รีเซต

จับตานายกฯ คนใหม่เยอรมนี "โอลาฟ โชลซ์" เผชิญความท้าทายหลังเข้ารับตำแหน่ง

จับตานายกฯ คนใหม่เยอรมนี "โอลาฟ โชลซ์" เผชิญความท้าทายหลังเข้ารับตำแหน่ง
TNN ช่อง16
9 ธันวาคม 2564 ( 12:58 )
59

---ผู้นำคนใหม่แห่งเยอรมนี---


โอลาฟ โชลซ์ วัย 63 ปี นำพรรคโซเชียล เดโมแครต หรือ SDP คว้าชัยในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา และถูกมองว่า น่าจะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของเยอรมนี เพราะเขามีบทบาททางการเมืองในรัฐบาลของนางอังเกลา แมร์เคิลมายาวนานในฐานะรองนายกรัฐมนตรี 


จากนั้น โชลซ์เจรจาตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคกรีนส์ และพรรคฟรี เดโมแครต อยู่นานเกือบ 3 เดือน ก่อนลงนามในข้อตกลงจัดตั้งรัฐบาลผสมไปเมื่อวันอังคาร (7 ธันวาคมและเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งไปเมื่อวานนี้ (9 ธันวาคมหลังจากสมาชิกรัฐสภาเยอรมนี หรือ บุนเดสถาก ที่พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 3 ครองเสียงข้างมากอยู่ในขณะนี้ ลงคะแนนเลือกเขาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่


---รัฐมนตรีชุดแรกที่มีผู้หญิงเท่ากับผู้ชาย---


การรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของ โอลาฟ โชลซ์ ยังถือเป็นการรับไม้ต่อจากนางอังเกลา แมร์เคิล ที่นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีมานานถึง 16 ปี และตอนนี้ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีมาเกือบ 3 เดือน นับตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนกันยายน 


นอกจากนี้ ยังเรียกได้ว่าเป็นการสิ้นสุดงานทางการเมืองตลอด 31 ปีของแมร์เคิลด้วย เธอกล่าวว่า จากประสบการณ์ส่วนตัว การได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนี้ เป็นช่วงเวลาที่ซาบซึ้งมาก และนี่เป็นงานที่สวยงามที่สุดอีกงานหนึ่ง และขอให้โอลาฟ โชลซ์โชคดี

 

ส่วนคณะรัฐมนตรีทั้ง 16 คนเข้า รับตำแหน่งเมื่อวานนี้ (9 ธันวาคมกลายเป็นคณะรัฐมนตรีชุดแรกของเยอรมนีที่มีผู้หญิงเท่ากับผู้ชาย โดยแอนนาเลนา แบร์บอค ผู้นำพรรคกรีนส์ รับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ 


---ความท้าทายสำหรับรัฐบาลใหม่มีอะไรบ้าง---


ก่อนหน้านี้ รัฐบาลผสมชุดใหม่ของเยอรมนีที่มีโชลซ์เป็นผู้นำ ประกาศว่า จะรับมือกับปัญหาโลกร้อนอย่างเข้มงวด ด้วยการประกาศแผนยกเลิกการใช้พลังงานจากถ่านหินก่อนเป้าที่วางไว้ และมุ่งเน้นการใช้งานพลังงานสะอาด 


แต่ภารกิจเร่งด่วนก่อนหน้านั้น น่าจะเป็นการรับมือการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศ หลังจากพบผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นต่อเนื่องจนน่าตกใจ ช่วง 24 ชั่วโมงล่าสุด พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 69,601 คน และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 527 คน มากที่สุดนับตั้งแต่ฤดูหนาวปีที่แล้ว


สำนักข่าว BBC ยังมองว่า ความกังวลว่ารัสเซียจะบุกยูเครน ก็เป็นอีกความท้าทายสำหรับรัฐบาลใหม่เยอรมนี


ที่ผ่านมา แมร์เคิลถูกกล่าวหาเสมอว่า เห็นแก่การค้าก่อนการเมือง เนื่องจากเธอมีความสัมพันธุ์ที่ค่อนข้างอบอุ่นกับรัสเซียและจีน 


ขณะที่รัฐบาลของโชลซ์ ถูกคาดหวังว่าจะค่อนข้างเข้มงวดขึ้น แม้ว่าธุรกิจในเยอรมนีจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ หากเกิดความตึงเครียดขึ้น แต่ก็สามารถพัฒนาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ที่กำลังจับตารัสเซียกับจีนอย่างใกล้ชิด และต้องการให้มหาอำนาจในยุโรปอยู่ข้างสหรัฐฯ รวมถึงแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อทั้งสองชาติ


---ปมการเมืองระหว่างประเทศ---


แต่การจะกระชับสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีกับสหรัฐฯ โชลซ์ต้องผ่านบททดสอบจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน เสียก่อน ซึ่งเขาได้ทดสอบโชลซ์ก่อนที่จะเขาพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเสียอีก  


นั่นคือ สหรัฐฯ ต้องการให้เยอรมนี ยกเลิกโครงการ Nord Stream 2 ที่เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทของรัสเซียกับบริษัทเยอรมัน และอีกหลายประเทศ สร้างท่อส่งก๊าซจากรัสเซียลอดทะเลบอลติกขึ้นฝั่งที่เยอรมนี  


สหรัฐฯ มองว่า หากเยอรมนีหรือ EU นำเข้าก๊าซจากรัสเซีย ก็เท่ากับผูกโยง พึ่งพาเศรษฐกิจการเมืองกับรัสเซียมากขึ้น ขณะที่รัสเซียมองว่า ที่สหรัฐฯ พยายามขวางก็เพราะหวังเป็นผู้ขายก๊าซแก่ EU เสียเอง


โดยประเด็นนี้ มีการโต้แย้งกันทั้งในและต่างประเทศ และเป็นประเด็นที่สร้างความแตกแยก แม้กระทั่งภายในรัฐบาลของโชลซ์เอง


แม้ว่ารัสเซียจะปฏิเสธแผนการบุกรุกประเทศเพื่อนบ้าน แต่แมร์เคิลก็เห็นด้วยกับโจ ไบเดนของสหรัฐฯ และผู้นำของสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และอิตาลี ว่า พวกเขาจะใช้กลยุทธ์ร่วมกันเพื่อตอบโต้ด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจที่รุนแรงต่อรัสเซีย รวมถึงโครงการท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ของรัสเซียไปยังเยอรมนี ซึ่งสร้างเสร็จแล้ว แต่ยังรอการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านพลังงานของเยอรมนี


เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เผยว่า พวกเขาได้บรรลุความเข้าใจกับเยอรมนีแล้วว่าการปิดท่อส่งก๊าซเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญ ขณะที่ผู้นำคนใหม่เยอรมนี ระบุว่า จะไม่อยู่เฉยหากรัสเซียบุกยูเครน และมีออกมาเตือนรัสเซียแล้ว


---รัสเซีย-ยูเครน หนึ่งในความท้าทายของเยอรมนี---


ขณะที่ ข้อความแสดงความยินดีจาก ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ระบุว่า เขาตั้งตารอการเจรจาที่สร้างสรรค์ และหวังว่าเยอรมนีจะยอมรับว่า “ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการเจรจา


แม้โชลซ์จะต้องการใกล้ชิดกับฝรั่งเศส แต่ฝรั่งเศสที่มีจุดยืนไม่ต้องการสร้างสัมพันธ์ใกล้ชิดนอก EU ซึ่งแตกต่างจากที่ชาวเยอรมันต้องการ โดยผู้นำคนใหม่ของเยอรมนีต้องการให้สหภาพยุโรปมาก่อน ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่อยากให้เยอรมนีมีบทบาทมากขึ้นในสหภาพยุโรป


โชลซ์จะหารือ NATO และสัญญาว่า จะเพิ่มการสนับสนุน NATO แต่น้อยกว่าที่สหรัฐฯ ต้องการ


ทั้งนี้ เยอรมนีไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ แต่สามารถใช้ระเบิดของสหรัฐฯ บรรทุกบนเครื่องบินของเยอรมันได้ หากโชลซ์ ไม่เห็นด้วย สหรัฐฯ อาจย้ายระเบิดไปยังประเทศอื่น ใกล้กับรัสเซียมากขึ้น ซึ่งจะทำให้รัสเซียไม่พอใจ


โชลซ์จะเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรก ในฐานะนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ด้วยการไปเยือนกรุงปารีส ของฝรั่งเศส และกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม ในวันศุกร์นี้ (10 ธันวาคมโดยเขาและรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ จะต้องแสดงท่าทีตอบสนอง ต่อความกังวลที่รัสเซีย สร้างกองทัพใกล้ชายแดนยูเครน

—————
แปล-เรียบเรียง: สุภาพร เอ็ลเดรจ
ภาพ: Reuters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง