รีเซต

วัดประสิทธิภาพยาโควิด-19 ความร่วมมือวิจัยระดับโลก

วัดประสิทธิภาพยาโควิด-19 ความร่วมมือวิจัยระดับโลก
TNN Health
24 พฤศจิกายน 2564 ( 15:46 )
105
วัดประสิทธิภาพยาโควิด-19 ความร่วมมือวิจัยระดับโลก

คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับหน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล-อ๊อกฟอร์ดโดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ได้รับคัดเลือกให้ดำเนินการวิจัยเพื่อเปรียบเทียบ ประสิทธิภาพยารักษาโรคโควิด-19 ชนิดต่าง ๆ ภายใต้โครงการวิจัยนานาชาติหลายสถาบัน ประกอบด้วย โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน โรงพยาบาลวชิรพยาบาล และโรงพยาบาลบางพลี


ชื่อโครงการ: “การศึกษาวิจัยทางคลินิกแบบการศึกษาระยะที่ ๒ ในหลายศูนย์วิจัย เพื่อค้นหายาที่ใช้ในการรักษาโรคโควิด-19: การศึกษาเพื่อประเมินประสิทธิภาพของยาในการเปลี่ยนแปลงปริมาณไวรัสในคนไข้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่อาการไม่รุนแรง การศึกษาในรูปที่สามารถปรับรูปแบบและขั้นตอนในการดำเนินการวิจัยแบบเป็นระบบในระหว่างการทำการวิจัย”


โครงการได้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน และจากคณะกรรมการกลางพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคน การดำเนินการวิจัยทำตามหลักมาตรฐานสากล ต้องมีผู้ตรวจสอบภายนอกและต้องมีการรับรองขั้นตอนระหว่างการทำวิจัย


รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วีระพงษ์ ภูมิรัตนประพิณ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เป็นโครงการศึกษาวิจัยโดยการรักษาโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ ต้องการข้อมูลชัดเจนในการเลือกใช้ยารักษา ซึ่งปัจจุบันยังมีข้อมูลยาไม่กี่ชนิดว่าสามารถใช้ยารักษาได้ และยังไม่มีการศึกษาประสิทธิภาพยาหลายชนิดในการศึกษาเดียวกันมาก่อน การศึกษานี้มีขึ้นเพื่อประเมินและเปรียบเทียบยาที่ใช้ในการรักษาโควิด-19 แต่ละชนิด โดยประเมินอัตราการหายป่วยทางคลินิกและอัตราการลดลงของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่ทำให้เกิดโควิด – 19


โดยแบ่งการศึกษาเป็นแบบกลุ่มโดยวิธีสุ่ม อาสาสมัครจะได้ยาที่แตกต่างกัน โครงการนี้เปิดรับอาสาสมัครทั่วโลกประมาณ 750 คน โดยเครือข่ายในประเทศไทยจะรับอาสาสมัครประมาณ 200 คน และขอบคุณหน่วยงานที่ได้เข้าร่วมการศึกษาแบบพหุสถาบัน ประกอบด้วยคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลวชิรพยาบาล คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และ โรงพยาบาลบางพลี กระทรวงสาธารณสุข และขอบคุณผู้สนับสนุนการศึกษาทั้งในภาครัฐ ภาคเอกขน และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยหวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะหยุดยั้งการระบาดของโรคโควิด - 19 ได้”


ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิโคลัส ไวท์ (Professor Sir Nicholas John White) หน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล - อ๊อกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า “งานวิจัยในครั้งนี้ทำขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก โดยยังไม่มีใครเคยทำการศึกษาวิจัยในลักษณะนี้มาก่อน ซึ่งการตรวจวัดประสิทธิภาพของยาในการลดจำนวนหรือต้านไวรัสเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะถ้าเราไม่มีวิธีการตรวจวัดประสิทธิภาพของยาในการต้านไวรัส เราจะไม่สามารถนำยามาเทียบกันได้ โดยปกติแล้วการวิจัยในรูปแบบอื่นจะใช้ยาเพียงชนิดเดียว ไม่ได้มีการนำยาหลายชนิดมาใช้ในการศึกษาวิจัยเดียวกัน แต่ด้วยเทคนิคที่มีจะทำให้สามารถวัดปริมาณไวรัสในทุกวันของการใช้ยาได้ เป็นการพิสูจน์ว่ายาตัวไหนจะมีประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษาโรคโควิด-19”


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์วิโรจน์ รักษากุล รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า “โครงการนี้เป็นความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ซึ่งในช่วงตลอดการระบาดของโรคโควิด-19 คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ได้ดูแลรักษาผู้ป่วยจำนวนมาก รวมถึงมีนวัตกรรมหลายชิ้นงานออกสู่ระบบสาธารณสุขของประเทศไทย โดยงานวิจัยนี้เป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญที่ได้ร่วมดำเนินการเพื่อนำมาซึ่งความสำเร็จในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ของประเทศไทย”


นายแพทย์สมศักดิ์ ใช้ทรัพย์สถาพร รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลบางพลี กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “ต้องขอบคุณทีมวิจัยที่ได้ติดต่อโรงพยาบาลบางพลีให้มามีส่วนร่วมในการศึกษาวิจัยการใช้ยาต้านโควิด-19 โรงพยาบาลพลีในนามตัวแทนของกระทรวงสาธารณสุข หวังว่าเราจะช่วยในการศึกษาวิจัยในครั้งนี้เพื่อนำการศึกษามาใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงการดูแลคนไข้โควิด-19 ให้ดีขึ้น และสามารถนำข้อมูลมาใช้ในกระทรวงสาธารณสุขเพื่อดูแลผู้ป่วยในทุกระดับต่อไป”


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงวีรวรรณ ลุวีระ ภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “การศึกษาวิจัยทางคลินิกแบบการศึกษาระยะที่ 2 ในหลายศูนย์วิจัย เพื่อค้นหายาที่ใช้ในการรักษาโรคโควิด–19 เป็นการศึกษาเพื่อประเมินประสิทธิภาพของยาในการเปลี่ยนแปลงปริมาณไวรัสในคนไข้ที่ติดเชื้อไวรัสในผู้ที่อาการไม่รุนแรง เพื่อศึกษายาต้านไวรัสที่เข้าถึงได้ ที่สามารถลดจำนวนเชื้อไวรัสในสัปดาห์ที่ 1 ของการติดเชื้อ นำไปสู่การลดความรุนแรงของโรคได้ ยาต้านไวรัสที่ใช้ในการศึกษาวิจัยในอาสาสมัคร เป็นยามาตรฐานที่มีอยู่เดิมสำหรับการรักษาโรคโควิด-19 หรือโรคอื่น ๆ จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ ยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี (รีเจนเนอรอน) เรมเดซิเวียร์ ฟาวิพิราเวียร์ และไอเวอร์เมคติน”

 

ติดตาม TNN Health ได้ที่นี่ FB https://www.facebook.com/TNNHealth

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง