รีเซต

ทีมรัสเซียสร้างสถิติโลก กระโดดร่มยังขั้วโลกเหนือ ทดสอบระบบสื่อสารแถบอาร์กติก

ทีมรัสเซียสร้างสถิติโลก กระโดดร่มยังขั้วโลกเหนือ ทดสอบระบบสื่อสารแถบอาร์กติก
TNN ช่อง16
24 เมษายน 2567 ( 09:37 )
16
ทีมรัสเซียสร้างสถิติโลก กระโดดร่มยังขั้วโลกเหนือ ทดสอบระบบสื่อสารแถบอาร์กติก

ทีมชาวรัสเซีย 3 คนสร้างสถิติโลกในการกระโดดร่มจากชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ (stratosphere) หรือชั้นบรรยากาศที่มีระดับความสูงขึ้นไปจนถึง 50 กิโลเมตรจากพื้นโลก เพื่อร่อนลงมายังบริเวณขั้วโลกเหนือ โดยเป็นส่วนหนึ่งภารกิจทดสอบต้นแบบระบบสื่อสาร ที่จะใช้ในแถบอาร์กติกของโลก


ภาพจาก รอยเตอร์ 

 

ทีมชาวรัสเซียที่ว่านี้ ประกอบไปด้วย มิคาอิล คอร์นิเยนโก (Mikhail Korniyenko), อเล็กซานเดอร์ ลินนิก (Alexander Lynnik) และ เดนิส เยฟรีมอฟ (Denis Yefremov) โดยพวกเขาได้กระโดดออกจากเครื่องบินอิลยูชิน-76 (Ilyushin-76) ที่ระดับความสูง 10,500 เมตร และใช้เวลาประมาณสองนาทีครึ่ง ในการดิ่งลงก่อนที่จะกระตุกร่มที่ความสูง 1,000 เมตรเหนือพื้นดิน


ภาพจาก รอยเตอร์

 

ซึ่งจากการกระโดดร่มครั้งนี้ ทั้งสามมีอาการบาดเจ็บจากหิมะกัด (frostbite) บริเวณแก้มเล็กน้อย ถึงแม้ว่าจะสวมหน้ากากป้องกันก็ตาม เนื่องจากขณะที่พวกเขากำลังดิ่งพสุธา ด้วยความเร็วมากกว่า 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พวกเขาต้องเจออุณหภูมิของอากาศขณะนั้น ที่อยู่ที่ประมาณ -50 องศาเซลเซียส


ภาพจาก รอยเตอร์

 

โดยพวกเขาร่อนลงจอดใกล้กับฐานทัพบริเวณขั้วโลก ชื่อว่าฐานบาร์เนโอ (Barneo) ของประเทศรัสเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สามารถจ่ายไฟให้กับเซิร์ฟเวอร์ โดยใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซล และสร้างการเชื่อมต่อกับดาวเทียมได้ โดยทีมได้มีการปล่อยอุปกรณ์การใช้งานก่อนหน้านี้ จากระดับความสูงที่ต่ำกว่า


ภาพจาก รอยเตอร์

 

โดยทีมงานจากบริษัท อาร์ยู วีดีเอส (RU VDS) ผู้ให้บริการพื้นที่สำหรับเก็บข้อมูลเว็บไซต์ จากประเทศรัสเซีย และผู้จัดการทดสอบดิ่งพสุธาครั้งนี้ กล่าวว่า ปัจจุบันรัสเซียสามารถส่งข้อมูลผ่านระบบต้นแบบนี้ได้ แม้ว่าบริษัทจะยอมรับว่า ณ จุดนี้ ยังไม่มีอะไรที่เหมือนกับความสามารถของเครือข่ายของบริษัท อิริเดียม คอมมิวนิเคชัน (Iridium Communications Inc.) ของสหรัฐฯ ที่สามารถให้บริการได้ทั้งพื้นที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้


สำหรับการสื่อสารในแถบอาร์กติก (Arctic) หรือพื้นที่ในบริเวณขั้วโลกเหนือ มีแนวโน้มที่จะมีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากประเทศต่าง ๆ รวมถึงรัสเซีย สหรัฐอเมริกา และจีน กำลังแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงทรัพยากร เส้นทางการค้า และความได้เปรียบทางการทหาร ในพื้นที่บริเวณดังกล่าว จึงทำให้ปัจจุบันเริ่มมีหลายบริษัทและองค์กรที่เข้าไปทดสอบการใช้งานเครือข่ายกันมากขึ้น


ข้อมูลจาก reuters, il.mahidol

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง