จอดป้ายประชาชื่น : ขอให้นึกถึง... โดย ปิยะวรรณ ผลเจริญ
บรรยากาศการเมืองช่วงเปลี่ยนผ่าน เตรียมปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเวลานี้ แสงแห่งสปอตไลต์ต่างจับจ้องไปที่เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หนึ่งในตำแหน่งที่ว่างเว้น รอเพียง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจเคาะชื่อ แม้รายชื่อยังฝุ่นตลบพร้อมเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนานา แต่สิ่งสำคัญที่เหนือกว่าคือ เนื้องาน จะมีนโยบายด้านพลังงานที่สะท้อนฝีมือ การสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติมากแค่ไหน
เทียบกับเนื้องานที่ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ฝากไว้ตลอด 1 ปี กับนโยบาย “Energy for All” ก็ไม่ได้แย่ ตรงกันข้ามกลับเป็นมิติใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับชาวบ้านตาสีตาสาอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน เป้าหมาย 700 เมกะวัตต์ วงเงินลงทุนรวม 48,000 ล้านบาท ถือเป็นโครงการที่ดีช่วยชาวบ้านได้จริงแต่ต้องดูการบริหารจัดการไม่ให้รั่วไหล
นโยบายนี้แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นโครงการนำร่อง 4 โครงการ 8 เมกะวัตต์ ดำเนินการโดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยโครงการเหล่านี้ยังเดินหน้าต่อ ระยะที่ 2 โครงการเร่งด่วน (ควิกวิน) ใช้โรงไฟฟ้าเดิมที่ก่อสร้างบางส่วนแล้ว รับซื้อ 100 เมกะวัตต์ เดิมตั้งเป้ารับซื้อเดือนกรกฎาคมนี้ ขายไฟปี 2564 และระยะที่ 3 เป็นโครงการทั่วไป หรือ โครงการก่อสร้างใหม่ 600 เมกะวัตต์ ดำเนินการหลังควิกวินเสร็จ หลังจากนี้ต้องรอให้รัฐมนตรีท่านใหม่ตัดสินใจ
ตามขั้นตอนโรงไฟฟ้าชุมชนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศ 20 ปี ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (พีดีพีฉบับปรับปรุง) ต้องผ่านการพิจารณาจาก ครม.ก่อน โรงไฟฟ้าชุมชนจึงจะเดินหน้าได้ ที่ผ่านมากระทรวงพยายามเสนอพีดีพีฉบับปรับปรุงเข้า ครม. ถึง 3 ครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ
มีคำถามว่า ทำไมโรงไฟฟ้าชุมชนเกิดยากเกิดเย็นนัก เช็กคำตอบแล้วได้ข้อมูลว่า โครงการนี้มีผลประโยชน์มหาศาลจึงถูกการเมืองสกัดเพื่อรอเปลี่ยนรัฐมนตรีใหม่ ประกอบกับในพีดีพีเองมีโรงไฟฟ้าหลากหลายเชื้อเพลิงรวมอยู่ จึงมีผลประโยชน์คาบเกี่ยวหลายกระทรวงเออออไปบางกระทรวงก็เสียผลประโยชน์ คำตอบล้วนเกี่ยวพันผลประโยชน์ผู้มีอำนาจ
เป็นงานยากที่รัฐมนตรีคนใหม่ต้องเจอ หากตัดสินใจเดินหน้าโรงไฟฟ้าชุมชนต่อ