รีเซต

'เอสเอ็มอี' ร้อง-ยังเข้าไม่ถึงแหล่งทุน วอน 'บสย.-แบงก์' ช่วยต่อลมหายใจ

'เอสเอ็มอี' ร้อง-ยังเข้าไม่ถึงแหล่งทุน วอน 'บสย.-แบงก์' ช่วยต่อลมหายใจ
มติชน
21 กันยายน 2563 ( 09:04 )
50
'เอสเอ็มอี' ร้อง-ยังเข้าไม่ถึงแหล่งทุน วอน 'บสย.-แบงก์' ช่วยต่อลมหายใจ

เมื่อวันที่ 21 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหากลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน แม้ว่ารัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ พยายามหาทางช่วยเหลือแล้วก็ตาม น.ส.โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยเมื่อวันที่ 20 กันยายนว่า มาตรการที่รัฐบาลออกมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในส่วนของมาตรการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟโลน) วงเงิน 5 แสนล้านบาท รายที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ ปัจจุบันก็ยังไม่สามารถเข้าถึงได้เช่นเดิม เพราะด้วยเงื่อนไขที่กำหนดทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กยังติดปัญหาในเรื่องนี้อยู่ มองว่าต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ได้แต่หวังว่าโครงการค้ำประกันสินเชื่อซอฟโลน พลัส วงเงิน 57,000 ล้านบาท ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะเข้ามาช่วยต่อลมหายใจให้กับผู้ประกอบการฯ อีกทางหนึ่งด้วย

 

“นอกจากนี้อยากเสนอให้ธนาคารช่วยรวบรวมหนี้สินของผู้ประกอบการให้เป็นก้อนเดียว ก่อนหน้านี้ทางสมาพันธ์ได้เสนอเรื่องนี้ไปยังภาครัฐแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า จึงได้เข้าไปคุยกับธนาคารถึงเรื่องการรวมหนี้แล้ว แต่ธนาคารสามารถรวมหนี้ที่มีอยู่ในธนาคารของตนให้เป็นก้อนเดียวกันได้เท่านั้น ยังไม่สามารถนำหนี้จากต่างธนาคารมารวมเป็นก้อนเดียวกัน จึงอยากเสนอเรื่องนี้ให้รัฐพิจารณาช่วยเหลืออีกครั้ง ส่วนเมื่อรวมหนี้ได้แล้วค่อยมาร่วมกันหาวิธีชำระดอกเบี้ยร่วมกันอีกครั้ง ข้อเสนอนี้เพื่อต้องการให้ลูกหนี้ชำระเงินในที่เดียว และลดการบานปลายของจำนวนดอกเบี้ยต้องเสียให้น้อยลงอีกด้วย” น.ส.โชนรังสี กล่าว

 

น.ส.โชนรังสี กล่าวว่า ส่วนมาตรการอื่นๆ ที่รัฐบาลเตรียมออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ ล่าสุดที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 (ศบศ.) มีมติเห็นชอบข้อเสนอของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนอให้กระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันและการค้า กำหนดเงื่อนไขระยะเวลาการชำระสินเชื่อการค้าในประเทศไทย (เครดิตเทอม) ให้อยู่ในระดับมาตรฐานที่เหมาะสม 30-45 วัน เชื่อว่าข้อเสนอนี้เป็นวิธีที่เหมาะกับสถานการร์เศรษฐกิจปัจจุบัน รวมถึงได้ช่วยให้ผู้ประกอบการไม่ต้องนำเงินไปจมอยู่ในที่เดียวอีกด้วย

 

น.ส.โชนรังสี กล่าวว่า ส่วนโครงการคนละครึ่งกำลังจะออกมานั้น เป็นโครงการที่ดีมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลายรายสนใจเข้าร่วมโครงการนี้ แต่ต้องติดตามดูเงื่อนไขการเข้าร่วมให้ชัดเจนก่อนว่าจะเอื้อประโยชน์ต่อรายเล็กต็ม 100% หรือไม่ แต่เชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยเติมเงินเข้าผู้ประกอบการรายเล็ก อาทิ ร้านขายของชำ หาบเร่ แผงลอย ได้อย่างแน่นอน รวมทั้งจะช่วยให้ประชาชนฐานรากได้มีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ส่วนอีกหนึ่งโครงการที่ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม และธุรกิจบริการที่เป็นเอสเอ็มอี และอยู่ที่พื้นที่ที่โดยรอบกรุงเทพฯได้รับอนิสงส์ไปด้วยคือ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมารวมทั้งวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ มียอดจองที่พักเต็มเกือบทุกแห่งทำให้ธุรกิจกลับมามีเงินหมุนเวียนอีกครั้ง

 

น.ส.โชนรังสี กล่าวว่า นอกจากนี้ ทางสมาพันธ์ฯเสนอเรื่องการจัดตั้งกองทุนสำหรับช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และมีความเสี่ยงมีหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) พร้อมเงื่อนไขที่ช่วยผ่อนปรนให้เอสเอ็มอีกลุ่มนี้ ให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น โดยให้บสย.เข้ามาค้ำวงเงินกู้ให้กับกลุ่มเอสเอ็มอี เพื่อนำเงินไปประคับประคองธุรกิจต่อลมหายใจให้กับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศได้ผ่านช่วงที่ยากลำบากนี้ไปได้ พร้อมเสนอให้ภาครัฐลดค่าใช้จ่ายของเอสเอ็มอีด้วยระบบภาษี หรือการจัดเก็บของภาครัฐทั้งหมด ทั้งด้านสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายในการต่ออายุต่างๆ รวมถึงให้ผ่อนชำระภาษีนิติบุคคล ช่วงปี 2564-2565 หรือยกเว้นการจ่ายภาษีในระยะเวลา 3 ปี เพราะเมื่อสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องลงทุนปรับปรุงฟื้นฟูกิจการเพื่อให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในยุคนิวนอร์มอล หากยังต้องจ่ายภาษีจะเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับกลุ่มเอสเอ็มอี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง