รีเซต

เขมรนิยมไทย แต่ทำไมชอบเคลมวัฒนธรรม รู้จัก พระแก้ว-พระโค นิทานชาตินิยมกัมพูชา

เขมรนิยมไทย แต่ทำไมชอบเคลมวัฒนธรรม รู้จัก พระแก้ว-พระโค นิทานชาตินิยมกัมพูชา
TNN ช่อง16
3 กรกฎาคม 2568 ( 11:43 )
13

แม้ข้อพิพาทการอ้างสิทธิ์เหนือพรมแดนไทย-กัมพูชา ที่มีความแตกต่างในการยึดถือหลักฐานคนละฉบับจะเป็นรอยร้าวที่บาดลึกลงไปในใจคนทั้ง 2 ชาติ แต่หากย้อนไปดูประวัติศาสตร์จะเห็นว่าแผลในใจดังกล่าวใช้เวลาไม่นานนักในการสมานให้หายดี โดยเฉพาะฝั่งกัมพูชาที่แม้จะอารมณ์ขึ้นง่ายเมื่อถูกปลุกระดม แต่ก็ลงไม่ยากเช่นเดียวกันหากผ่านไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง 

ไม่ว่าจะเป็นจลาจลกลางเมืองพนมเปญเมื่อปี 2546 หรือ การปะทะกันของกองทัพไทย-กัมพูชา ในศึกพระวิหารปี 2554  ล้วนใช้เวลาไม่นานนักที่คนกัมพูชาเปลี่ยนจากความโกรธมาเป็นความรักได้ดังเดิม

สิ่งที่ช่วยดับไฟแห่งความคับข้องใจชาวกัมูชาได้แทบทุกครั้งนั่นเป็นเพราะการทำงานของ “ไทยซอฟต์พาวเวอร์”  ไม่ว่าจะเป็นสินค้าไทย แฟชั่นไทย เครื่องสำอางค์ไทย ไปจนถึงเพลงไทย ละครไทย ล้วนเป็นการส่งออกทางวัฒนธรรมไทยที่ชาวกัมพูชาชื่นชอบ 


ผศ.ดร.ณัฐพร ไทยจงรักษ์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์กัมพูชา หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ชี้ถึงความ “นิยมไทย” ในคนกัมพูชาว่ามีสูงมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในยุคก่อนสินค้าจากไทยถือเป็นสินค้านำเข้าชาติแรก ๆ ที่ถูกส่งเข้าไปจำหน่ายในกัมพูชา รวมถึงการรับสัญญาณโทรทัศน์จากประเทศไทยทำให้คนกัมพูชาคุ้นชินกับสินค้า และ วัฒนธรรมละครไทย ซึ่งนอกจากความชื่นชอบต่อแบรนด์สินค้าไทยแล้ว คนกัมพูชายังนิยมส่งลูก-หลานข้ามาเรียนต่อในประเทศไทยอีกด้วย 

“ทุกวันนี้มีสินค้าจากชาติอื่นเริ่มนำเข้ามาให้ผู้บริโภคกัมพูชาหลากหลายขึ้น โดยเฉพาะสินค้าและละครจากเวียดนาม แต่ก็ยังไม่สามารถดึงความนิยมไปจากตัวสินค้าแบรนด์ไทยได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความคุ้นชินและถูกจริตคนกัมพูชามากกว่าเพราะสินค้าไทยเข้าไปในกัมพูชาเป็นชาติแรกๆ แต่ส่วนตัวเชื่อว่ามุมมองของคนกัมพูชาที่มีต่อไทยค่อนข้างบวก เพราะดูว่าไทยมีความเจริญกว่า เขา (ชาวกัมพูชา) จึงอยากจะเจริญอย่างไทย ยกตัวอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไทยแม้มีราคาแพงกว่าของชาติอื่น แต่คนกัมพูชาก็ยังซื้อของไทยกินอยู่ดี เช่นเดียวกับละครไทยที่คนกัมพูชาชอบมากๆ ไม่ต่างกับที่คนไทยติดซีรีย์เกาหลี”

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจตั้งคำถามถึงความคิดของคนกัมพูชาที่นิยมของไทย เสพวัฒนธรรมไทยร่วมสมัย ไปจนถึงคลั่งไคล้นักร้อง ดารา และละครไทย แต่ทำไมในโลกออนไลน์คนไทยและคนกัมพูชามักมีประเด็นโต้เถียงกันรุนแรงและต่อเนื่องในเรื่องของศิลปะ ประเพณี วัฒนธรรม ไปจนถึงอารยธรรมโบราณ  จนเป็นที่มาของศัพท์ที่ใช้เรียกชาวเน็ตกัมพูชาว่า “เคลมโบเดีย”

 แม้ไทยและกัมพูชาจะมีสิ่งที่เรียกว่าความเป็น “วัฒนธรรมร่วม” แต่ด้วยความพยายามในการสร้างอัตลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรมที่ไทยดูจะมีเสถียรภาพและต่อเนื่องมากกว่า เพราะกัมพูชาต้องเผชิญกับยุคมืดทางวัฒนธรรมในช่วงการปกครองของเขมรแดง ทั้งที่กัมพูชาในช่วงก่อนเขมรแดง ซึ่งอยู่ใต้อาณานิคมของฝรั่งเศส ก็มีพยายามต่อยอดวัฒนธรรมไปในทางของตนเองโดยมีรากฐานส่วนหนึ่งจากวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นผลมาจากในช่วงรัตโกสินทร์ตอนต้นที่ชนชั้นสูงของกัมพูชามีความนิยม“สยาม” ซึ่งพบว่าเชื้อพระวงษ์เขมรส่วนใหญ่เข้ามา เติบโต เล่าเรียน และ รับเอาวัฒนธรรมสยามกลับไปยังประเทศของตนเอง 

จากข้อมูลส่วนนี้จะเห็นว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” ของไทยไม่ได้มีอิทธิพลแค่ในยุคปัจจุบันเท่านั้น แต่ได้สร้างอิทธิพลให้ชนชาวเขมรมานานกว่า 100 ปีแล้ว แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้นชาวกัมพูชาบางส่วนก็ยังมองไทยเป็นผู้รุกราน แย่งชิง หรือ แม้แต่รู้สึกว่าสยามเป็นผู้ขโมยวัฒนธรรมและความรุ่งเรืองของชนชาติเขมรไป


ผศ.ดร.ณัฐพร อธิบายว่าความคิดเรื่องดังกล่าวถูกฝังเข้าไปในความรู้สึกคนกัมพูชาผ่านนิทาน และ เรื่องเล่าที่มีการฝังแนวคิดชาตินิยมเข้าไป โดยชนชาติสยามหรือไทยถูกวางบทให้เป็น “ผู้ร้าย” 

หนึ่งในนิทานพื้นบ้านที่ปลูกฝังแนวคิดเช่นนั้น คือ ตำนานพระโค-พระแก้ว ซึ่งเป็นนิทานพื้นบ้านที่เล่าถึงการเสียเมืองละแวกของกัมพูชาผ่านการจำลองของตัวละครเหนือจริง ได้แก่ "พระโค" (วัวผู้มีฤทธิ์) และ "พระแก้ว" (มนุษย์แฝดผู้น้อง) ที่พ่ายแพ้ต่อสยาม

เรื่องราวในนิทนาพื้นบ้านเล่าถึงชาวนาที่อาศัยอยู่ในเมืองละแวกคู่หนึ่ง ภรรยาปีนต้นมะม่วงและตกลงมาเสียชีวิตในขณะที่กำลังตั้งครรภ์ ครรภ์ของนางจึงแตกออกมาเป็นลูกแฝด แฝดผู้พี่เป็นวัว จึงมีชื่อว่า พระโค มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ส่วนแฝดผู้น้องเป็นคน มีชื่อว่า พระแก้ว

พระแก้วได้แต่งงานกับนางเภา ธิดาของพระบาทรามาเชิงไพร กษัตริย์ผู้ครองเมืองละแวก กิตติศัพท์เรื่องพระโค-พระแก้วล่วงรู้ไปถึงกรุงศรีอยุธยา พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาปรารถนาได้พระโค-พระแก้วมาไว้ในพระนครศรีอยุธยาจึงส่งทูตมาเพื่อท้าประลองชิงบ้านเมือง พระโคเป็นตัวแทนของเมืองละแวกแปลงกายไปร่วมประลอง

ขณะที่พระโคและพระแก้วถูกจับได้ ทําให้เสียเมืองละแวกแก่สยามในที่สุด พระโคและพระแก้วถูกจับตัวไปยังกรุงศรีอยุธยา ทำให้สรรพวิทยาและของวิเศษทั้งหมดที่อยู่ในท้องพระโคถูกนํามาไว้ที่กรุงศรีอยุธยา เป็นเหตุให้สยามเจริญรุ่งเรือง ต่างจากเขมรก็เสื่อมอำนาจลงเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน

นิทานเรื่องพระโค-พระแก้ว กลายเป็นเครื่องมือของผู้นำกัมพูชาใช้ปลูกฝังความรู้สึกชาตินิยมให้แก่ชาวเขมรตลอดมา เช่น ตีพิมพ์หนังสือนิทานเพื่อปลุกใจในช่วงเรียกร้องอิสรภาพจากฝรั่งเศส หรือบรรจุนิทานเรื่องนี้ในหลักสูตรการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ 

นิทานเรื่องยังถูกหยิบยกมาอ้างถึงในช่วงปลายทศวรรษ 1960 ถึงต้นทศวรรษ 1970 ซึ่งประเทศไทยและกัมพูชาเกิดกรณีพิพาทเรื่องพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหารขึ้น รัฐบาลกัมพูชาจึงจัดให้คณะนาฏศิลป์หลวงนำเสนอนิทานเรื่องนี้ผ่านทางสถานีวิทยุในช่วงเย็น ส่งผลให้ชาวเขมรฮึกเหิม พร้อมลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อชาติ

จากกรณีศึกษาตำนานพระโค-พระแก้ว นำมาสู่ภาพจำของไทยในความคิดของชาวกัมพูชาจำนวนหนึ่งเกิดเป็นรอยร้าวที่บาดลึกมาจนถึงปัจจุบัน ประกอบกับความเป็น “วัฒนธรรมร่วม” ของไทยและกัมพูชาที่ พยายามสร้างสรรค์เอกลักษณ์และความแตกต่างให้กับประเทศของตนเอง ยิ่งสร้างรอยร้าวทางความสัมพันธ์ของไทย-กัมพูชา 

 “แม้ในโลกออนไลน์จะมีการโต้แย้งกันอย่างดุเดือด หรือแม้แต่ความขัดแย้งด้านพรมแดนครั้งล่าสุด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนกัมพูชาจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีฐานะ และ การศึกษาสูงยังมีความรู้สึกเชิงบวกต่อคนไทย และ ยังมีความนิยมที่จะส่งบุตร-หลาน มาเรียนต่อในประเทศไทย ”ผศ.ดร.ณัฐพร

แม้ความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์จะยังคงเป็นปัจจัยที่ท้าทายความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความผูกพันทางวัฒนธรรมและความเข้าใจระหว่างประชาชนยังคงเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยนำพาทั้งสองชาติเดินหน้าสู่อนาคตอย่างสันติ ตราบใดที่ไทย-กัมพูชา ยังมีชายแดนที่อยู่ติดประชิดกัน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง