รีเซต

คณะกรรมการนิวเคลียร์สหรัฐฯ อนุมัติใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กผลิตไฟฟ้าขายเอกชน

คณะกรรมการนิวเคลียร์สหรัฐฯ อนุมัติใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กผลิตไฟฟ้าขายเอกชน
TNN ช่อง16
2 สิงหาคม 2565 ( 16:35 )
122
คณะกรรมการนิวเคลียร์สหรัฐฯ อนุมัติใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กผลิตไฟฟ้าขายเอกชน

คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการนิวเคลียร์แห่งสหรัฐอเมริกา (US Nuclear Regulatory Commission - NRC) ได้อนุมัติและรับรองเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบแยกส่วนขนาดเล็กรุ่นที่ 4 (4th Generation) แบบใหม่เครื่องแรกของบริษัท นิวสเกล (NuScale) โดยบริษัทอ้างว่าตัวเครื่องมีความปลอดภัย และสร้างพลังงานสะอาดได้ โดยจะสามารถลดต้นทุนการผลิตพลังงาน การใช้ที่ดิน และลดเวลาการติดตั้งลงไปอย่างมาก

NRC กำลังออกกฎเกณฑ์เพื่อรับรองแม่แบบเครื่องปฏิกรณ์นิวสเกล สำหรับใช้ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเครื่องปฏิกรณ์ดังกล่าวเป็นแม่แบบ 1 ในแบบเพียง 7 แบบ ที่ได้รับการอนุมัติ นับตั้งแต่ปี 1974 เป็นต้นมา ที่มีการยื่นเสนอแบบเครื่องปฏิกรณ์ต่อ NRC 

สำหรับข้อดีของเครื่องปฏิกรณ์แบบแยกส่วนขนาดเล็กอยู่ตรงที่การแยกโครงสร้างออกเป็นโมดูล (Module) แทนที่จะต้องใช้วิธีการก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด โดยบริษัทสามารถผลิตโมดูลเครื่องปฏิกรณ์แบบใช้น้ำออกมาจำนวนมากเพื่อขนส่งไปทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว ติดตั้งง่าย ลดต้นทุนการก่อสร้างและเพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น

โดยโมดูลทรงกระบอกแต่ละโมดูลมีความสูงประมาณ 20 เมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 2.7 เมตร และผลิตไฟฟ้าได้ 77 เมกะวัตต์โดยการใช้กังหันไอน้ำ การติดตั้งโมดูลปฏิกรณ์นี้ ตั้งแต่ 4 โมดูลเป็นต้นไป จนถึง 12 โมดูลจะทำให้โรงไฟฟ้าเริ่มทำงาน สร้างพลังงานได้ตั้งแต่ระหว่าง 308 เมกะวัตต์ (MW) ไปจนถึง 924 เมกะวัตต์ 

นิวสเกลยังกล่าวว่า พลังงานนิวเคลียร์จะเป็นแหล่งกำเนิดไฟฟ้าพื้นฐานที่สำคัญในหลายพื้นที่ และจะมีบทบาทสำคัญสำหรับโครงข่ายไฟฟ้าที่ใช้พลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้มันยังจะช่วยลดต้นทุนลงได้มาก

สำหรับมาตรฐานความปลอดภัย เครื่องปฏิกรณ์นิวสเกล ยังได้รับการออกแบบให้ปิดตัวเองโดยอัตโนมัติ เหมือนกับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์รุ่นที่ 4 (4th Generation) รุ่นอื่น ๆ ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งวาล์วน้ำและวาล์วทางออกไอน้ำจะปิดลงทันทีในกรณีเครื่องทำงานผิดพลาด จากนั้นชุดวาล์วรองจะเปิดขึ้นมาเพื่อลดแรงดันไอน้ำจากแกนเครื่องปฏิกรณ์ ส่งเข้าสู่ถังบรรจุที่อยู่รอบเครื่องปฏิกรณ์ เมื่อไอน้ำนี้ควบแน่น มันจะถูกส่งกลับเข้าไปในแกนกลางและหมุนเวียนผ่านกระบวนการควบแน่นอีกครั้ง จนกว่าแรงดันจะลดลงเป็นปกติ 

นิวสเกลกล่าวว่าขั้นตอนเหล่านี้จะทำให้กระบวนการปิดตัวเกิดขึ้นอย่างปลอดภัย ส่วนกรณีที่หากเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้น ยังมีขั้นตอนป้องกันขั้นสุดท้ายคือถังเก็บน้ำขนาดยักษ์ที่มีเปลือกหุ้มเป็นคอนกรีตหนาที่คลุมโมดูลเครื่องปฏิกรณ์อยู่ โดยถังเก็บน้ำดังกล่าว ออกแบบมาเพื่อป้องกันเหตุดินไหว และการโจมตีโดยเอาเครื่องบินพุ่งชน

โรงไฟฟ้านิวสเกล มีกำหนดการเริ่มผลิตไฟฟ้าในปี 2029 ส่วนที่เหลืออีกหกโมดูลที่ตั้งอยู่ที่ห้องปฏิบัติการแห่งชาติ ที่รัฐไอดาโฮ จะเริ่มใช้งานในปี 2030 ซึ่งคาดการณ์ว่า โรงไฟฟ้าทั้งหมดจะผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 462 เมกะวัตต์  โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้ จะนำไปขายให้กับบริษัทจำหน่ายไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 40 ปี

ที่มาของข้อมูล newatlas.com

ที่มาของรูปภาพ nuscalepower.com

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง