รีเซต

ภูเขาไฟทั่วโลกพิโรธ-ปะทุเดือด จากกุมเบร์ บิเอฆา ในสเปนที่ยังไม่หยุด ถึงภูเขาไฟในญี่ปุ่นและหมู่เกาะฮาวาย

ภูเขาไฟทั่วโลกพิโรธ-ปะทุเดือด จากกุมเบร์ บิเอฆา ในสเปนที่ยังไม่หยุด ถึงภูเขาไฟในญี่ปุ่นและหมู่เกาะฮาวาย
TNN ช่อง16
21 ตุลาคม 2564 ( 12:36 )
172

นักวิทยาศาสตร์ระบุล่าสุดว่า ลาวาที่ยังคงไหลทะลักไม่หยุด ออกมาจากการระเบิดของภูเขาไฟ “กุมเบร์ บิเอฆา” บนเกาะลาปัลมา หมู่เกาะคะแนรี ของสเปน นานกว่า 1 เดือนแล้วนั้น ถือว่าเป็น “สึนามิลาวาที่แท้จริง” และยังไม่มีแนวโน้มเลยว่าจะหยุดปะทุเมื่อไหร่


การปะทุของภูเขาไฟกุมเบร์ บิเอฆา เข้าสู่วันที่ 32 แล้วในวันนี้ (21 ตุลาคม) นับตั้งแต่ระเบิดครั้งแรกเมื่อ 19 กันยายนที่ผ่านมา


เมื่อวานนี้ (20 ตุลาคม) ตามเวลาท้องถิ่น ประชาชนต้องอพยพทิ้งบ้านเรือนเพิ่มอีก 4 ชุมชน หลังธารลาวาเคลื่อนเข้าใกล้ชุมชนมากขึ้น ก่อนหน้านี้ ประชาชนบนเกาะลา ปัลมา ที่ตั้งของภูเขาไฟลูกนี้ ต้องอพยพแล้ว 7,000 คน


ผู้ประสบภัยบางคนที่อพยพไปก่อนหน้านี้ ได้ย้อนกลับมาขนย้ายเฟอร์นิเจอร์และของใช้ส่วนตัว ขณะที่ธารลาวาเข้าใกล้บ้านมากขึ้น ขณะที่บางคนกลับมาบ้านเพื่อบันทึกความทรงจำให้มากที่สุดก่อนที่บ้านจะถูกทำลายลง


◾◾◾

🔴 การปะทุครั้งสำคัญในรอบ 436 ปี


คอเปอร์นิคัส (Copernicus) กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านภูเขาไฟ ระบุล่าสุดว่า การระเบิดของกุมเบร์ บิเอฆารอบนี้ สำคัญที่สุดในรอบ 436 ปีนับตั้งแต่ปี 1585 เป็นต้นมา และคาดว่าจะไม่ยุติลงในระยะสั้นหรือระยะปานกลาง


คอเปอร์นิคัสรายงานด้วยว่า เกิดแผ่นดินไหวแล้วทั้งหมดกว่า 35,000 ครั้งบนเกาะลาปัลมาในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทั้งก่อนและหลังจากภูเขาไฟระเบิดเมื่อ 19 กันยายน


เดวิด คัลโบ ผู้เชี่ยวชาญสถาบันภูเขาไฟเกาะคะแนรี ระบุว่า ภูเขาไฟ “กุมเบร์ บีเอฆา” ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ประมาณ 10,000 ตันต่อวัน หากจะค่อย ๆ หยุดการปะทุ ควรจะปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ วันละ 400 ตัน หรือน้อยกว่านั้น


ขณะที่ธารลาวาใหม่ อยู่ห่างจากชายฝั่งตะวันตกของเกาะประมาณ 30 เมตร เมื่อไหลลงทะเล ก็จะเกิดกลุ่มก๊าซที่เป็นกรดและเป็นพิษลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าอีก เจ้าหน้าที่จึงออกคำสั่งให้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัย พักอยู่แต่ภายในบ้านอีกครั้ง


◾◾◾

🔴 ภูเขาไฟปะทุ แผ่นดินสะเทือน


เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.8 เมื่อวันอังคาร (19 ตุลาคม) แรงที่สุด นับตั้งแต่ภูเขาไฟปะทุเป็นต้นมา ด้านสถาบันธรณีวิทยาของสเปน รายงานว่า เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กมากกว่า 600 ครั้งบนเกาะลาปัลมาในสัปดาห์ที่แล้ว


ส่วนบ้านเรือนประชาชนที่ถูกความร้อนเดือดของธารลาวาเผาวอด เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2,000 หลัง ธารลาวาร้อนเคลื่อนผ่านกินพื้นที่บนเกาะลาปัลมาแล้วกว่า 5,000 ไร่ เพิ่มขึ้น 137 ไร่ภายในเวลาเพียง 7 ชั่วโมงเมื่อวานนี้ (20 ตุลาคม)


ส่วนธารลาวาที่ไหลลงสู่มหาสมุทรแอ๊ตแลนติกไปแล้วตั้งแต่วันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมานั้น ได้เย็นตัวลงจนกลายเป็นแผ่นดินใหม่ งอกต่อจากตัวเกาะ ยื่นยาวลงไปในมหาสมุทร ขยายขนาดของเกาะลาปัลมาเพิ่มขึ้น 250 ไร่


มีรายงานว่าชาวเกาะลาปัลมาจำนวนหนึ่ง มารวมตัวกัน เพื่อสวดอ้อนวอนให้ภูเขาไฟลูกนี้ยุติการปะทุและทำลายล้างเกาะของพวกเขาโดยเร็ว


เกาะลาปัลมา เป็นหนึ่งในเกาะภูเขาไฟ 8 แห่ง ของหมู่เกาะแคนารี ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติก บริเวณนอกชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา มีประชากรอยู่อาศัยบนเกาะลาปัลมา ประมาณ 85,000 คน รายได้ส่วนใหญ่ของผู้คนที่นี่มาจากการท่องเที่ยว


ภูเขาไฟกุมเบร์ บิเอฆา เคยปะทุยาวนานที่สุด เมื่อกว่า 400 ปีก่อน ในปี 1585 ครั้งนั้นกินเวลานาน 84 วัน


ส่วนการปะทุสั้นที่สุด เกิดขึ้น ในปี 1971 จากปากปล่อง "เตเนเกีย" ของภูเขาไฟลูกดังกล่าว กินเวลา 25 วัน


◾◾◾

🔴 ภูเขาไฟคิลาเวในฮาวาย


ส่วนภูเขาไฟอีกลูกที่ปะทุพ่นลาวาติดต่อกันมา 3 สัปดาห์แล้ว คือ ภูเขาไฟ 'คิลาเว' ในหมู่เกาะฮาวาย ของสหรัฐฯ หลังจากปะทุครั้งแรกในรอบ 1 ปี


สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ เผยแพร่คลิปวิดีโอภูเขาไฟพ่นลาวาเมื่อเร็วๆ นี้ หลังบันทึกภาพไว้เมื่อ 12 ตุลาคม เป็นภาพที่ลาวาไหลออกจากรอยแยกทางตะวันตกของปากปล่องภูเขาไฟ "คิลาเว”


สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐ ระบุด้วยว่า ภูเขาไฟ ”คิลาเว” ยังคงพ่นก๊าซ และเกิดการสั่นสะเทือนที่บริเวณยอดเขาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะนี้เจ้าหน้าที่หอสังเกตการณ์ภูเขาไฟฮาวาย ได้ติดตั้งอุปกรณ์พิเศษ เฝ้าติดตามการปะทุของภูเขาไฟอย่างใกล้ชิด


อย่างไรก็ตาม ลาวาที่ไหลออกมายังไม่เป็นภัยคุกคามต่อเขตชุมชน แต่มีการเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณทิศทางลมของภูเขาไฟให้ระวังซัลเฟอร์ ไดออกไซด์ และแก๊สภูเขาไฟ ที่อาจสร้างความระคายเคืองแก่ระบบทางเดินหายใจได้


ภูเขาไฟ ”คิลาเว” 1 ใน 5 ภูเขาไฟ ที่ยังมีพลังมากที่สุดบนหมู่เกาะฮาวาย กลับมาปะทุหนัก พ่นลาวาและเถ้าถ่านอีกครั้ง หลังเคยปะทุครั้งใหญ่ เมื่อปี 2018 พ่นควันและเถ้าถ่านยาวนานติดต่อหลายเดือน จนทำให้บ้านเรือนประชาชนพังเสียหายจำนวนมาก


◾◾◾

🔴 ภูเขาไฟอาโสะในญี่ปุ่น


ส่วนภูเขาไฟ “อาโสะ” ในญี่ปุ่น ปะทุขึ้นเมื่อช่วงเช้าวานนี้ (20 ตุลาคม) พ่นเถ้าถ่านสูง 3.5 กิโลเมตรสูงขึ้นไปบนท้องฟ้า แต่ไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต หรือเกิดความเสียหายรุนแรงในบริเวณภูเขาไฟดังกล่าว ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม


ตำรวจท้องที่เปิดเผยว่า จนถึงเย็นวานนี้ ก็ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือสูญหาย และ ประชาชน 16 คนที่ไปเดินป่าบนภูเขา เมื่อช่วงเช้าวานนี้ก็กลับมาโดยสวัสดิภาพแล้ว


ทั้งนี้ภูเขาไฟอาโสะมีความสูง 1,595 เมตร อยู่ในจังหวัดคุมาโมโตะ บนเกาะกิวชู เกาะหลักทางใต้ของญี่ปุ่น


กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ประกาศเตือนภัยภูเขาไฟที่ระดับ 3 จากทั้งหมด 5 ระดับ ห้ามประชาชนเข้าใกล้และระวังอันตรายจากภูเขาไฟ ที่อาจพ่น “บล็อกภูเขาไฟ” หรือชิ้นส่วนภูเขาไฟที่มีลักษณะเป็นเหลี่ยมคล้ายบล็อก และชิ้นส่วนภูเขาไฟที่ร้อนจัด กระจายไปในรัศมีประมาณ 1 กิโลเมตรจากปากปล่องนากาดาเกะของภูเขาไฟลูกนี้ พร้อมกับเตือนว่าอาจพบเถ้าภูเขาไฟได้ในหลายเมืองใกล้เคียง


ภูเขาไฟอาโสะ เคยปะทุเล็กน้อยในปี 2019 ขณะที่ภัยพิบัติภูเขาไฟครั้งรุนแรงที่สุดของญี่ปุ่น ในรอบเกือบ 90 ปี เกิดขึ้นในปี 2014 เมื่อ ภูเขาไฟออนตาเกะเกิดระเบิดคร้ังใหญ่ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 63 คน


ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ภูเขาไฟคุกรุ่นมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก เพราะตั้งอยู่บนแนว “วงแหวนแห่งไฟ” แปซิฟิก ที่เกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดบ่อยครั้ง

—————

เรื่อง: เสาวณีย์ พิสิฐานุสรณ์ และ สุภาพร เอ็ลเดรจ

ภาพ: Jasmin Sessler

ข่าวที่เกี่ยวข้อง