ญี่ปุ่นชี้ 'เงินเยน' อ่อนค่าสุดในรอบ 24 ปี กระทบเศรษฐกิจ-ตลาดการเงิน
โตเกียว, 2 ก.ย. (ซินหัว) -- วันศุกร์ (2 ก.ย.) รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่าสกุลเงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพของตลาดการเงิน หลังจากสกุลเงินเยนร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 24 ปี เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงกรอบล่าง 140 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ
ชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของญี่ปุ่น แถลงว่าการเคลื่อนไหวล่าสุดของค่าเงินนั้นค่อนข้างผันผวน รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังเฝ้าติดตามและจะดำเนินงานอย่างเหมาะสมตามความจำเป็น ผ่านการสื่อสารอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานการเงินในประเทศอื่นๆซูซูกิกล่าวว่าญี่ปุ่นมีข้อตกลงกับกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนํา 7 ประเทศ หรือจี7 (G7) และฝ่ายอื่นๆ ว่าความผันผวนที่มากเกินไปและการเคลื่อนไหวอย่างไม่เป็นระบบของอัตราแลกเปลี่ยน อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินเหล่านักยุทธศาสตร์กล่าวว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด (Fed) กอปรกับโอกาสที่สถานการณ์นี้จะดำเนินต่อไปจนถึงปีหน้าและอาจมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก ต่างเป็นปัจจัยทำให้นักลงทุนพากันขายเงินเยนเพื่อไปถือดอลลาร์สหรัฐแทนธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นเป็นลบร้อยละ 0.1 และคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ราวร้อยละ 0 ซึ่งมีส่วนทำให้ช่องว่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ กว้างขึ้น นำไปสู่การแห่ซื้อดอลลาร์สหรัฐและสกุลเงินเยนอ่อนค่า รวมทั้งส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นด้วยอย่างไรก็ดี นักยุทธศาสตร์การลงทุนอธิบายว่าสกุลเงินเยนที่อ่อนค่าเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่นำโดยการส่งออก เนื่องจากผลกำไรของผู้ส่งออกนั้นงอกเงยเมื่อกลับสู่ตลาดในประเทศ และความสามารถทางการแข่งขันด้านราคายังเพิ่มขึ้นในตลาดต่างประเทศเมื่อสกุลเงินเยนอ่อนค่ากว่าคู่สกุลเงินหลัก ทว่าเงินเยนที่อ่อนค่าก็อาจทำให้ราคาพลังงานและวัตถุดิบพุ่งสูงขึ้นอีก ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้จำเป็นสำหรับญี่ปุ่นที่ขาดแคลนทรัพยากรและต้องนำเข้าอย่างต่อเนื่องวันศุกร์ (2 ก.ย.) ฮิโรคาซุ มัตสึโนะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและโฆษกระดับสูงของรัฐบาลญี่ปุ่น กล่าวย้ำอีกครั้งว่าความผันผวนเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนา โดยก่อนหน้านี้เขาเผยว่าอัตราค่าเงินควรเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพและสะท้อนปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ