ผลวิจัยพบบางคนมีพันธุกรรมอันตราย เพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิตจากโควิด-19 เป็นสองเท่า
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดในสหราชอาณาจักร ค้นพบการแปรผันทางพันธุกรรมรูปแบบหนึ่งของยีนที่มีชื่อว่า LZTFL1 ซึ่งหน่วยพันธุกรรมในลักษณะนี้จะทำให้ผู้ติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 มีโอกาสล้มป่วยด้วยโรคโควิด-19 ชนิดอาการรุนแรง ในอัตราที่สูงกว่าคนทั่วไป 2 เท่า ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตให้กลุ่มผู้ติดเชื้อที่อายุต่ำกว่า 60 ปีขึ้นอีก 2 เท่าด้วยเช่นกัน
ตามปกติแล้วยีน LZTFL1 มีหน้าที่สร้างเซลล์ปอดใหม่เพื่อรับมือกับการติดเชื้อต่าง ๆ แต่ยีนดังกล่าวในรูปแบบที่เป็นอันตราย กลับทำให้เซลล์บุผนังปอดป้องกันตนเองจากเชื้อโควิดได้ลดลง โดยจะพบยีนประเภทนี้ในหมู่คนที่มีเชื้อสายเอเชียใต้มากถึง 60% ในขณะที่พบในกลุ่มผู้มีเชื้อสายชาวยุโรป 15% เชื้อสายแอฟริกัน 2.4% และเชื้อสายเอเชียตะวันออก 1.8%
ศาสตราจารย์เจมส์ เดวีส์ ผู้นำทีมวิจัยของอ็อกซ์ฟอร์ดบอกว่า สำหรับกลุ่มผู้ติดเชื้ออายุ 20-60 ปี ความเสี่ยงที่จะป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิดนั้น เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในทุกช่วงอายุที่ห่างกัน 10 ปี ตัวอย่างเช่นผู้ติดเชื้อวัย 40 ปี มีความเสี่ยงจะป่วยหนักและเสียชีวิตเพิ่มเป็นสองเท่า เมื่อเทียบกับผู้ติดเชื้อวัย 30 ปี
"นั่นหมายความว่า การมียีนในรูปแบบที่เสี่ยงอันตราย ทำให้คุณอ่อนแอลงเสมือนว่าแก่กว่าอายุจริงถึง 10 ปี" ศ. เดวีส์กล่าว
รายงานวิจัยของศ. เดวีส์และคณะ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Genetics ระบุว่าพวกเขาค้นพบยีน LZTFL1 ในรูปแบบที่เป็นอันตรายได้ ด้วยวิธีศึกษาความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องของหน่วยพันธุกรรมทั้งจีโนม (GWAS) ซึ่งใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอเข้าช่วยเปรียบเทียบหาความแตกต่าง ระหว่างข้อมูลพันธุกรรมของผู้ป่วยโควิดที่มีอาการหนักในขั้นระบบทางเดินหายใจล้มเหลว กับผู้ที่มีประวัติติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย
ทีมผู้วิจัยยังพบว่า ผู้ป่วยที่ยีน LZTFL1 มีการแสดงออกในระดับต่ำ เซลล์บุผนังปอดซึ่งมีหน้าที่เฉพาะจะถูกเปลี่ยนให้กลับไปเป็นเซลล์บุผนังปอดแบบทั่วไป ซึ่งจะทำให้เซลล์มีตัวรับ ACE2 ที่เป็นช่องทางให้ไวรัสโควิดเข้าสู่เซลล์ได้น้อยลง แต่ผู้ป่วยที่ยีน LZTFL1 มีการแสดงออกในระดับสูง กระบวนการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ดังกล่าวจะช้าลง ทำให้ปอดไม่สามารถปรับตัวปกป้องตนเองจากเชื้อไวรัสโควิดได้
ศ. เดวีส์ยังบอกว่า "การที่ยีนตัวนี้ส่งผลให้โรคโควิด-19 ทวีความรุนแรงขึ้น จนเสี่ยงถึงแก่ชีวิตได้มากกว่ากรณีทั่วไปถึงสองเท่า นับว่าร้ายกาจกว่าอิทธิพลทางพันธุกรรมที่มีต่อผู้ป่วยโรคอื่น ๆ อย่างเช่นโรคหลอดเลือดหัวใจหรือเบาหวานเสียอีก"
อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยย้ำว่าพันธุกรรมนั้นไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่กำหนดโอกาสอยู่รอดของผู้ป่วยโควิด แต่ยังขึ้นอยู่กับวัย ความแข็งแกร่งของระบบภูมิคุ้มกันในแต่ละคน รวมทั้งเงื่อนไขสุขภาพอื่น ๆ และโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจที่ช่วยให้เข้าถึงการรักษาด้วย
.......
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว