รีเซต

พณ.ถกผู้ส่งออก เล็งใช้ 'รหัสตรวจสอบย้อนกลับ' ยืนยันกะทิไทยไม่ได้ผลิตจาก 'ลิงเก็บมะพร้าว'

พณ.ถกผู้ส่งออก เล็งใช้ 'รหัสตรวจสอบย้อนกลับ' ยืนยันกะทิไทยไม่ได้ผลิตจาก 'ลิงเก็บมะพร้าว'
มติชน
8 กรกฎาคม 2563 ( 19:19 )
100

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ที่กระทรวงพาณิชย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุมแนวทางการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมมะพร้าวของไทย หลังจากที่ห้างในประเทศอังกฤษถอดสินค้ากะทิไทยออกจากชั้นวาง โดยระบุว่าใช้ลิงกังในการเก็บมะพร้าวและมองว่าเป็นการทารุณสัตว์ ซึ่งในการประชุมจะมีตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสมาคมด้านพิทักษ์สัตว์ ซึ่งใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง ว่า ผลหารือได้ข้อสรุป 3 ประเด็นคือ 1.โรงงานผลิตให้ข้อมูลและยืนยันใช้มาตรการตรวจสอบย้อนกลับให้ชัดเจนถึงขั้นตอนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยมีการติดรหัสบนหีบห่อผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าผลิตจากมะพร้าวสวนใดและไม่มีการใช้แรงงานลิงหรือทารุณสัตว์ 2.สั่งการให้กรมการค้าระหว่างประเทศ เชิญเอกอัคราชการทูตอังกฤษและประเทศที่นำเข้ากะทิไทยที่ประจำอยู่ในประเทศไทย และสื่อต่างชาติประจำในประเทศไทย ร่วมตรวจสอบพื้นที่ปลูกมะพร้าวและโรงงานผลิต โดยอยู่ระหว่างการประสานงานและมีกำหนดจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด จากนั้นหลังจากเปิดให้ต่างชาติเข้าไทยหลังโควิด-19 คลี่คลายก็จะเปิดให้ผู้นำเข้าสินค้าไทยและองค์กรต่างๆเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง และ3.สั่งการให้ทีมไทยแลนด์และทูตพาณิชย์ในต่างประเทศเร่งชี้แจงและทำความเข้าใจยืนยันตามข้อเท็จจริง รวมถึงให้นัดเจรจาระหว่างเอกชนผู้นำเข้าและผู้ส่งออกไทย เพื่อให้เกิดความเข้าใจและซื้อขายได้ตามปกติ ทั้งนี้ ไทยมีการส่งออกผลิตภันณฑ์จากมะพร้าวและกะทิปี 2562 มูลค่าประมาณ 12,360 ล้านบาท ในส่วนนี้เป็นส่งออกไปอังกฤษ 1,000 ล้านบาท

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทวงพาณิชย์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่มาตรการที่รัฐบาลประเทศนำเข้าใช้ เป็นเรื่องของเอกชนต่อเอกชน ดังนั้นไม่ถือว่าเป็นการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า

นายเกียรติศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการบริหารและผู้จัดการโรงงานชาวเกาะ บริษัทเทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด ผู้ผลิตแบรนด์กะทิชาวเกาะ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทได้เข้าหารือกับชาวสวนที่บริษัทได้สั่งซื้อมะพร้าวและจะลงพื้นที่ตรวจสวนก่อนส่งวัตถุดิบเข้าโรงงานว่าได้ปฎิบัติตามที่ได้ทำข้อตกลง(เอ็มโอยู)ที่บริษัทจะซื้อวัตถุดิบมะพร้าวที่ไม่ใช้แรงงานลิง ซึ่งได้รับการยืนยันจากทุกสวนว่าไม่ได้ใช้แรงงานลิง ทั้งนี้ ได้มีการตรวสอบโรงงานที่มีอยู่ 15 แห่งในไทย ซึ่งในจำนวนนี้ 9 โรงงานเป็นสมาชิกของสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป หรือเป็นสัดส่วน 90% ของตลาดรวมไทย มีการยืนยันใช้วัตถุดิบมะพร้าวที่ไม่ได้ใช้แรงงานลิง ส่วนที่เหลือก็พบว่าตื่นตัวและยืนยันไม่ได้ใช้วัตถุดิบจากแรงงานลิง

“เราเชื่อว่าตอนนี้ไม่มีโรงงานใดที่ซื้อวัตถุดิบมะพร้าวจากแรงงานลิง โดยหวังให้กระทรวงพาณิชย์เร่งชี้แจงทำความเข้าใจกับนานาประเทศ เพื่อให้สินค้าวางขายได้เหมือนเดิม โดยไม่แค่ทำความเข้าใจกับอังกฤษเท่านั้น รวมถึงประเทศนำเข้าอื่นๆในเรื่องรุกด้วย เช่น สหรัฐ จีน เพราะไม่ต้องการให้เป็นประเด็นลุกลามไปถึงประเทศอื่นๆ อาจทำให้เสียตลาดให้คู่แข่งในประเทศอื่นได้หากเราล่าช้า โดยปัจจุบันไทยถือว่าเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากกะทิรายใหญ่ของโลก เฉพาะในอังกฤษกะทิ-มะพร้าวจากไทยทุกยี่ห้อมีส่วนแบ่งตลาดมากสุดถึง 80% เรื่องนี้เคยเป็นกระแสมาแล้วในสหรัฐฯ แต่ก็มีการทำคลิปและชี้แจง ผู้นำเข้าก็เข้าใจและไม่มีปัญหาถึงวันนี้ ครั้งนี้ก็เช่นกัน“

นายเกียรติศักดิ์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวยังไม่อาจประเมินได้ว่าเสียหายเท่าไหร่ ซึ่งในขณะนี้การส่งออกก็เจอปัญหาโควิด-19 ทำให้ครึ่งปีแรกทำยอดขายใกล้เคียงปีก่อน และหวังว่าครึ่งหลังจะยังพยุงได้ โดยต่อปียอดขาย 6,000 ล้านบาท จากผลิตภัณฑ์กะทิ มะพร้าว และเครื่องปรุงรส

นางศศิวรรณ นวลศรี ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาดอาวุโส บริษัทไทย อกริ ฟู๊ด จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตยี่ห้ออร่อยดี กล่าวว่า กะทิไทยในต่างประเทศ แยกเป็น 2 ส่วนคือการวางขายในห้างซึ่งในอังกฤษก็ถอดสินค้าชั่วคราวก็หวังรัฐเร่งชี้แจงก็น่าจะนำไปวางขายได้ตามปกติต่อไป ส่วนยอดขายตามร้นอาหารและชาวเอเชียยังถือว่าปกติ ทั้งนี้ บริษัทยืนยันไม่มีการใช้วัตถุดิบที่ใช้แรงงานลิงแน่นอน และมีการทำข้อสัญญากับทุกสวน รวมถึงวัตถุดิบจากต่างประเทศด้วย และการติดรหัสเพื่อตรวจสอบย้อนกลับ เชื่อว่าจะเป็นการแก้ปัญหาและสร้างความเชื่อมั่นสินค้าไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง