“อุทกภัยถล่มทั่วอาเซียน” รุนแรงสุดในรอบหลายทศวรรษ ตายทะลุ 200 ผลกระทบจากโลกเดือด
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ส่งผลให้ภัยพิบัติต่าง ๆ มีความรุนแรงและถี่ยิ่งขึ้น สร้างความเสียหายหลายภาคส่วน ตลอดจนการสูญเสียชีวิต ที่นับวันยากเกินกว่าจะฟื้นฟูกลับมาเป็นดั่งเดิม
---เวียดนามน้ำท่วมหนัก ตายเกือบ 200---
ในบรรดาประเทศอาเซียนที่ต้องเผชิญกับอุทกภัยอันเลวร้าย เวียดนามเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยมีผู้เสียชีวิตล่าสุดอยู่ที่ 197 ราย
พายุไต้ฝุ่นยางิพัดถล่มเวียดนามเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักมหาศาล เกิดน้ำท่วมทั่วพื้นที่ทางตอนเหนือของเวียดนาม, ลาว, ไทย และเมียนมา และเป็นสาเหตุเกิดดินถล่ม และน้ำท่วมเป็นวงกว้าง
“ตู” หนึ่งในชาวนาที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วม กล่าวกับสำนักข่าว AFP ว่า สวนดอกพีชของเขาขนาดพื้นที่ 1,800 ตารางเมตรจมอยู่ใต้น้ำ และทำลายต้นไม้ของเขาทั้งหมด 400 ต้น
“มันยากมาก ๆ ที่ผมจะฟื้นตัวจากความสูญเสียครั้งนี้ ผมคิดว่าผมสูญเสียเงินไปมากกว่า 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ”
“ผมไม่รู้จริง ๆ ว่าต้องทำอะไรตอนนี้ ผมได้แต่รอให้น้ำลดลงเท่านั้น” เขา กล่าว
ด้านรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรกรรมเวียดนาม เผยว่า น้ำท่วมสูงทำลายพื้นที่การเกษตรไปมากถึง 1,562,500 ไร่ รวมการเสียชีวิตของปศุสัตว์จำนวนมาก โดยพื้นที่เพาะปลูกรอบ ๆ กรุงฮานอยได้รับผลกระทบหนักที่สุด
ขณะที่ ชาวเวียดนามต้องเดินเท้าฝ่าน้ำท่วมสูงถึงหน้าแข้ง เพื่อเดินทางไปทำงาน แม้เจ้าหน้าที่จะแจ้งว่า ระดับน้ำในเมืองค่อย ๆ ลดลง หลังจากระดับน้ำแตะสูงสุดในรอบ 20 ปี
ประชาชนนับพันคนจำใจต้องทิ้งบ้านของตัวเองเพื่อทำการอพยพ ขณะที่ประชาชนบางส่วนไม่มีไฟฟ้าใช้ และเขตที่ได้รับผลกระทบหนักบริเวณชานเมืองกรุงฮานอย ประชาชนมากกว่า 15,000 คน ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้
นอกจากนี้ สื่อท้องถิ่นเวียดนาม รายงานว่า เกิดเหตุดินถล่มบริเวณเทือกเขาจังหวัดหล่าวกายเมื่อวันอังคาร (10 กันยายน) ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 7 ราย และสูญหาย 11 คน แต่รายละเอียดของเหตุการณ์นี้ยังมีไม่มากนัก เนื่องจากการสื่อสารในพื้นที่เกิดเหตุถูกตัดขาด ซึ่งก่อนหน้านี้ ก็เกิดเหตุดินถล่มในจังหวัดเดียวกัน ทำลายบ้านเรือนไปทั้งหมด 37 หลัง ประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 34 ราย สูญหายอีก 46 คน
---อุทกภัยถล่มทั่วอาเซียน---
ภัยพิบัติครั้งนี้ ไม่ได้ส่งผลแค่ประเทศเวียดนามเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบในหลายประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคอาเซียน ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย
ไทยยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดเพิ่มขึ้นเป็น 8 รายแล้ว โดยมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 4 รายจากเหตุดินถล่มในจังหวัดเชียงใหม่
พื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งติดกับชายแดนเมียนมา เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักจากน้ำท่วมมากที่สุดในรอบ 80 ปี
สถานการณ์น้ำท่วมที่แม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะบริเวณด่านพรมแดนแม่สาย ระดับน้ำที่ไหลมาจากลำน้ำสายยังคงเพิ่มสูงขึ้น ไหลเชี่ยว ส่งผลให้บ้านเรือน ห้างร้าน อาคารพาณิชย์ ถูกน้ำท่วมจำนวนหลายพันหลังคาเรือน
หน่วยงานรัฐบาลไทยระดมกำลังพล เพื่อเข้าบรรเทาทุกข์ และส่งเฮลิคอปเตอร์ 3 ลำ เข้าสำรวจพื้นที่เกิดเหตุ ขณะที่ วัดวาอาราม โรงแรม และรีสอร์ตต่าง ๆ ในภาคเหนือ ต่างเปิดให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเข้าพักฟรีเกือบ 1,000 คน
ด้านกรมทรัพยากรธรณี แจ้งเตือนภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากพื้นที่เสี่ยง 10 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภาคเหนือ เนื่องจากมีฝนตกหนักต่อเนื่อง วัดปริมาณน้ำฝนในรอบ 24 ชั่วโมง ได้มากกว่า 100 มิลลิเมตร ทำให้ชั้นดินอุ้มน้ำไว้มากอาจส่งผลให้เกิดแผ่นดินถล่ม ได้แก่ จังหวัดตาก, แม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่, เชียงราย, น่าน, พะเยา และภาคกลาง ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี
ส่วนที่เมียนมาเผชิญน้ำท่วมหนักรุนแรงสุดรอบกรุงเนปิดอว์ สำนักข่าว Global New Light ของเมียนมา เผยว่า เส้นทางรถไฟสายย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์หยุดให้บริการชั่วคราว เนื่องจากเส้นทางบางส่วนถูกน้ำท่วม
ขณะที่ ลาว น้ำท่วมฉับพลับได้ทำลายล้างพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศ หมู่บ้านและพื้นที่การเกษตรจมอยู่ใต้น้ำ มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 1 ราย โดยเมืองหลวงน้ำทาและพงศาลี เป็นเมืองที่ได้รับความเสียหายหนักสุด ภาพจากสถานีโทรทัศน์ Lao National Television เผยให้เห็นประชาชนต้องอาศัยอยู่ชั้นบนของบ้าน และลุยน้ำท่วมที่สูงถึงระดับอก
คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ดูแลเส้นทางน้ำที่สำคัญ ออกประกาศคำเตือน ในวันพฤหัสบดี (12 กันยายน) โดยคาดว่า แม่น้ำโขงจะเอ่อล้น ทำให้หลวงพระบางเกิดน้ำท่วมในวันที่ 12 กันยายน
---โลกร้อน ทำภัยพิบัติรุนแรงขึ้น---
ฝนมรสุมมักถล่มพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกปี แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากกิจกรรมของน้ำมือมนุษย์ ทำให้รูปแบบของสภาพอากาศรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมที่ทำลายล้าง สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างมากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ไต้ฝุ่นก่อตัวใกล้ชายฝั่งมากขึ้น รุนแรงมากขึ้น และอยู่บนบกได้นานขึ้น
โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมเชียงรายและหลายจังหวัดภาคเหนือสะท้อนภาวะโลกรวน ที่หลายพื้นที่กำลังเจอกับฝนตกหนัก อากาศแปรปรวน สอดคล้องกับรายงานองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกที่ชี้ว่าโลกรวนทำให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเจอกับสภาพอากาศสุดขั้วรุนแรงที่สุดในปี 2023 เช่น ฝนตกหนัก ระดับน้ำของแม่น้ำโขงลดลง
ขณะที่ รายงานแห่งชาติ (NC4) ชี้ว่า ภาคอีสานและภาคเหนือเสี่ยงภัยพิบัติหนัก ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ เก็บเกี่ยวผลผลิตล้มเหลว กระทบปากท้องเกษตรกร สัตว์สูญพันธุ์ จนถึงน้ำปนเปื้อนที่นำไปสู่โรคระบาด
ทั้งนี้ ไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุดจากภาวะโลกรวน โดยหนึ่งในอาชีพที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเกษตรกรไทยกว่า 12 ล้านคน ที่คิดเป็น 1 ใน 6 ของคนไทย
ความเสี่ยงของประเทศไทยตอกย้ำว่า แผนการรับมือกับภาวะโลกรวนเป็นเรื่องเร่งด่วน ที่ต้องแก้ปัญหาผ่านหลายแนวทาง เช่น งบประมาณที่ต้องบูรณาการเรื่องโลกรวนเพื่อให้เราตั้งรับได้ นโยบายของทุกภาคส่วน ตั้งแต่มิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ต้องมองเรื่องโลกรวนเข้าไปเป็นหนึ่งในปัจจัย ไม่มองแยกขาดจากกัน การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ถนน หนทางที่ประเมินความเสี่ยงเรื่องโลกรวน จนถึงปรับแนวทางภาคเกษตรให้สอดรับและยืดหยุ่นกับผลกระทบและความเสี่ยง
แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.barrons.com/news/laos-battles-deadly-typhoon-floods-c3106bea