รีเซต

Ubon Forum ยุคโควิด ต้องคิดพึ่งตน ตระหนักไม่ตระหนก ปลุกคนไม่สนใจให้ตื่น ประชาชนเช็กให้ชัวร์ก่อนแชร์

Ubon Forum ยุคโควิด ต้องคิดพึ่งตน ตระหนักไม่ตระหนก ปลุกคนไม่สนใจให้ตื่น ประชาชนเช็กให้ชัวร์ก่อนแชร์
77ข่าวเด็ด
24 มีนาคม 2563 ( 14:09 )
57
Ubon Forum ยุคโควิด ต้องคิดพึ่งตน ตระหนักไม่ตระหนก ปลุกคนไม่สนใจให้ตื่น ประชาชนเช็กให้ชัวร์ก่อนแชร์

อุบลราชธานี – เสวานาหาทางรอด ประชาชนเตรียมความพร้อมป้องกันโควิด-19 พึ่งตนเอง วอนเงินเยียวยาบางส่วน ตระหนักไม่ตระหนก ปลุกคนไม่สนใจให้ตื่น รัฐต้องไม่ปิดบังการสื่อสาร และมีเอกภาพ ชาวบ้านต้องเช็กให้ชัวร์ก่อนแชร์

เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 63 Facebook Fanpage UbonConnect ได้จัดวงเสวนาออนไลน์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์จังหวัดอุบลราชธานี Ubon Forum #3 กับหัวข้อที่ว่า “โควิดปิดร้าน อดทน จนอดตาย มีทางเลือกไหม ยังไงดี” โดยการเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้และหาแนวทางการอยู่รอดในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19

ซึ่งในวงเสวนา“โควิดปิดร้าน อดทน จนอดตาย มีทางเลือกไหม ยังไงดี” ได้เชิญบุคคลากรและตัวแทนประชาชนจากหลากหลายแขนงมาพูดคุยเสวนา ร่วมด้วย  สุภิญญา กลางณรงค์ (อดีต กสทช. และ ผู้ร่วมก่อตั้ง​ CoFact​CoForm​ ), นิมิต สิทธิไตรย์ (ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี) ,นพพร พันธุ์เพ็ง (ประธานมูลนิธิสื่อสร้างสุข) ,ทศพล ไกรพันธุ์ (ผู้ใหญ่บ้านศรีไคออก) ,บุญเรือง ขจัดมลทิน (ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า)

นพพร พันธุ์เพ็ง ประธานมูลนิธิสื่อสร้างสุข  เปิดเผยถึงของตนมุมมองว่า ส่วนตัวตนเองไม่เห็นด้วยกับการที่ภาครัฐสั่งให้หลายกิจการปิดบริการชั่วคราว เพราะในหลายกิจสถานะการเงินยังไม่แข็งแรง ส่วนใหญ่ไม่ได้วางแผนเตรียมตัวกับมาตรการเช่นนี้  อีกทั้งรัฐบาลยังไม่มีการเยียวยาหรือนโยบายเข้ามาช่วยเหลือส่วนนี้ ในแง่ความเป็นจริงภาครัฐควรมีเงินชดเชยรายได้ให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งการเยียวยานั้นให้ดูจากบัญชีการจ่ายภาษีของกิจการแล้วค่อยประเมินเป็นเงินชดเชย โดยในหลายประเทศมีมาตรการรองรับกับเหตุการณ์กรณีเช่นนี้

ด้าน บุญเรือง ขจัดมลทิน ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า เล่าว่า ตนมีอาชีพเป็นช่างตัดเย็บหาเช้ากินค่ำเมื่อเจอสถานการณ์เช่นนี้ตนเองและครอบครัวปรับตัวไม่ทัน เพราะไม่มีเงินสำรองสำหรับ ค่าอาหาร ค่างวดรถ ค่าเช่าบ้าน ทั้งนี้อยากให้ภาครัฐเตรียมมาตรการรองรับกับกลุ่มประชาชนหาเช้ากินค่ำ ทุกอย่างเกิดขึ้นฉับพลันประชาชนเตรียมรับมือไม่ทัน ต้องดิ้นรนหาทางรอดหาอาชีพใหม่ เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง

ขณะเดียวกันด้านชุมชนในชนบทก็เริ่มมีการตื่นตัวของเรื่องโรคระบาดCOVID-19 โดย ทศพล ไกรพันธุ์ ผู้ใหญ่บ้านศรีไคออก ต.ศรีไค อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า ชาวบ้านในชุมชนขณะนี้ยังไม่มีปัญหาเท่ากับชุมชนเมือง เพราะอาชีพคนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ปลูกผักเลี้ยงปลา มีวัตถุดิบสำหรับดำรงชีพไม่ต้องดิ้นรนหาทางรอดมาหนัก แต่สิ่งที่คนในชุมชนกังวลนั้นคือกลุ่มคนที่กลับจาก กรุงเทพฯและปริมณฑล ทั้งนี้ผู้นำชุมชนต้องเข้มแข็งยกมาตรการกักตัว 14 วันสำหรับกลุ่มคนเหล่านี้และต้องการสร้างความตระหนักให้กับคนในชุมชน เริ่มต้นด้วยการดูแลตัวเองและครอบครัวเพิ่มความกำลังใจและความเชื่อมั่นให้กับชาวบ้านอย่าตื่นตระหนกพึ่งตนเองดีที่สุดแล้วจะผ่านสถานการณ์ครั้งนี้ไปได้

ส่วนด้านประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี  นิมิต สิทธิไตรย์ กล่าวว่า ณ ตอนนี้ประชาชนต้องอดทน ห้ามตื่นตระหนกตั้งสติจัดลำดับความสำคัญต่างๆยอมรับความจริง ภาวะเช่นนี้เป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง ด้านเศรษฐกิจต้องเอื้ออาทรกันและกัน ซึ่งทางการหอการค้ากำลังหาแนวทางเยียวยากรณีที่ประชาชนลำบากจนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ทั้งนี้ทุกคนต้องช่วยลดคนตระหนกเพิ่มคนตระหนักสร้างความรู้ให้กลุ่มที่ไม่สนใจชะลอการติดเชื้อในสังคมให้ช้าที่สุด โดยที่สำคัญคนไทยต้องไม่ทิ้งกันและเศรษฐกิจจะก้าวต่อไปเมื่อภาคประชาชนหันมาช่วยเหลือกัน

สุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กสทช. และ ผู้ร่วมก่อตั้ง​ CoFact​CoForm​ กล่าวต่อว่า จากเหตุการณ์ครั้งนี้ภาครัฐควรได้รับบทเรียนเรื่องการสื่อสารกับประชาชนว่าไม่ควรปิดบังความจริง การออกมาเตือนประชาชนนั้นมีให้เห็นได้น้อยทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ทั้งนี้ภาครัฐต้องเปลี่ยนการสื่อสารใหม่เพิ่มสื่อในโทรทัศน์ให้มากขึ้นและกระจายข่าวสารที่เป็นจริงให้กับชุมชนเช่น หอกระจายข่าวหรือใบปลิวแจกตามบ้าน นอกจากนี้รัฐบาลต้องให้อำนาจสื่อทำงานอย่างมีประสิทธิภาพยอมรับคำวิจารณ์ ยอมรับความผิดพลาดของตนเอง ส่วนด้านประชาชนต้องรู้จักเลือกรับข่าวสารชัวร์ก่อนแชร์ ไม่ปล่อยข่าวปลอมพร้อมสื่อสารด้วยข้อมูลความจริง

สรุปจากวงเสวนาครั้งนี้การที่ประชาชนจะอยู่รอดกับสถานการณ์ปัจจุบันต้องรู้จักพึ่งพาตนเอง สังคมช่วยจับมือไม่ทอดทิ้งกันภาคประชาชนหันมาช่วยดูแลผู้มีมากต้องรู้จักให้ผู้มีน้อย และสิ่งที่ตามภาครัฐบาลต้องมีนโยบายเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชน พร้อมเคร่งเรื่องมาตรการจัดการโรคระบาดทำให้เห็นผลจริงพและเพิ่มสื่อสารสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ

หมายเหตุ.- การเสวนาครั้งนี้เป็นเสวนาออนไลน์ ทุกคนอยู่บ้านตนเอง ประชาชนสามารถเข้าร่วมห้องประชุมจากทางมือถือได้ ร่วมพูดคุยในห้อง คอมเม้นต์เป็นตัวหนังสือ หรือชมทางไลฟ์สด และชมย้อนหลังได้ตลอด 24 ชม.

 
 

ชิษณุพงศ์ สุนทรพาณิชย์ เรียบเรียง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง