รีเซต

ไทยครองอันดับ 9 ดัชนีนวัตกรรมโลก เจ้าของอนุสิทธิบัตรมากสุด 'จุรินทร์' ปราศรัยชู 7 เรื่องยกระดับบริการ

ไทยครองอันดับ 9 ดัชนีนวัตกรรมโลก เจ้าของอนุสิทธิบัตรมากสุด 'จุรินทร์' ปราศรัยชู 7 เรื่องยกระดับบริการ
มติชน
21 กันยายน 2564 ( 10:28 )
61

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามเวลาท้องถิ่นของนครเจนีวา 13.30 น. ของ 20 กันยายน 2564 และตรงกับเวลาประมาณ 9.00 น.ในประเทศไทย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้แทนรัฐบาลไทย ร่วมกล่าวปราศรัยในงานเปิดตัวรายงานดัชนีนวัตกรรมโลก Global Innovation Index (GII 2021) ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO)

 

 

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ขอบคุณองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ที่ให้เกียรติเชิญประเทศไทยเป็นตัวแทนกล่าวปราศรัยในงานเปิดตัวรายงานดัชนีนวัตกรรมโลก Global Innovation Index หรือ GII ประจำปี พ.ศ. 2564 ซึ่ง การจัดทำดัชนีนวัตกรรมระดับโลก ถือเป็นตัวชี้วัดที่สะท้อนให้เห็นถึงผลผลิตด้านความรู้ เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ การวิจัยและพัฒนาของ แต่ละประเทศทั่วโลก โดยมีทรัพย์สินทางปัญญาเป็นปัจจัยชี้วัดความสามารถด้านนวัตกรรม ประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการนำทรัพย์สินทางปัญญามาใช้ในการขับเคลื่อน เศรษฐกิจและยกระดับการพัฒนาประเทศ เพื่อก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง โดยได้ดำเนินการส่งเสริมการสร้างสรรค์ การใช้ประโยชน์ การให้ความคุ้มครอง และการบังคับใช้สิทธิ ให้กับนักคิด นักประดิษฐ์ และผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภารกิจที่สำคัญ อีกประการหนึ่ง ในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ และส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน คือ การส่งเสริมและคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของชุมชนท้องถิ่น

 

 

นายจุรินทร์ กล่าวว่า จากนโยบายข้างต้น กระทรวงพาณิชย์ ได้พัฒนาระบบการให้บริการด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่สำคัญ ดังนี้ 1.การเร่งรัดการขึ้นทะเบียนสินค้า GI จนครบทั้ง 77 จังหวัด 2. นำระบบจดทะเบียนออนไลน์ (e-Filing) มาใช้กับทุกงานบริการ 3.ออกหนังสือสำคัญสิทธิบัตรการประดิษฐ์และอนุสิทธิบัตรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Certificate) 4.จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแบบ Fast Track จากเดิม 12 เดือน เหลือเพียง 6 เดือน

 

 

5.ลดระยะเวลาการต่ออายุเครื่องหมายการค้าจากเดิม 60 วัน เหลือ 60 นาที6. ลดระยะเวลาการจดแจ้งลิขสิทธิ์ จาก 30 วัน เหลือเพียง 3 วัน 7.ให้บริการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทออนไลน์ (Online Dispute Resolution : ODR)8. จัดทำบริการแจ้งเตือนข้อมูลด้านสิทธิบัตรที่ใกล้หมดอายุ เพื่อผู้ผลิตยาไทยจะได้เตรียมการผลิตยาทิ่หมดสิทธิบัตรแล้วเป็นการล่วงหน้าได้

 

 

“ขอแสดงความขอบคุณต่อองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกและผู้ร่วมเผยแพร่ที่ได้ทำงานอย่างหนักในการจัดทำรายงาน GII พ.ศ. 2564 และกระตุ้นให้โลกเห็นความสำคัญของนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา ประเทศไทยยืนยันความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าพัฒนาประเทศ ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” นายจุรินทร์ กล่าว

 

 

นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก รายงานจากนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ว่า VDO การปราศรัยของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จากประเทศไทย ถูกฉายในรอบ Head of State ที่มีประธานาธิบดีของโคลอมเบีย และนายกรัฐมนตรีของเคปเวิร์ด กล่าวเป็น 2 ท่านแรก ตามด้วยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จากประเทศไทย จากนั้นตามด้วยรัฐมนตรีของประเทศอื่น อาทิ จีน อินเดีย ตุรกี เกาหลี และสวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น

 

 

ขณะที่ นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ความสามารถด้านนวัตกรรมของไทยปีนี้เป็นที่น่าพอใจ โดยคว้าอันดับที่ 43 จาก 132 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 5 ของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง รวมถึงเป็นอันดับที่ 9 ของประเทศที่เป็นเจ้าของอนุสิทธิบัตรมากที่สุด โดยรายงาน GII 2021 ระบุว่า ไทยมีความสามารถด้านนวัตกรรมสูงขึ้น แม้เป็นช่วงแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยยังครองอันดับ 1 ของประเทศที่เอกชนมีการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา และเป็นอันดับที่ 42 ด้านการพัฒนา ความรู้และเทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรม จากเดิมอันดับที่ 86 เมื่อปีที่ผ่านมา รวมทั้งยังเป็นอันดับที่ 51 ที่ภาครัฐให้บริการข้อมูลและคำปรึกษาผ่านระบบออนไลน์ จากเดิมอันดับที่ 81 เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่ง WIPO เห็นว่า มีความสำคัญต่อการส่งเสริมการสร้างสรรค์และการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมอย่างมาก

 

 

“รายงาน GII 2021 ยังระบุว่า ไทยมีพัฒนาการด้านการสร้างสรรค์องค์ความรู้ด้านทรัพย์สิน ทางปัญญาอย่างเด่นชัด โดยติดอันดับที่ 47 จากเดิมอันดับที่ 54 ในปีที่ผ่านมา และเป็นประเทศที่มีการยื่นขอรับ สิทธิบัตรไปยังต่างประเทศผ่านระบบสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (PCT) เป็นอันดับที่ 75 ” นายวุฒิไกร กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง