รีเซต

'จุรินทร์' โชว์ผลสำเร็จ 7 เดือน ดันส่งออกผลไม้โตได้ 48% ทั้งปีทะลุ 1.8 แสนล้าน

'จุรินทร์' โชว์ผลสำเร็จ 7 เดือน ดันส่งออกผลไม้โตได้ 48% ทั้งปีทะลุ 1.8 แสนล้าน
มติชน
26 สิงหาคม 2564 ( 12:40 )
59
'จุรินทร์' โชว์ผลสำเร็จ 7 เดือน ดันส่งออกผลไม้โตได้ 48% ทั้งปีทะลุ 1.8 แสนล้าน

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่กระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีความตกลงซื้อขายผลไม้ล่วงหน้า (MOP) ว่า ผลไม้ไทย ถือเป็นสินค้าเป้าหมายในการส่งออกเพื่อทำรายได้ให้กับประเทศ 7 เดือนแรกปี 2564 ยอดการส่งออกผลไม้สดและผลไม้แปรรูป มีมูลค่าสูงถึง 131,166 ล้านบาท ขยายตัว 48.31% โดยตั้งเป้าส่งออกผลไม้ทั้งปีนี้ไม่ต่ำกว่า 180,000 ล้านบาท ขยายตัวกว่า 30% ซึ่งได้เตรียมแผนส่งเสริมการส่งออก 4 งานใหญ่ คือ 1.กิจกรรมจัดคู่เจรจาทางการค้าออนไลน์ Online Business Matching (OBM ) 2.กิจกรรมการส่งเสริมการขายการบริโภคผลไม้ในห้างและตลาดสำคัญในต่างประเทศ 3.กิจกรรมการจัด Thai Fruits Golden Months หรือเดือนทองของการบริโภคผลไม้ไทยในประเทศต่างๆ และ 4.กิจกรรมขายผลไม้ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆโดยเฉพาะแพลตฟอร์มสำคัญในระดับโลกเช่น bigbasket.com ของอินเดีย Tmall ของจีน เป็นต้น

 

 

 

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ตัวอย่างความสำเร็จ เช่น การจัด Thai Fruits Golden Months ในประเทศจีนช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ใน 8 เมือง ประกอบด้วย หนานหนิง ไห่หนาน ฉงชิ่ง ชิงต่าว เซี่ยงไฮ้ เฉิงตู ต้าเหลียน และฝอซาน ทำรายได้รวม 15,466 ล้านบาท ครึ่งปีหลังมีแผนงานจัดใน 5 เมือง คือ เซี่ยเหมิน หนานชาง คุนหมิง อู่ฮั่น และหนานหนิง คาดทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท รวมแล้วเฉพาะการจัด Thai Fruits Golden Monthsในจีน 13 เมือง ทำรายได้เข้าประเทศกว่า 20,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ในส่วนกิจกรรม OBM จับคู่เจรจาทางการค้าซื้อขายผลไม้ ประกอบด้วยส่งเสริมการจับคู่ซื้อขายผลไม้ภาคตะวันออกของประเทศไทย มีผู้ส่งออกไทย 39 บริษัท จับคู่กับผู้นำเข้าต่างประเทศ 179 บริษัทใน 37 ประเทศ เจรจาซื้อขาย 392 คู่ มูลค่า 2,276 ล้านบาท ประเทศนำเข้าสำคัญคือ จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ฮังการี อินเดีย รัสเซียและสหรัฐ และชนิดผลไม้ Top 5 ที่นิยมซื้อ คือ ทุเรียน มะม่วง มะพร้าว สับปะรด และ มังคุด จากนั้นจัด จับคู่เจรจาซื้อขายผลไม้ในภาคใต้กับภาคเหนือเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีผู้ส่งออกไทย 65 บริษัท กับ ผู้นำเข้า 72 บริษัทใน 20 ประเทศ เกิดการเจรจา 257 คู่ และมูลค่า 1,865 ล้านบาท

 

 

 

ประเทศหลักคือ จีน เมียนมา อินเดีย ฮ่องกงและกัมพูชา และผลไม้ยอดนิยม คือ มะพร้าว สับปะรด มะม่วง และ ลำไย ทั้งนี้ การเจรจาจับคู่ซื้อขายผลไม้ทั้ง 2 ครั้ง เบื้องต้นเกิดรายได้รวม 4,141 ล้านบาท จากความตกลงซื้อขายผลไม้ส่งออก หรือ Memorandum of Purchasing ( MOP ) 21 คู่จาก 16 ประเทศ และทยอยชำระค่าสินค้าแล้ว 2,394 ล้านบาท ซึ่ง 16 ประเทศ คือ อินเดีย ลาว เมียนมา สิงคโปร์ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น สเปน เกาหลี ไต้หวัน อินโดนีเซีย อาร์เจนตินา กัมพูชา ยูเออีและมาเลเซีย ผลไม้ยอดนิยมคือ ทุเรียน มะม่วง ลำไย มังคุดและมะพร้าว

 

 

“ได้มอบนโยบายพาณิชย์จังหวัด และ ทูตพาณิชย์ ช่วยเจรจาจับคู่เพื่อระบายผลไม้ที่ยังเหลืออยู่ โดยเฉพาะลำไยภาคเหนือและลองกองกำลังออกสู่ตลาด ทั้งการจัดจับคู่ เร่งหาตลาดระบายเพิ่มเติม และวางแผนล่วงหน้าเชิงรุก โดยทีมเซลล์แมนจังหวัดกับทีมเซลล์แมนประเทศ ประสานงานกันเตรียมการผลิตผลไม้คุณภาพ และนำออกไปขายให้ทั่วถึง ทั้งแบบจังหวัดต่อจังหวัดจังหวัดเชื่อมตลาดโลกด้วย ยืนยันผลไม้ไทยมีอนาคต อาจมีการแก้ปัญหาหน้างานบ้างเช่นการขนส่งไปประเทศปลายทาง ซึ่งผลไม้ส่วนใหญ่เป็นการขนย้านทางบก เมื่อมีการระบาดโควิด-19 บางช่วงบางประเทศ ขาดชะงักบ้าง หรือ ความกังวลเรื่องการปนเปื้อน ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมกันเจรจาจนสามารถส่งออกได้ปกติ ในอนาคตการระบายก็เน้นออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มในต่างประเทศมากขึ้น มีผลต่อการส่งออกดีต่อเนื่อง อย่างเดือนมิถุนายนทุเรียนส่งออกเพิ่ม 488% มังคุด 178% เป็นต้น ” นายจุรินทร์ กล่าว

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง