รีเซต

โรคงูสวัด อันตรายมากแค่ไหน? สาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดความเสี่ยง!

โรคงูสวัด อันตรายมากแค่ไหน? สาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดความเสี่ยง!
TNN ช่อง16
11 มิถุนายน 2565 ( 13:55 )
141
โรคงูสวัด อันตรายมากแค่ไหน? สาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดความเสี่ยง!

กำลังเป็นเรื่องที่หลายๆ คนกำลังให้ความสนใจกันเป็นจำนวนมาก เมื่อศิลปินชื่อดังระดับโลก จัสติน บีเบอร์ (Justin Bieber) ต้องยกเลิกกำหนดการแสดงคอนเสิร์ตหลายแห่ง เนื่องจากมีอาการป่วยกะทันหันจากการติดเชื้อไวรัสที่ส่งผลให้เกิดอาการอัมพาตที่ใบหน้าครึ่งซีก 

จัสติน บีเบอร์ (Justin Bieber) ได้โพสต์คลิปวิดีโอผ่านทางอินสตาแกรม ระบุว่า ได้รับการวินัจฉัยว่าเป็น "โรครัมเซย์ฮันต์ ซินโดรม" (Ramsay Hunt Syndrome) หลังจากตนติดเชื้อไวรัสที่สร้างความเสียหายให้กับระบบประสาทหูและระบบประสาทใบหน้าโดยอาการค่อนข้างรุนแรง

ซึ่งส่งผลให้ใบหน้าซีกขวาไปจนถึงบริเวณกกหูนั้นเป็นอัมพาตขยับไม่ได้ตามปกติ พร้อมกับขยับใบหน้าซีกซ้ายแต่ละส่วนทั้งดวงตา จมูกและริมฝีปากเปรียบเทียบให้เห็นว่าฝั่งที่มีปัญหาขยับไม่ได้เลยอย่างที่เห็น และนี่ก็เป็นสาเหตุให้ไม่สามารถขึ้นโชว์ได้

ทางด้านสื่อต่างประเทศรายงานว่า โรครัมเซย์ฮันต์ ซินโดรม (Ramsay Hunt Syndrome)  เป็นโรคหายาก เกิดจากเชื้อไวรัสเข้าไปในเส้นประสาทสมอง จนทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ปวดหู ความสามารถในการได้ยินเสียงลดลง เวียนหัว บ้านหมุน เกิดตุ่มน้ำในหู เสียการรับรู้รสชาติ รวมถึงใบหน้าซีกใดซีกหนึ่งเป็นอัมพาตขยับไม่ได้ โดยเป็นภาวะแทรกซ้อนจากงูสวัด ที่หลายคนมักจะเป็นในช่วงที่พักผ่อนน้อยหรือภูมิคุ้มกันต่ำ การรักษาต้องใช้ยาต้านไวรัสและจำเป็นต้องรีบรักษาให้เร็วที่สุด 

พักผ่อนน้อยเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคงูสวัดได้

ทางด้านกรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนังชี้การพักผ่อนน้อย ทำให้ร่างกายอ่อนแอ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคงูสวัดได้ โดยโรคงูสวัดเป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสพร้อมแนะหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆที่เป็นสาเหตุ 

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคงูสวัด เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ที่เรียกว่า ไวรัสวาริเซลลา (varicella virus) ซึ่งเป็นเชื้อเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคสุกใส และเป็นไวรัสที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับไวรัสเริม 

โดยที่ผู้ป่วยเมื่อเป็นโรคสุกใสแล้ว เมื่อหายจากโรค เชื้อไวรัสจะเข้าไปซ่อนในปมประสาท และจะถูกกระตุ้นเมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ หรือภูมิคุ้มกันต่ำลง เช่น ร่างกายอ่อนเพลีย มีความเครียด การนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ กลุ่มผู้สูงอายุและ ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ป่วยที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้ยาเคมีบำบัด ซึ่งทำให้อาการของโรคกำเริบเกิดเป็นโรคงูสวัดได้

อาการโรคงูสวัด

พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการแสดงเบื้องต้นคือ ปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนัง ต่อมาจะมีผื่นแดงตามด้วยตุ่มน้ำในลักษณะเป็นกลุ่มเรียงตัวตามแนวเส้นประสาท โดยที่ตุ่มน้ำสามารถกลายเป็นตุ่มหนองและแตกเป็นแผล หรือเป็นสะเก็ดตามมาได้ หลังจากอาการทางผิวหนังหายแล้ว อาจมีอาการปวดเรื้อรังในผู้ป่วยบางราย รวมถึงอาจมีแผลเป็นตามหลังได้

การรักษาอาการโรคงูสวัด

ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ให้ความเห็นว่าการรักษาตามอาการและการรักษาร่วมกับการใช้ยาต้านไวรัสเพื่อช่วยให้การหายของโรคเร็วขึ้น และให้ยาแก้ปวดปลายเส้นประสาท เพื่อป้องกันและลดความทุกข์ทรมานจากโรคงูสวัด ส่วนวิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ รวมไปถึงการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ด้วยการดูแลสุขภาพ ลดความเครียด และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อลดโอกาสของการเกิดโรคงูสวัดได้


ภาพจาก  กรมการแพทย์

 



ข้อมูลจาก  กรมการแพทย์

ภาพจาก  กรมการแพทย์ / AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง