รีเซต

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กประกาศลดการเซนเซอร์เนื้อหาบน FacebookIG และ Threads แลกกับ Free Speech

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กประกาศลดการเซนเซอร์เนื้อหาบน FacebookIG และ Threads แลกกับ Free Speech
TNN ช่อง16
12 มกราคม 2568 ( 21:57 )
8

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กประกาศลดการเซนเซอร์เนื้อหาบน Facebook, IG และ Threads แลกกับ Free Speech

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Meta ประกาศปรับนโยบายครั้งใหญ่ โดยเน้นคืนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นพร้อมลดข้อผิดพลาดในระบบควบคุมเนื้อหา การเปลี่ยนแปลงนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม รวมถึงผลกระทบของการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาในปี 2024 ที่ผ่านมา

🔵 ยกเลิกโปรแกรมตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact-Checking)

หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ การยกเลิกโปรแกรมตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact-Checking) ที่ร่วมมือกับพันธมิตรภายนอก ซึ่งจะถูกแทนที่ด้วยระบบหมายเหตุของชุมชน (Community Notes) หรือการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานในชุมชนออนไลน์ได้ร่วมกันตรวจสอบและแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลเนื้อหา คล้ายกับระบบของแพลตฟอร์ม X หรือชื่อเดิม Twitter โดยระบบใหม่นี้จะเริ่มใช้ในสหรัฐอเมริกา และมุ่งหวังให้ชุมชนมีบทบาทมากขึ้นในการจัดการข้อมูลที่เผยแพร่บนแพลตฟอร์ม

นอกจากนี้บริษัท Meta ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม Facebook ยังปรับปรุงนโยบายการกลั่นกรองเนื้อหาทางการเมือง โดยจะเพิ่มการมองเห็นของเนื้อหาการเมืองบน Facebook, Instagram และ Threads หลังจากก่อนหน้านี้ลดปริมาณเนื้อหาเหล่านี้ลงเพื่อลดความเครียดของผู้ใช้งาน มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กกล่าวเพิ่มเติมว่า "เรากำลังคืนเนื้อหาทางการเมืองให้กลับมาอยู่ในฟีดของผู้ใช้ โดยพยายามทำให้ชุมชนมีบรรยากาศที่มิตรและเป็นบวก"

🔵 ลดความซับซ้อนของระบบตรวจสอบ

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ยอมรับว่าระบบควบคุมเนื้อหาที่บริษัทสร้างขึ้นนั้นมีข้อผิดพลาดและซับซ้อนเกินไป เขาเน้นย้ำถึงความสำคัญของการลดความผิดพลาดในการเซนเซอร์ โดยเฉพาะในกรณีที่เนื้อหาที่ไม่ละเมิดนโยบาย แต่ถูกลบออกระบบโดยไม่ได้ตั้งใจ

"แม้ว่าข้อผิดพลาดจะเกิดขึ้นเพียง 1% แต่ก็ยังส่งผลกระทบต่อผู้ใช้นับล้าน" เขากล่าวเพิ่มเติม พร้อมย้ำว่าบริษัทจะยังคงเข้มงวดในการจัดการเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การก่อการร้าย และการแสวงหาประโยชน์จากเด็ก

บริษัท Meta เตรียมยุติระบบตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ใช้งานมาตั้งแต่ปี 2016 ซึ่งดำเนินการร่วมกับองค์กรภายนอกที่ได้รับการรับรองจาก International Fact-Checking Network และ European Fact-Checking Standards Network โดยองค์กรเหล่านี้เคยทำหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาในหลายภาษา รวมถึงโพสต์และโฆษณาต่าง ๆ 

อย่างไรก็ตาม ข่าวประชาสัมพันธ์ของบริษัท Meta ระบุเพิ่มเติมเอาไว้ว่า หากมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและพบว่าเนื้อหาเป็นเท็จ หรือเนื้อหาเป็นแบบตลกเสียดสีไม่ตรงตามความเป็นจริง ๆ ระบบจะแสดงแถบข้อมูลอธิบายเพิ่มเติม พร้อมแจ้งไปยังผู้สร้างเนื้อหาให้ปรับปรุงข้อมูลให้มีความถูกต้อง 

หากยังพบว่าไม่ปฏิบัติตามทางบริษัท Meta จะดำเนินการลบ Page, Group หรือโปรไฟล์ ออกจากการแนะนำให้ผู้ใช้งานทั่วไป การลดการแพร่กระจายเนื้อหา ลบความสามารถในการสร้างรายได้และการโฆษณา 

🔵 สั่งย้ายทีมงานและปรับปรุงระบบ

บริษัท Meta เตรียมย้ายทีมงานด้านความปลอดภัย และการตรวจสอบเนื้อหาจากรัฐแคลิฟอร์เนียไปยังรัฐเท็กซัส และปรับปรุงระบบแนะนำเนื้อหาให้มุ่งเน้นไปที่ "การละเมิดที่ร้ายแรง" มากขึ้น โดยอาศัยการรายงานจากผู้ใช้สำหรับการละเมิดอื่น ๆ 

โดยมาร์ก ซักเคอร์เบิร์กกล่าวว่า "เราจะปรับแต่งตัวกรองเนื้อหาเพื่อให้ต้องมั่นใจก่อนลบเนื้อหา นี่อาจทำให้เราตรวจจับบางสิ่งได้น้อยลง แต่จะช่วยลดจำนวนโพสต์หรือบัญชีที่ถูกลบโดยไม่ตั้งใจ" 

🔵 กฎระเบียบที่ผ่านมาเพราะแรงกดดันจากรัฐบาล

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กวิพากษ์วิจารณ์ "รัฐบาลและสื่อกระแสหลัก" ที่เขาอ้างว่า ผลักดันให้มีการเซนเซอร์เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และยืนยันว่าบริษัท Meta ยังคงทำงานร่วมกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เพื่อส่งเสริมเสรีภาพในการพูดให้กับผู้คนทั่วโลก

"รัฐบาลบางประเทศยังคงปราบปรามการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ และเราจะร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เพื่อกดดันพวกเขาให้ยอมรับเสรีภาพนี้" มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กกล่าวเพิ่มเติม

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้สะท้อนถึงความพยายามของ Meta ในการปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของผู้ใช้งานและแรงกดดันทางการเมือง ขณะเดียวกันยังคงรักษามาตรฐานความปลอดภัยบนแพลตฟอร์มของตน

🔵 การปรับตัวหลังการเปลี่ยนแปลงนโยบายของ Meta

การปรับนโยบายใหม่ของบริษัท Meta สิ่งที่นักการตลาด Marketing และนักสร้างเนื้อหา Content Creator ต้องปรับทั้งในส่วนของเนื้อหา และกลยุทธ์การตลาด เช่น การปรับเนื้อหาให้เข้ากับระบบ "หมายเหตุของชุมชน" (Community Notes) โดยระบบใหม่จะเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการข้อมูล 

ดังนั้น นักการตลาดควรสร้างเนื้อหาที่โปร่งใสและน่าเชื่อถือ หลีกเลี่ยงการใช้ข้อมูลที่อาจถูกตีความผิดหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิด เช่น การเล่าเรื่อง (Storytelling) และแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้ในเนื้อหา เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและลดโอกาสที่เนื้อหาจะถูกตั้งข้อสังเกตโดยชุมชน

รวมไปถึงลดความซ้ำซ้อนของเนื้อหา และนำเสนอเนื้อหาที่มีข้อผิดพลาด เช่น การใช้ภาษาไม่เหมาะสม หรือการกล่าวอ้างโดยไม่มีข้อมูลสนับสนุน ซึ่งหากนโยบายใหม่เน้นไปที่ "การละเมิดที่ร้ายแรง" การนำเสนอเนื้อหาที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์จะมีโอกาสเข้าถึงผู้ชมได้มากขึ้น

ที่มาของข้อมูล NBCNews, Transparency.Meta.com
ที่มาของรูปภาพ https://www.facebook.com/zuck/videos/1525382954801931 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง