รีเซต

เปิดสถิติย้อนหลัง 5 ปี ขยะกระทง กทม. ปี 2566 พุ่งกว่า 6 แสนใบ จับตาปี 2567

เปิดสถิติย้อนหลัง 5 ปี ขยะกระทง กทม. ปี 2566 พุ่งกว่า 6 แสนใบ จับตาปี 2567
TNN ช่อง16
12 พฤศจิกายน 2567 ( 20:54 )
24

ประเพณีลอยกระทง ตามความเชื่อที่ว่าเป็นการขอบคุณพระแม่คงคา ที่ให้น้ำไว้ใช้ในการเกษตรและประโยชน์อื่น ๆ ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการขอขมาที่ได้ปล่อยของเสียลงไปในน้ำเดิมที่รูปแบบการทำกระทงนิยมทำด้วยใบตอง ใบพลับพลึง กาบมะพร้าว วัสดุธรรมชาติ แต่ปัจจุบันมีการดัดแปลงกระทงโดยใช้วัสดุต่าง ๆ และด้วยปริมาณกระทงมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดขยะตกค้าง ขัดขวางการระบายน้ำ และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้


กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เผยสถิติขยะกระทง โดยอ้างอิงข้อมูลกรุงเทพมหานคร พบว่า จำนวนกระทงที่เก็บได้ในปี 2566 มีจำนวน 639,828 ใบ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่จัดเก็บได้ 572,602 ใบ เพิ่มขึ้นจำนวน 67,226 ใบ คิดเป็นร้อยละ 11.74 โดยประเภทที่จัดเก็บได้ทำจากวัสดุธรรมชาติ 548,086 ใบ หรือร้อยละ 96.74 และทำจากโฟม 24,516 ใบ หรือร้อยละ 3.26


ทั้งนี้ สถิติจำนวนการจัดเก็บขยะกระทงของกรุงเทพมหานคร 5 ปีย้อนหลัง ดังนี้


ปี 2566 จัดเก็บได้ 639,828 ใบ จากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายง่าย 96.74 % จากโฟม 3.26 %

ปี 2565 จัดเก็บได้ 572,602 ใบ จากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายง่าย 95.70 % จากโฟม 4.30 %

ปี 2564 จัดเก็บได้ 403,235 ใบ ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายง่าย 96.46% จากโฟม 3.54%

ปี 2563 จัดเก็บได้ 492,537 ใบ ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายง่าย 96.4% จากโฟม 3.6%

ปี 2562 จัดเก็บได้ 502,024 ใบ ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายง่าย 96.3% จากโฟม 3.7%



ขยะกระทงที่จัดเก็บได้ จะถูกนำมาดำเนินการคัดแยก จากนั้นกรุงเทพมหานครจะได้นำกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติส่งเข้าโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชและศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ส่วนกระทงโฟมจะนำไปกำจัดโดยการฝังกลบอย่างถูกวิธีที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช สายไหม และหนองแขม หรือเผาเพื่อผลิตไฟฟ้าที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขมต่อไป


สำหรับประเพณีลอยกระทงในปี พ.ศ. 2567 นี้ ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการลดขยะจากกระทง โดยมีแนวทางดังนี้ 


1. กระทงเดียว ลอยร่วมกัน เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด 

2. ใช้กระทงขนาดเล็ก ตกแต่งพอประมาณ 

3. เลือกใช้วัสดุธรรมชาติ 100 % ย่อยสลายได้ง่าย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้วัสดุประเภทเดียวกันทั้งกระทง 

4. งดการใช้วัสดุพลาสติกและโฟม งดการใช้ลวด ตะปู 

5. หลีกเลี่ยงการใช้วัสดุที่ย่อยสลายยากหรืออาจส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำได้ เช่น กระดาษใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 2-5 เดือน ส่วนพวกแป้งและขนมปัง แม้ย่อยสลายเร็วแต่หากแหล่งน้ำไม่มีปลาหรือมีไม่มากพอที่จะกินขนมปังจนหมด อาจทําให้แหล่งน้ำเน่าเสียได้ 

6. ลอยกระทงในสถานที่ที่ทางการจัดเตรียมไว้

7. ลอยกระทงออนไลน์ โดยเลือกร่วมกิจกรรมกับแพลตฟอร์ม เว็บไซต์ที่เชื่อถือได้ ไม่ร่วมกิจกรรมผ่านลิงก์ที่แนบมากับข้อความเอสเอ็มเอส อีเมล หรือ ส่งผ่านทางไลน์ ที่ให้กรอกข้อมูลส่วนตัว หรือ สแกนใบหน้า เพราะนั่นอาจเป็นลิงก์ หรือ เว็บไซต์ มิจฉาชีพได้


ข้อมูลและภาพ : กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง