รีเซต

มองไปสู่อนาคตอีก 25 ปี ข้างหน้าสถานีอวกาศเชิงพาณิชย์มีหน้าตาอย่างไร ?

มองไปสู่อนาคตอีก 25 ปี ข้างหน้าสถานีอวกาศเชิงพาณิชย์มีหน้าตาอย่างไร ?
TNN ช่อง16
28 กรกฎาคม 2567 ( 01:56 )
29

ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา มนุษย์ได้ก่อสร้างสถานีอวกาศรูปแบบต่าง ๆ ในวงโคจรต่ำของโลก โดยมีการส่งนักบินอวกาศขึ้นไปทำภารกิจทดลองด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีผ่านโครงการอวกาศจากหลายประเทศ ซึ่งการทดลองบนอวกาศได้ผลลัพท์ที่แตกต่างจากบนโลก ปูทางไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ และมีส่วนสำคัญต่อความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศ เช่น 


1. สถานีอวกาศ Salyut ของสหภาพโซเวียต เริ่มต้นในปี 1971 และมีสถานีหลายภารกิจที่ถูกเปิดตัวออกมาหลังจากนั้น 

2. สถานีอวกาศ Skylab ของ NASA สหรัฐอเมริกา ซึ่งเปิดใช้งานในปี 1973 และมีภารกิจที่สำคัญในการศึกษาสภาพแวดล้อมในอวกาศและผลกระทบต่อมนุษย์ 

3. สถานีอวกาศ Mir ของสหภาพโซเวียต ซึ่งถูกใช้งานต่อเนื่องมาถึงยุคประเทศรัสเซีย เปิดตัวในปี 1986 และเป็นสถานีอวกาศที่ใหญ่ที่สุดที่เคยสร้างขึ้นก่อนที่มันจะถูกแทนที่โดย ISS

4. สถานีอวกาศ Tiangong ของประเทศจีน ซึ่งทำเดินการทำภารกิจมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นก้าวกระโดดสำคัญของวงการอวกาศจีน


อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกำลังเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอวกาศไปสู่ยุคใหม่ของสถานีอวกาศเอกชน เพื่อสืบทอดภารกิจของสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระดับนานาชาติที่ดำเนินมายาวนานหลายทศวรรษ และกำลังจะยุติลงในราวปี 2030 โดยมีบริษัทเอกชนต่าง ๆ ที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีรองรับภารกิจสถานีอวกาศ เช่น SpaceX , Blue Origin, Planet, Rocket Lab, Virgin Galactic, Axiom Space และ Sierra Space 


เริ่มจากบริษัท Blue Origin สหรัฐอเมริกา ได้จับมือร่วมกับบริษัทต่าง ๆ เช่น Redwire, Sierra Space และ Boeing เพื่อก่อสร้างสถานีอวกาศ Orbital Reef รองรับภารกิจด้านวิทยาศาสตร์และการท่องเที่ยวอวกาศ ภายในสถานีมีสวนวิทยาศาสตร์แบบผสมผสานในวงโคจรต่ำของโลก LEO โดยคาดว่าสถานีอวกาศแห่งนี้จะเป็นฐานปฏิบัติการสำหรับการวิจัย การผลิต การท่องเที่ยว และอื่นๆ อีกมากมาย รองรับการอยู่อาศัยหลักสำหรับลูกเรือ 10 ห้อง


บริษัท Sierra Space สหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยการของบริษัทในปี 2023 ว่ามีเป้าหมายที่จะเปิดตัวสถานีอวกาศในช่วงปลายปี 2026 โดยโมดูลดังกล่าวจะมีปริมาตร 300 ลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ บริษัทได้เสนอโมดูลที่มีขนาดใหญ่กว่า คือ 1,400 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งนับว่ามีขนาดใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับโมดูล Kibo ของสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ที่มีปริมาตร 155 ลูกบาศก์เมตร เพื่อเป็นส่วนหนึ่งสถานีอวกาศยุคใหม่ Axiom Space โมดูลเชิงพาณิชย์ชุดแรกที่จะถูกส่งไปประกอบกับสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ภายในปี 2026


โดยทั้งบริษัท Axiom Space และ Blue Origin ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากนาซาผ่านโครงการ Commercial Low Earth Orbit Development Program นอกจากนี้ยังมีโครงการสถานีอวกาศ Starlab ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท Nanoracks, Voyager Space และ Lockheed Martin ได้รับเงินสนับสนุนจาก NASA ด้วยเช่นเดียวกัน และอาจมีกำหนดส่งขึ้นสู่อวกาศในปี 2028 


สำหรับบริษัทผู้เล่นรายอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น บริษัท Vast สตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีอวกาศในรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งได้วางแผนเปิดตัวสถานีอวกาศเอกชนแห่งแรก ชื่อว่า Haven-1ในช่วงกลางปี 2025 โดยใช้จรวดขนส่งอวกาศ Falcon 9 ของบริษัท SpaceX


ในอนาคตสถานีอวกาศอาจไม่ใช่แค่สิ่งก่อสร้างที่อยู่ในวงโคจรของโลก แต่มีการขยายไปยังวงโคจรของดวงจันทร์ผ่านโครงการสถานีอวกาศ Lunar Gateway ของ NASA สถานีอวกาศแห่งนี้จะเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์นอกวงโคจรของดวงจันทร์เป็นครั้งแรก เนื่องจาก Lunar Gateway จะโคจรอยู่นอกสนามแม่เหล็กของโลก จึงต้องเผชิญกับความท้าทายเพิ่มเติมอีกมากมาย อาทิ ระดับรังสีที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และชีวิตนักบินอวกาศ


นอกจากนี้ยังต้องใช้ระยะเวลาเดินทางขนส่งนักบินอวกาศและทรัพยากรไปยังสถานีอวกาศ Lunar Gateway เป็นระยะเวลานานกว่าสถานีอวกาศในวงโคจรของโลก รวมไปถึงระบบการสื่อสารและพลังงานขับเคลื่อนที่มีความซับซ้อนมากขึ้น คาดว่าภารกิจแรกของสถานีอวกาศ Gateway จะมีขึ้นในปี 2028 โดยจะทำการเชื่อมต่อกับยานอวกาศในภารกิจ Artemis 4 ของนาซา 


ที่มาของข้อมูล Space.com

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง