการสัมภาษณ์โดยคัดเหลือ 5 ทีม ซึ่งทั้ง 5 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกจะต้องมาแข่งขันผลิตชิ้นงานจริงในรายการ และจะตัดสินผลงานชนะเลิศประเภทละ 1 รางวัล ในแต่ละภูมิภาค รวม 4 ภูมิภาค ส่วนนิสิต นักศึกษา จะคัดเลือกผู้ผ่านเข้ารอบภูมิภาคละ 3 ราย เพื่อนำเสนอผลงาน และคัดผู้ผ่านเข้ารอบจำนวน 3 ราย จาก 4 ภูมิภาค รวม 12 ราย เพื่อผลิตผลงานจริง และตัดสินผู้ชนะเลิศจากผลงานที่ผ่านเข้ารอบในแต่ละภูมิภาค

 

 

“ผลงานที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารอบสุดท้าย จะได้รับโอกาสในการพัฒนาทักษะกับ SACICT ทั้งการอบรมความรู้ การพัฒนาสินค้า โดยดีไซน์เนอร์ที่มีชื่อเสียง และยังจะได้รับการต่อยอด สนับสนุนผลงานในเชิงพาณิชย์ให้สามารถจำหน่ายได้จริง ผ่านทางออฟไลน์และออนไลน์ ผ่านกิจกรรม หรือโครงการต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การเผยแพร่ผลงาน และการเข้าร่วมในงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ”นายพรพลกล่าว

 

 

ทั้งนี้  ผ้าไทยที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบผลงานประกวด มีดังนี้ 1. ผ้าไทยภาคเหนือ เช่น ผ้าไทยวน ผ้าไทลื้อ 2. ผ้าไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ผ้าโฮล ผ้าหางกระรอก ผ้าอัมปรม ผ้าละเบิก ผ้าซิ่นทิว ผ้าไหมลายสาเกต ผ้ากาบบัว ผ้าไหมมัดหมี่ชนบท ผ้าไหมลายลูกแก้วย้อมมะเกลือ ผ้ามัดหมี่ตีนแดง ผ้าไหมมัดหมี่ลายแก้วมุกดา ผ้าไหมลายหมี่คั่นขอนารี ผ้าไหมแพรวา ผ้าไหมมัดหมี่ลายสร้อยดอกหมาก ผ้าสะมอ ผ้าอันลูนซีม ผ้าทอลายขิด 3. ผ้าไทยภาคกลาง เช่น ผ้าซิ่นตีนจกบ้านหาดเสี้ยว ผ้าซิ่นตีนจกบ้านไร่ผ้า ผ้าลับแล ผ้าจกไทยวน ผ้ายกมุกไทยวน และ 4. ผ้าไทยภาคใต้ เช่น ผ้ายกเมืองนคร ผ้าทอนาหมื่นศรี ผ้าพุมเรียง ผ้าจวนตานีหรือผ้าล่องจวน ผ้าปะลางิง ผ้าบาติก หรือผ้าปาเต๊ะ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง