รีเซต

"หมึกบลูริง" อ.เจษฎ์ เตือนมีพิษร้ายแรง อย่ากินเด็ดขาด แนะวิธีสังเกต

"หมึกบลูริง" อ.เจษฎ์ เตือนมีพิษร้ายแรง อย่ากินเด็ดขาด แนะวิธีสังเกต
TNN ช่อง16
30 สิงหาคม 2566 ( 13:48 )
114

หมึกบลูริง หรือ หมึกสายวงน้ำเงิน "อ.เจษฎ์" โพสต์เตือนอย่ากินเด็ดขาด อันตรายถึงชีวิต แนะวิธีสังเกต เช็กอาการหากกินหรือถูกกัด


ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์  เกี่ยวกับ "หมึกสายวงน้ำเงิน หรือ หมึกบลูริง"


โดยระบุข้อความว่า  "หมึกสายวงน้ำเงิน ห้ามนำมารับประทานนะครับ แม้จะทำให้สุกก็ตาม" เมื่อวานนี้ มีคนนำภาพของปลาหมึกในอาหาร (น่าจะประเภทปิ้งย่าง หรือจิ้มจุ่ม) มาโพสต์ถามในกลุ่ม FB ที่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย 3 กลุ่ม (คือ กลุ่ม งูไทยอะไรก็ได้ , siamensis.org , นี่มันตัวอะไรกัน ) ด้วยความที่เขาสงสัยว่าเป็น "หมึกบลูริง" หรือเปล่า


และคำตอบก็ออกมาค่อนข้างเป็นเอกฉันท์นะครับ ว่าเจ้านี่น่าจะเป็น "หมึกบลูริง หรือหมึกสายวงน้ำเงิน" สายพันธุ์หนึ่งของปลาหมึกที่มีพิษร้ายแรงมาก พบได้ในประเทศไทย และมีคำเตือนกันมาหลายครั้ังแล้ว ว่าห้ามนำมาจำหน่ายเพื่อการบริโภคเด็ดขาด เพราะถึงแม้จะเอาไปทำให้สุกก็ตาม แต่สารพิษในตัวมันก็ทนความร้อนสูงได้ถึง 200 องศา


ต่อมพิษของหมึกบลูริงจะอยู่ที่ปาก (ที่ต่อมน้ำลาย salivary gland) ไม่ได้กระจายทั่วไปตามลําตัว ผู้ที่ได้รับพิษนั้นจึงมักเกิดจากการถูกมันกัด ไม่ใช่จากการสัมผัสโดนตัว แต่ก็ไม่ควรรับประทานเข้าไปอยู่ดี เพราะอาจเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้


วิธีสังเกตก็คือ มันเป็นหมึกสาย รูปทรงแบบเดียวกับปลาหมึกยักษ์ตัวเล็กๆ หัวโตๆ หนวดเยอะๆ (ไม่ใช่แบบปลาหมึกกล้วย หรือหมึกกระดอง) และที่สำคัญคือ มีลวดลายรูปวงแหวนอยู่ทั่วไป ทั้งที่ตัวและหนวด


ซึ่งจะแตกต่างกับพวกหมึกสายอิ๊กคิว ที่มีวงแหวนแค่ 1-2 วงที่ตัว อันนั้นไม่มีพิษ สามารถนำมาทานได้ (ดูภาพเปรียบเทียบได้ที่ https://www.facebook.com/.../pfbid0dtJwVLrrvvQLn3xsgxSd7E...) ขอเอาข้อมูลเก่าที่เคยรวบรวมไว้ เกี่ยวกับ หมึกบลูริง มาเตือนกันอีกครั้งนะครับ

หมึกบลูริงจะมีลักษณะลำตัวขนาดเล็ก มีลายวงแหวนสีฟ้าสะท้อนแสงเล็กๆ กระจายอยู่ตามลำตัวและหนวด ตัวเต็มวัยมีขนาด 4-5 เซนติเมตร และหนวดยาวประมาณ 15 เซนติเมตร อาศัยอยู่ตามซอกหินและชอบหลบซ่อนตัวอยู่ในทรายใต้ท้องทะเล เคลื่อนที่โดยการใช้หนวดเดินจะไม่ใช้การพ่นน้ำเพื่อพุ่งตัวในการเคลื่อนที่เหมือนหมึกกล้วย


พิษของหมึกบลูริงหรือหมึกสายสีน้ำเงินมีชื่อว่า Maculotoxin (มาคูโลทอกซิน) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพิษของปลาปักเป้าที่มีชื่อว่า Tetrodotoxin (เทโทรโดทอกซิน) สามารถพบพิษนี้ได้ในต่อมน้ำลาย (Salivary gland) ปาก หนวด ลำไส้ และต่อมหมึก พิษชนิดนี้จะทำลายระบบประสาททำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ และทำให้เหยื่อตายหรือเป็นอัมพาต


ผู้ที่ถูกหมึกบลูริงกัดเปรียบเหมือนการฉีดยาพิษเข้าเส้นเลือดโดยตรง โดยพิษจะออกฤทธิ์อย่างรวดเร็ว และเร็วกว่าพิษจากปลาปักเป้า


อาการเริ่มแรกของผู้ที่ถูกกัดหรือกินหมึกบลูริง เข้าไปจะมีอาการคลื่นไส้ ตาพร่าเลือน มองไม่เห็น ประสาทสัมผัสไม่ทำงาน พูดหรือกลืนน้ำลายไม่ได้ จากนั้นจะเป็นอัมพาตและหยุดหายใจเนื่องจากสมองขาดออกซิเจน หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีจะทำให้ตายในที่สุด

หมึกบลูริง เป็นหมึกในสกุล Hapalochlaena อันดับหมึกยักษ์ จัดเป็นหมึกขนาดเล็กจำพวกหนึ่ง มีจุดเด่น คือสีสันตามลำตัวที่เป็นจุดวงกลมคล้ายแหวนสีน้ำเงินหรือสีม่วงซึ่งสามารถเรืองแสงได้เมื่อถูกคุกคาม ตัดพื้นลำตัวสีขาวหรือเขียว
หมึกสายวงน้ำเงินนั้นมีพิษที่ผสมอยู่ในน้ำลายที่มีความร้ายแรงมาก ซึ่งร้ายแรงกว่างูเห่าถึง 20 เท่า ผู้ที่ถูกกัดจะตายภายใน 2-3 นาที นับเป็นหนึ่งในสัตว์น้ำที่มีพิษร้ายแรงมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก


สารพิษของหมึกสายวงน้ำเงินนั้น เรียกว่า เตโตรโดท็อกซิน (tetrodotoxin) เป็นพิษชนิดเดียวกับที่พบในปลาปักเป้า ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท โดยจะเข้าไปขัดขวางการสั่งงานของสมองที่จะไปยังกล้ามเนื้อที่อยู่ใต้อำนาจจิต
คนที่ถูกพิษจะมีอาการคล้ายเป็นอัมพาต หายใจไม่ออกเนื่องจากกล้ามเนื้อกะบังลมและหน้าอกไม่ทำงาน ทำให้ไม่สามารถนำอากาศเข้าสู่ปอดได้ เป็นสาเหตุให้เสียชีวิต


การปฐมพยาบาล ต้องหาวิธีนำอากาศเข้าสู่ปอด เช่น เป่าปาก เป็นต้น จากนั้นต้องรีบนำส่งแพทย์โดยด่วน เพื่อใช้เครื่องช่วยหายใจ ถ้าช่วยชีวิตเป็นผล ผู้ป่วยจะฟื้นเป็นปกติภายใน 24 ชั่วโมง เว้นแต่ว่าจะขาดอากาศนานเกินไปจนสมองตาย


พิษของหมึกสายวงน้ำเงินเกิดจากแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในต่อมน้ำลายของมัน (เป็นแบคทีเรียสกุล Bacillus และ Pseudomonas ) พิษเตโตรโดท็อกซินและแบคทีเรียยังพบได้ในไข่ของหมึก สันนิษฐานว่าเป็นกระบวนการส่งถ่ายความสามารถในการสร้างพิษจากแม่หมึกไปยังลูก โดยพบได้ตั้งแต่แรกเกิดเลยด้วยซ้ำ


ในน่านน้ำของประเทศไทยนั้นมีหมึกสายวงน้ำเงินอย่างน้อย 1 สปีชีส์ (จากทั้งหมด 3-4 สปีชีส์) คือ Hapalochlaena maculosa สามารถพบได้ทั้งทางฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ด้วยความสวยงามประกอบกับความที่ตัวเล็ก จึงทำให้ หมึกสายวงน้ำเงินเป็นที่นิยมของผู้ที่ชื่นชอบในการเลี้ยงปลาสวยงาม และสัตว์แปลกๆ แต่ทว่าด้วยพิษอันร้ายแรงนี้ จึงทำให้กรมประมงไม่อนุญาตให้นำเข้าหมึกชนิดนี้ในประเทศ แต่ทว่าก็ยังคงมีการลักลอบนำเข้าและเลี้ยงดู ในหน่วยงานราชการก็ยังคงมีการเลี้ยงหมึกสกุลนี้อยู่เพื่อการศึกษา เช่น คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 


และในต้นปี ค.ศ. 2016 ก็ปรากฏว่ามีผู้พบหมึกสายวงน้ำเงินปะปนมากับหมึกชนิดอื่น ๆ วางขายบนแผงขายอาหารทะเลในห้างสรรพสินค้าประเภทค้าส่งแห่งหนึ่งทางภาคอีสาน
ข้อมูลจาก https://th.m.wikipedia.org/.../%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8...





ที่มา อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์

ภาพจาก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง