'เลขาฯสมช.' ชี้ ต้องดูภาพรวมการระบาด แต่หากจำเป็นก็ต้อง 'ล็อกดาวน์'
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 7 กรกฎาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศปก.ศบค. กล่าวถึงข้อเสนอให้ ศบค. ล็อกดาวน์ เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสูงขึ้นต่อเนื่อง ว่า ได้ยินอย่างนั้นเหมือนกัน แต่ตอนนี้รอข้อเสนออย่างเป็นทางการ และรับฟังความเห็นจากทางกระทรวงสาธารณสุขก่อนเป็นลำดับแรก โดย ศบค.พร้อมรับไว้พิจารณาอยู่แล้ว จากนั้นจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังทรงตัวอยู่ แต่ตัวเลขจะถึงขั้นไหนค่อยมาว่ากันอีกที อยากให้สื่อทำความเข้าใจกับคำว่าล็อกดาวน์ ว่า หมายความว่าอย่างไร ถ้าเป็นเหมือนตอนเดือนเมษายน 2563 คือการล็อกดาวน์จริง เพราะรวมถึงการเคอร์ฟิวส์ด้วย แต่หลังจากนั้นไม่ใช่ล็อกดาวน์ เป็นเพียงการปิดกิจการและจำกัดการเคลื่อนย้าย ฉะนั้นถ้าใช้คำว่าล็อกดาวน์ ในขณะนี้ที่เป็นการปิดบางกิจการ คนจะเข้าเข้าใจว่าเหมือนเดือนเมษายน 2563 ซึ่งความหมายจะผิดเพี้ยนไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะพิจารณาเรื่องนี้ ในวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ หรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ถ้าตัวเลขเพิ่มขึ้นก็อาจจะเร็วกว่านั้น แต่ถ้ายังเป็นลักษณะขึ้นลงแบบนี้ อาจรอดูสถานการณ์ให้ครบ 15 วัน เพื่อประเมินทีเดียวแล้วดูให้ครบถ้วน โดยเราทำอย่างอื่นไปด้วยเช่น ควบคุมการเคลื่อนย้าย การแก้ปัญหารักษาพยาบาลเรื่องเตียงไม่พอ ไม่ใช่ว่าจะนั่งรอดูตัวเลขเฉยๆ
เมื่อถามว่า หากจะประกาศล็อกดาวน์ จะประกาศเฉพาะพื้นที่พบการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลต้ามากที่สุด หรือจะประกาศในภาพรวมทั้งหมด พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า จะเน้นเข้มข้นในพื้นที่แพร่ระบาดทั้งในกทม. และปริมณฑล หรือ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนพื้นที่อื่นจะมีมาตรการเสริม หากล็อกดาวน์หรือเซมิล็อกดาวน์ หรืออะไรก็ตาม ถ้าทำเฉพาะกทม.หรือปริมณฑล แต่พื้นที่อื่นไม่ทำจะไม่สอดคล้องกันฉะนั้นต้องลดหลั่นไปตามเหมาะสม
เมื่อถามว่า เหตุใดรัฐบาลถึงเลี่ยงคำว่าล็อกดาวน์ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ไม่ได้หลีกเลี่ยง แต่ความหมายต้องชัดเจน คำว่าล็อกคือไม่ให้ไปไหน แต่ช่วงหลังให้ไปไหนมาไหนได้ เมื่อใดที่ต้องใช้คำว่าล็อกดาวน์ หรือทำบางช่วงเวลาและบางพื้นที่ต้องระบุให้ชัดเจน
เมื่อถามย้ำว่าการล็อกดาวช่วงเดือนเมษายน 2563 ได้ผลจึงมีข้อเสนอให้ล็อกดาวน์ขึ้นมาอีกครั้ง พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ต้องยอมรับความจริงว่าผู้ประกอบการหาเช้ากินค่ำ หรือผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำเดือดร้อนมาก ถ้าทำอย่างนั้นคนจะเดือดร้อนจำนวนมาก ทั้งนี้การทรวงการคลัง ได้แจ้งข้อมูลในช่วงเมษายน 2563 ว่าใช้งบประมาณเยียวยา เดือนละเกือบ 3 แสนล้านบาท ถ้าเราทำอีกจะต้องหางบประมาณมาเยียวยาประชาชนอีกมาก ซึ่งในข้อเท็จจริงแม้จะใช้งบถึงเดือนละ 3 แสนล้านบาทก็ยังไม่สามารถเยียวยาประชาชนได้ทั่วถึง ทางศบค.คำนึงผลกระทบตรงนี้ที่มีต่อประชาชน จึงให้บางส่วนยังหากินได้ ไม่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดคือสิ่งที่ดีที่สุด และหากจะทำต้องวิเคราะห์ปัจจัยที่เป็นสาเหตุทั้งหมด ถ้ากระทรวงสาธารณสุข เห็นว่าต้นเหตุคือทั้งหมดทุกส่วนก็จำเป็นต้องล็อกดาวน์
เมื่อถามถึงมาตรการขอความร่วมมือเวิร์กฟอร์มโฮม แต่ยังไม่ถึง 75 เปอร์เซ็นต์ ศบค.จะมีมาตรการเพิ่มเติมหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ข้อกำหนดทุกฉบับที่ออกมาจะเน้นว่าให้ทำงานที่บ้านสูงสุด แต่ส่วนราชการบางส่วนมีภารกิจบริการประชาชน บางส่วนมีความสำคัญต่อการบริหารราชการแผ่นดิน บางส่วนมีหน้าที่ด้านความมั่นคง ที่จำเป็นต้องมาทำงาน โดยรัฐบาลและศบค.ย้ำเสมอว่าเมื่อมาทำงานต้องระวัง และที่ผ่านมาหน่วยงานที่จอความร่วมมือแต่ยังปฎิบัติไม่เต็มที่คือภาคเอกชน