รีเซต

จรวจ 23 ลำ ของจีนอาจช่วยโลกจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อย Bennu

จรวจ 23 ลำ ของจีนอาจช่วยโลกจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อย Bennu
TNN World
8 กรกฎาคม 2564 ( 17:53 )
249
จรวจ 23 ลำ ของจีนอาจช่วยโลกจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อย Bennu

Editor’s Pick: จรวดยักษ์ 23 ลำของจีน อาจช่วยโลกจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อย จนเกิด ‘วันสิ้นโลก’ ได้ในอนาคต

 

 

 

รัฐบาลจีนเปิดเผยว่า ในอนาคตอันใกล้ โครงการอวกาศของจีนจะสามารถกอบกู้โลกได้ ด้วยจรวดขนาดใหญ่ที่เดินทางเป็นเวลาหลายปี เพื่อปกป้องโลกจากดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ ที่สามารถกวาดล้างเมืองทั้งเมืองได้

 

 

บทบาทผู้กอบกู้โลกที่จีนพยายามกล่าวถึง ดูย้อนแย้งกับทัศนคติของคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในชาติตะวันตกและสหรัฐฯ ที่มองว่า โครงการอวกาศจีนเป็นภัยคุกคามต่อโลกมากกว่า

 

 

เพราะเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ส่วนหลักของจรวดจีนที่มีน้ำหนักกว่า 20 ตัน ได้ตกสู่พื้นโลกโดยไร้การควบคุม แต่ท้ายสุด ส่วนหลักน้ำหนักมหาศาลนี้ได้ตกลงสู่ทะเล หรือเผาไหม้ไปจนหมดก่อนตกสู่โลก

 

 

และเมื่อปีที่แล้ว ชิ้นส่วนจากจรวดอีกลำของจีน เชื่อว่าได้ตกใส่หมู่บ้านสองแห่งในประเทศโกตดิวัวร์ หรือที่รู้จักในชื่อ ไอวอรีโคสต์

 

 


ดาวเคราะห์น้อยที่อาจพุ่งชนโลกในอีก 100 ปี

 

ผลการศึกษาที่ได้รับทุนจากรัฐบาล ระบุว่า จีนสามารถปล่อยจรวด 'ลองมาร์ช 5' หรือ CZ-5 จำนวน 23 ลำ เพื่อสลายวัตถุที่เป็นหินในระบบสุริยะได้ นั่นรวมถึงดาวเคราะห์น้อยด้วย โดยจรวดรุ่นดังกล่าว มีขนาดใหญ่ที่สุดในฝูงจรวดของจีน และมีน้ำหนักเกือบ 900 ตัน

 

 

ดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดประมาณ 500 เมตร ถือว่ากว้างพอที่จะสังหารประชากรหลายล้านคนได้ แม้ว่าในปัจจุบัน โอกาสที่วัตถุจะพุ่งชนโลกมีน้อยนิด แต่ในอีก 100 ปีข้างหน้า มีโอกาสที่ดาวเคราะห์น้อย Bennu (เบนนู) อาจพุ่งชนโลกได้

 

 

นักวิจัย หลี่ หมิงเถา และบรรดาเพื่อนร่วมงาน ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์อวกาศแห่งชาติ ในกรุงปักกิ่ง ได้รับมอบหมายให้ค้นหาวิธีที่จีนจะเข้ายับยั้ง ไม่ให้มนุษย์สูญสิ้นไปแบบไดโนเสาร์

 

 

ดาวเคราะห์น้อยที่อาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ มีขนาดประมาณ 10 กิโลเมตร ซึ่งการจะเปลี่ยนเส้นทางของดาวเคราะห์น้อย ที่พุ่งเข้าหาโลกด้วยความเร็วที่น่าสะพรึงนี้ จำเป็นต้องใช้พลังงานจลน์มหาศาล, อาวุธนิวเคลียร์อาจใช้งานได้ แต่การระเบิดดังกล่าว อาจทำให้เป้าหมายแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แต่ก็ยังมีอันตรายหากตกสู่โลก

 

 

ศูนย์วิทยาศาสตร์อวกาศแห่งชาติแนะนำให้ปล่อยจรวด CZ-5 จำนวน 23 ลำ จากพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศจีนพร้อม ๆ กัน, ยานอวกาศอาจต้องใช้เวลาเดินทางถึง 3 ปี เพื่อเดินทางไปยังดาวเคราะห์น้อยที่เป็นจุดหมาย

 

 

ด้านบนของจรวดแต่ละลำจะเป็นเครื่องเบี่ยง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายดาวเคราะห์น้อย โดยจะ “ชน” ดาวเคราะห์น้อยทีละดวง เพียงเบา ๆ เท่านั้นเพื่อให้เปลี่ยนเส้นทาง

 

 

 

เบนเส้นทางดาวเคราะห์น้อย

 

ตามการคำนวณของหลี่ หมิงเถา จรวดจะเปลี่ยนเส้นทางของดาวเคราะห์น้อย Bennu เพียงเล็กน้อย แต่มากพอที่จะทำให้มันเคลื่อนที่ผ่านโลกไปอย่างปลอดภัย ในระยะห่างประมาณ 1.4 เท่าของรัศมีโลก และช่วยบางเมืองให้พ้นจากการทำลายล้าง

 

 

หลี่และนักวิจัยคนอื่น ๆ กล่าวกับวารสาร Icarus ฉบับเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นวารสารนานาชาติเกี่ยวกับการศึกษาระบบสุริยะ โดยระบุว่า เป็นไปได้ที่จะป้องกันโลกจากดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ ด้วยเทคนิคที่ปราศจากนิวเคลียร์ภายใน 10 ปีต่อจากนี้

 

 

จรวจด 'ลองมาร์ช 5' หรือ CZ-5 เป็นแกนหลักของโครงการอวกาศจีน เป็นจรวดที่มีประโยชน์มาก สำหรับการก่อสร้างสถานีอวกาศและการสำรวจดาวอังคาร แต่ปัญหาของมันคือ ขนาดที่ใหญ่ จนทำให้อาจเป็นอันตรายต่อโลกได้ ระหว่างการตกสู่พื้นโลกแบบไร้การควบคุม ด้วยความเร็วหลายพันไมล์ต่อชั่วโมง

 

 

 


คู่แข่งในด้านอวกาศ

 

ทางการฝั่งชาติตะวันตก รวมถึง กองทัพอวกาศสหรัฐฯ กล่าวว่า หลังจีนดำเนินการปล่อยจรวด พวกเขาจะติดตาม CZ-5 แต่ละลำอย่างระมัดระวัง

 

 

เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวว่า เขาหวังว่าจรวดที่กำลังกังวลกันนี้ "จะลงจอดในที่ที่ไม่สร้างความเสียหายต่อผู้ใด อาทิ มหาสมุทร หรือที่ไหนสักที่ที่ปลอดภัย"

 

 

เขายังเสริมว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยจรวด ควรคำนึงและวางแผนรองรับไว้ด้วย ถึง "สิ่งเหล่านี้" หรือหมายถึงการพุ่งตกโลกของจรวด ขณะที่สื่อตะวันตกบางสำนักถึงกับเตือนประชาชนว่า เศษชิ้นส่วนของจรวดจีนอาจตกกระทบเมืองใหญ่ได้

 

 

แม้ "สิ่งเหล่านี้" ยังไม่เกิดขึ้น แต่นานาประเทศเพ่งเล็งและกดดันจีนให้มีความรับผิดชอบมากขึ้นในฐานะมหาอำนาจด้านอุตสาหกรรมอวกาศ

 

 

ในวารสาร Icarus หลี่และเพื่อนร่วมงาน ยังกล่าวว่า เชื้อเพลิงที่ไม่ได้ใช้ในระหว่างการปล่อยจรวด สามารถให้แรงขับดันที่เพิ่มขึ้น เพื่อเดินทางไปยังดาวเคราะห์น้อย และลำตัวจรวดยังเพิ่มมวลรวมของตัวเบี่ยงทิศทางของดาวเคราะห์น้อยได้

 

 

หลี่ระบุอีกว่า นักวิจัยของ NASA และห้องปฏิบัติการแห่งชาติ Lawrence Livermore ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ในปี 2018 เคยเสนอภารกิจที่คล้ายคลึงกันนี้มาแล้ว โดยจะใช้จรวด Delta IV Heavy จำนวน 75 ลำ เพื่อดำเนินการกับดาวเคราะห์น้อย

 

 

ภารกิจดังกล่าวรู้จักกันในชื่อ HAMMER (Hypervelocity Asteroid Mitigation Mission for Emergency Response) โดยจะใช้จรวดที่ทำหน้าที่เครื่องเบี่ยงเส้นทางรวมน้ำหนัก 400 ตัน เพื่อเปลี่ยนทิศทางของดาวเคราะห์น้อย ถือว่ามากกว่าข้อเสนอของจีนเกือบ 2 เท่า และด้วยระยะเวลาบินที่สั้นลงเกือบปี เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่คล้ายกัน

 

 

 

การพัฒนาที่กว้างไกลกว่าเดิม

 

ทั้งนี้ หลี่ กล่าวว่า ภารกิจของสหรัฐฯ จะมีราคาสูงกว่าจีน อีกทั้ง แผนของจีนใช้เวลาเตรียมการน้อย ไม่เพียงเท่านั้นแผนของสหรัฐฯ จะต้องค้นพบดาวเคราะห์น้อยอย่างน้อย 25 ปก่อนที่จะชนโลก ซึ่งแผนของจีนสามารถย่นระยะเวลาเหลือเพียงสิบปีเท่านั้น

 

 

รายงานระบุว่า โดยรวมแล้ว วิธีการของจีนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่า Assembled Kinetic Impactor (AKI) คือ สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพในการเบนทิศทางได้อย่างรวดเร็ว และลดต้นทุนการยิง รวมถึงระยะเวลาการดำเนินการ

 

 

นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยชิงหวา ในกรุงปักกิ่ง ระบุว่า การแข่งขันระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะช่วยกระตุ้นการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศได้ แต่ “ปัญหา คือ เมื่อวันสิ้นโลกมาถึง การเมืองอาจครอบงำวิทยาศาสตร์ และเสียเวลามากมายไปกับการอภิปราย เพื่อตัดสินว่าประเทศใดควรเป็นผู้นำ”

 

 

 

จีนอาจเปิดตัวยานอวกาศสำรวจดาวเคราะห์น้อยในปี 2025

 

จีนท้าทายอำนาจของสหรัฐฯ ในเรื่องอวกาศมาระยะหนึ่งแล้ว ด้วยการสำรวจดาวอังคาร อีกทั้ง กำลังสร้างสถานีอวกาศ สำรวจด้านไกลของดวงจันทร์ และศึกษาตัวอย่างดวงจันทร์ที่หุ่นยนต์เพิ่งส่งกลับมายังโลก

 

 

เมื่อหลายสิบปีก่อน สหรัฐฯ ได้ริเริ่มโครงการป้องกันดาวเคราะห์น้อยเป็นครั้งแรก มีระบบเรดาร์เตือนดาวเคราะห์น้อยเพียงระบบเดียวในโลก และมียานอวกาศที่กำลังเดินทางกลับมายังโลก หลังจากเก็บตัวอย่างจาก Bennu ดาวเคราะห์น้อยที่อาจโจมตีโลกในอีก 100 ปีข้างหน้า

 

 

ในปี 2025 ประเทศจีน คาดว่าจะเปิดตัวยานอวกาศของตัวเอง เพื่อเก็บตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยเช่นกัน

 

 

นักวิจัยที่เกี่ยวข้อง ยังกล่าวว่า ประเทศจีนกำลังสร้างระบบป้องกันดาวเคราะห์ ด้วยเรดาร์ที่ทรงพลังที่สุดในโลก ซึ่งจะประกอบด้วย กล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดใหญ่ที่กระจายไปทั่วประเทศ และสามารถติดตามเป้าหมายได้มากกว่าของสหรัฐฯ

 


—————
เรื่อง: พัชรี จันทร์แรม
ภาพ: Reuters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง