เตือนผู้สูงวัย! โปรตีนในสมองผิดปกติ ส่งผลโรคซีเจดี สมองเสื่อมรวดเร็วและรุนแรง
ภาพจาก Getty Images
วันนี้ (15 ก.ย.64) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแนวโน้มเป็นสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น จะมีผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมมากถึงประมาณ 600,000-800,000 คน ซึ่งส่วนมากพบในอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป แต่จะมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่มีภาวะสมองเสื่อมรุนแรงในระยะเวลารวดเร็วภายใน 1-2 ปี พบในช่วงอายุ 40-60 ปี ซึ่งเป็นคนวัยทำงาน
โรคกลุ่มนี้เรียกว่า “กลุ่มโรคสมองเสื่อมที่มีการถดถอยรวดเร็วและรุนแรง” (Rapidly progressive dementia) ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อในสมอง สมองอักเสบจากภูมิคุ้มกันทำงานไวผิดปกติ การได้รับสารพิษ ภาวะขาดสารอาหารรุนแรง โรคเส้นเลือดสมองตีบหรือแตก และเนื้องอกสมอง สาเหตุเหล่านี้ถ้าได้รับการรักษาอย่างทันทวงทีจะช่วยชะลอความเสื่อมถอยด้านความจำ หรือความจำกลับมาสู่ภาวะปกติเท่ากับก่อนป่วยได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถรักษาได้ ส่งผลทุพพลภาพในระยะเวลาอันสั้น คือโรคซีเจดี ซึ่งเกิดจากการทำงานผิดปกติของโปรตีนในสมองที่เรียกว่า พรีออน (Prion) เป็นโปรตีนลักษณะพิเศษที่ทำให้โปรตีนอื่น กลายสภาพเป็นโปรตีนพรีออนผิดปกติที่เพิ่มมากขึ้นเองได้ เมื่อเข้าสู่สมองคน ในระยะเวลารวดเร็วไม่กี่เดือนเซลล์ประสาทจะตาย ทำให้ความสามารถของสมองถดถอยไม่สามารถฟื้นกลับสู่ภาวะปกติได้อีก
นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคซีเจดีพบได้ในทุกเพศ ช่วงอายุที่พบบ่อยประมาณ 55-75 ปี มีภาวะเสื่อมถอยด้านความคิดความจำในระยะเวลาที่รวดเร็วและรุนแรงไม่กี่เดือน เช่น ความจำแย่ลง การทำงานผิดพลาด
และยังพบว่าผู้ป่วยมีพฤติกรรมและจิตใจผิดปกติ เช่น เห็นภาพหลอน เอะอะโวยวาย หรือ เฉยเมย การพูดและการเคลื่อนไหวช้าลง ญาติและผู้ใกล้ชิดควรสังเกตผู้ป่วยว่ามีอาการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแบบรวดเร็ว ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการกระตุกตามแขนขาและลำตัวแบบไม่รู้สาเหตุ ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ กระทั่งนอนติดเตียง และเสียชีวิตภายในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน หรือ 1 ปี
สาเหตุเกิดจาก
1.ความเสื่อมถอยของโปรตีนและสารเคมีในสมอง
2.โรคพันธุกรรมในครอบครัว
3.ถ่ายทอดแบบการติดเชื้อ เช่น เคยมีการติดเชื้อจากการกินเนื้อวัวที่เป็นโรควัวบ้าที่เคยระบาดในยุโรปโดยเฉพาะอังกฤษ จากสัตว์สู่คนและคนสู่คนได้ ด้านการรักษาแพทย์จะส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ส่งตรวจ MRI ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง และตรวจเลือดหรือน้ำไขสันหลังเพื่อตรวจสารเคมีในสมอง และอาจพิจารณาให้การรักษาด้วยยาเพื่อควบคุมอาการพฤติกรรมวุ่นวายและลดอาการเคลื่อนไหวผิดปกติ เป็นต้น
การป้องกันจะเน้นความเสี่ยงในการติดเชื้อจากโปรตีนพรีออน ใน 2 ด้าน
1.จากคนสู่คน
2.จากสัตว์สู่คน เช่น การหลีกเลี่ยงการบริโภคสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ป่วยตายไม่ทราบสาเหตุ ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาให้หายขาด แต่มีการตรวจพบผู้ป่วยโรคนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
ดังนั้น ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยหากสงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการเข้าได้กับโรคซีเจดี ควรรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์โดยเร็ว เพราะเป็นประโยชน์ต่อการรักษา เนื่องจากมีโรคอื่นอีกหลายโรคที่อาจ มีอาการคล้ายกับโรคซีเจดี หากพบว่าเป็นโรคซีเจดีจริง ยังช่วยควบคุมความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรค และการรักษาตามอาการยังช่วยรักษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและผู้ดูแลได้.