รีเซต

“น้ำท่วมนครพนม” ยังไม่พ้นจุดวิกฤต จับตามวลน้ำเหนือไหลสมทบ

“น้ำท่วมนครพนม” ยังไม่พ้นจุดวิกฤต จับตามวลน้ำเหนือไหลสมทบ
TNN ช่อง16
18 สิงหาคม 2566 ( 12:21 )
92
“น้ำท่วมนครพนม” ยังไม่พ้นจุดวิกฤต จับตามวลน้ำเหนือไหลสมทบ

วันนี้ ( 18 ส.ค. 66  )ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม สถานการณ์น้ำท่วม ยังไม่พ้นจุดวิกฤติ ถึงแม้ระดับน้ำโขงจะเริ่มลดลง วันละประมาณ 10-20 เซนติเมตร ล่าสุดอยู่ที่ระดับ ประมาณ 10 เมตร ห่างจากจุดล้นตลิ่ง ประมาณ 2 เมตร คือที่ 12 เมตร แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน เนื่องจากยังมีมวลน้ำจากภาคเหนือไหลมาสมทบ รวมถึงลำน้ำสาขาสายหลัก ลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม ยังมีปริมาณเกินความจุ ประมาณ 40-50 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มวลน้ำยังคงไหลระบายลงน้ำโขงต่อเนื่องหากมีฝนตกหนักต่อเนื่องเสี่ยงต่อปัญหาน้ำโขงสูง หนุนลำน้ำสาขาเอ่อท่วมพื้นที่การเกษตร รวมถึงพื้นที่ลุ่มซ้ำอีก 


ล่าสุดจากข้อมูลหน่วยงานเกี่ยวข้องของจังหวัดนครพนม  พบว่ายังมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจาก ลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม  เขตพื้นที่ อ.ศรีสงคราม เอ่อล้นท่วมพื้นที่การเกษตรนาข้าว เกือบ 40,000 ไร่ หากระดับน้ำยังไม่ลดในช่วง 10-15 วัน คาดว่าจะได้รับความเสียหายทั้งหมด โดยทางจังหวัดกำลังเร่งสำรวจชดเชยเยียวยา หากได้รับผลกระทบเสียหายสิ้นเชิงจะได้รับการชดเชย ไร่ละ 1,340 บาท รายละไม่เกิน 30 ไร่

ขณะเดียวกันในส่วนของพื้นที่ชายแดน ติดแม่น้ำโขงรวม 4 อำเภอ มี อ.บ้านแพง อ.ท่าอุเทน อ.เมือง และ อ.ธาตุพนม ยังต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ ตัวเมืองนครพนม ทางเทศบาลเมืองนครพนม ยังคงต้องเฝ้าระวัง เสริมเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 6 จุด เพื่อระบายน้ำจากตัวเมืองลงน้ำโขงให้มากที่สุด อีกทั้งรับมือหากฝนตกหนัก ป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจชุมชน หากน้ำโขงเพิ่มถึงจุดล้นตลิ่ง จะทำให้ไม่สามารถไหลระบายลงน้ำโขงได้ 


นอกจากนี้ยังได้ประสานกับทางกรมเจ้าท่าส่วนภูมิภาคสาขานครพนม จัดเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบดูแลเข้มงวด กำชับผู้ประกอบการเดินเรือข้ามฟาก ไทยลาว ระหว่างนครพนม กับแขวงคำม่วน สปป.ลาว ให้เดินเรือด้วยความระมัดระวัง และจัดชูชีพให้ผู้โดยสารทุกราย เนื่องจากช่วงนี้น้ำโขงไหลเชี่ยว เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ


ด้านนายนิวัต เจียวิริยบุญญา นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองนครพนม เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์น้ำโขงล่าสุดเริ่มลดลง หลังจากน้ำโขงสูงสุดถึง 11 เมตร ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และถือว่าเพิ่มระดับรวดเร็วในรอบหลายปี ถึงแม้จะเริ่มลดระดับแต่ยังไม่พ้นจุดกฤติ เพราะยังอยู่ในช่วงฤดูฝน มีความเสี่ยงที่จะเกิดฝนตกหนักซ้ำอีก รวมถึงยังมีมวลน้ำจากภาคเหนือไหลมาสมทบ ในส่วนของเทศบาลเมืองนครพนมยังถือว่าเป็นพื้นที่เสี่ยง ที่ต้องเฝ้าระวังป้องกันน้ำท่วม พร้อมตั้งศูนย์อำนวยการรับมือป้องกันแก้ไขน้ำท่วม รวมถึงดูแลช่วยเหลือประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง 


นอกจากนี้ในการรับมือน้ำโขงหนุนได้เสริมเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ รวม 6 จุด เพื่อเร่งระบายน้ำในตัวเมืองลงน้ำโขง หากมีฝนตกต่อเนื่อง ไม่ให้น้ำเอ่อท่วมพื้นที่เศรษฐกิจชุมชน 



ข้อมูลจาก : ผู้สื่อข่าวภูมิภาคนครพนม

ภาพจาก :  ผู้สื่อข่าวภูมิภาคนครพนม

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง