ทำความรู้จัก 'หมึกบลูริง' สัตว์ร้ายอันตราย พิษสงแรงกว่างูเห่าถึง 20 เท่า
จากกรณีที่วันนี้ (30พ.ย.63) ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ออกมาโพสต์ข้อความแจ้งเตือนอันตรายสำหรับผู้ที่ชื่นชอบรับประทานอาหารประเภทหมึกย่าง หลังทาง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้รับแจ้งจากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ว่าพบ "หมึกบลูริง" หรือ "หมึกสายวงน้ำเงิน" นำมาเสียบไม้วางขายในตลาด ซึ่งหมึกชนิดนี้มีพิษร้ายแรง เตือนผู้บริโภคสังเกตให้ดีก่อนรับประทาน
ทั้งนี้ ได้มีการระบุข้อความว่า "จากทะเลมาปทุมธานี หมึกบลูริงพิษร้ายระวังด้วยจ้า วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 กรม ทช. โดยสถาบันวิจัย ทช. รับแจ้งพบหมึกบลูริง เสียบไม้ปิ้งขายในตลาดนัดตอนเย็น พื้นที่ จ.ปทุมธานี แม้ว่าหมึกย่างจะอร่อยมากก็จริง ยิ่งเจอน้ำจิ้มรสเด็ดยิ่งแจ่ม แต่ให้สังเกตเพิ่มกันหน่อย ทั้งพ่อค้าแม่ค้าคัดแยกให้ดีก่อนเอามาปรุงอาหารขาย
ลูกค้าก็เช่นกันก่อนบริโภคสังเกตลายสักนิด ถ้าพบหมึกมีลายเป็นวงๆ สีน้ำเงินทั่วตัวจนไปถึงเส้นหมวด ให้หลีกเลี่ยงด่วน อันตรายมากเพราะพิษของหมึกชนิดนี้ แม้ปรุงสุกก็ไม่สลาย ยังมีอันตราย พิษนี้ทนความร้อนได้สูงถึง 200 องศาเซลเซียส ดังนั้น แม้ย่างสุกก็ไม่สามารถทำลายพิษได้ ปัจจุบันยังไม่มียาแก้พิษใดๆ ต่อต้านได้"
สำหรับ หมึกสายวงน้ำเงิน หรือ หมึกบลูริง (Blue-ringed octopus) เป็นหมึกยักษ์จําพวกหนึ่ง แต่มีขนาดเล็กตัวเต็มวัยมีขนาดลําตัวประมาณ 4 - 5 เซนติเมตร มี 8 หนวด แต่ละหนวดยาวประมาณ 15 - 20 เซนติเมตร
หมึกสายวงน้ำเงิน มีจุดเด่นที่ต่างจากหมึกทั่วไปตรงที่มีลวดลายเป็นวงแหวนสีน้ำเงิน กระจายตามลําตัวและหนวด ซึ่งจะตัดกับสีของลําตัวที่ออกเป็นสีเหลืองน้ำตาลอย่างชัดเจน วงแหวนสีน้ำเงินเหล่านี้สามารถเรืองแสงได้เมื่อถูกคุกคาม เนื่องจากหมึกชนิดนี้มีสีสวยงาม และมีขนาดไม่ใหญ่มากจึงเป็นที่นิยมของผู้ที่ชื่นชอบในการเลี้ยงปลาสวยงาม และสัตว์แปลกๆ ในหลายๆประเทศ
หมึกบลูริง มีการผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียวตลอดวงจรชีวิต เพศผู้จะตายหลังจากการผสมพันธุ์ เพศเมียจะวางไข่ติดกันเป็นพวงจํานวน 20-300 ฟองไข่ จะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2 สัปดาห์และใช้เวลาประมาณ 2 - 3 เดือน เจริญเป็นตัวเต็มวัย โดยมีอายุขัยประมาณ 1 ปี
เวลากลางวันหมึกบลูริง มักพักหลบอยู่ตามโพรงหินหรือเปลือกหอยแล้วจึงออกหากิน ในเวลากลางคืนชอบเคลื่อนที่ไปตามพื้นหน้าดินเพื่อหากุ้งและปูเป็นอาหารมากกว่าที่จะว่ายน้ำเช่นหมึกชนิดอื่น
ปัจจุบันทั่วโลกพบ หมึกบลูริง ทั้งหมด ประมาณ 4 ชนิด สําหรับในประเทศไทย มีรายงานการพบหมึกสายวงน้ำเงิน สกุล Hapalochlaena maculosa ในน่านน้ำไทยทั้งทางฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย
หมึกบลูริง มีสารพิษที่มีความร้ายแรงมากผสมอยู่ในน้ำลาย ซึ่งร้ายแรงกว่างูเห่าถึง 20 เท่า ผู้ที่ถูกกัดอาจตายได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง จึงนับเป็นหนึ่งในสัตว์น้ำที่มีพิษร้ายแรงมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก สารพิษของหมึกสายวงน้ำเงินนั้น เรียกว่าเตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) ซึ่งเป็นพิษชนิดเดียวกับที่พบในปลาปักเป้า
ทั้งนี้ เตโตรโดท็อกซินที่พบทั้งใน หมึกบลูริง และปลาปักเป้า ไม่ได้ถูกสร้างจากภายในตัวของพวกมันเอง เพราะสัตว์เหล่านี้ไม่มียีนที่ควบคุม การสร้างพิษนี้มีการศึกษาพบว่าพิษนี้สร้างจากเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น แบคทีเรียในวงศ์ Vibrionaceae, Pseudomanas sp.,Photobacterium phosphorium ฯลฯ ที่อาศัยอยู่ในตัวสัตว์แบบพึ่งพา(symbiosis) โดยที่แบคทีเรียอาศัยตัวสัตว์เป็นที่อยู่และแหล่งอาหาร ส่วนสัตว์ได้พิษจากแบคทีเรียไว้เป็นอาวุธป้องกันตัวและล่าเหยื่อ
เตโตรโดท็อกซิน เป็นพิษที่มีผลต่อระบบประสาท (Neurotoxin) ขนาดที่มนุษย์รับประทานแล้วเสียชีวิตคือประมาณ 1 มิลลิกรัม ซึ่งมีความรุนแรงกว่าไซยาไนด์ถึง 1,200 เท่า ยิ่งไปกว่านั้นพิษนี้ทนความร้อนได้สูงถึง 200 องศาเซลเซียส
ดังนั้นจึงไม่สามารถทําลายพิษได้ด้วยการใช้ความร้อนปกติในการปรุงอาหาร
ปัจจุบันยังไม่มียาแก้พิษใดๆ ต่อต้านได้ผู้ป่วยที่ได้รับพิษเตโตรโดท็อกซินมีอัตราตายสูงถึง 50 - 60 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าผู้ป่วยยังมีชีวิตรอดหลังได้รับพิษแล้ว 24 ชั่วโมง พบว่ามีอัตราการรอดชีวิตสูงเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์
พิษที่เกิดจากหมึกบลูริงกัด
จะเกิดอย่างรวดเร็วภายใน 5 นาทีหลังถูกกัด (แต่จะนานอย่างน้อย 15 นาทีถ้าเกิดจากการกินปลาปักเป้า) โดยเริ่มจากการชาบริเวณริมฝีปากลิ้น ต่อมาชาบริเวณใบหน้าแขนขาและเป็นตะคริวในที่สุด น้ำลายไหล
คลื่นไส้อาเจียน มีอาการท้องเสียร่วมกับปวดท้อง ซึ่งอาการปวดท้องจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นกล้ามเนื้อจะเริ่มทํางานผิดปกติอ่อนแรง
ผู้ป่วยที่ได้รับพิษปริมาณมากระบบประสาทส่วนกลางจะไม่ทํางาน หายใจไม่ออกเนื่องจากกล้ามเนื้อ กะบังลมและหน้าอกไม่ทํางาน ทําให้ไม่สามารถนําอากาศเข้าสู่ปอดได้ผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายใน 4 - 6 ชั่วโมง แต่ก็มีรายงานการเสียชีวิตเร็วที่สุดหลังจากได้รับพิษไปเพียง 20 นาทีเท่านั้น
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
ต้องหาวิธีนําอากาศเข้าสู่ปอด เช่น เป่าปาก ฯลฯ จากนั้นต้องรีบนําส่งแพทย์โดยด่วน เพื่อใช้เครื่องช่วยหายใจถ้าช่วยชีวิตเป็นผลผู้ป่วยจะฟื้นเป็นปกติภายใน 24 ชั่วโมง เว้นแต่ว่าจะขาดอากาศนานเกินไปจนทําให้สมองตาย
สําหรับผู้ที่ได้รับพิษจาก หมึกบลูริง ควรทําการปฐมพยาบาลในทันทีหลังถูกกัด โดยใช้เทคนิคการกดรัดและตรึงอวัยวะส่วนนั้นไม่ให้เคลื่อนไหว
ทั้งนี้ เพื่อทําให้พิษไม่แพร่กระจายเข้าระบบไหลเวียนโลหิต โดยใช้ผ้าพันจากอวัยวะส่วนปลายไล่มาจนถึงบริเวณเหนือแผลที่ถูกกัด ถ้าเป็นบริเวณแขนหรือขาให้ใช้วัสดุไม้ดามไว้ด้วย ถ้าถูกกัดบริเวณลําตัวในกรณีที่พันได้ให้พันด้วยแต่อย่าให้แน่นจนทําให้หายใจลําบากและไม่ควรกรีดปากแผลที่ถูกกัดเพราะจะทําให้พิษกระจายมากขึ้น
เทคนิคนี้เป็นการซื้อเวลาเพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้นก่อนนําผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และศูนย์พิษวิทยา สถาบันวิจัยวทยาศาสตร์สาธารณสุข
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เตือนระวังพิษร้าย พบ 'หมึกบลูริง' วางขายปะปนปลาหมึกปิ้งตลาดนัด
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE