"การคุมกำเนิด" แบบไหนปลอดภัยที่สุด ป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม
วันนี้ (15 ก.พ.65) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ให้ความรู้เรื่อง "การคุมกำเนิด" หมายถึง วิธีการป้องกันตั้งครรภ์หรือขัดขวางการตั้งครรภ์ เช่น ป้องกันไม่ให้อสุจิกับไข่เกิดการปฏิสนธิ ป้องกันไม่ให้มีการตกไข่ ป้องกันไม่ให้มีการฝังตัวอ่อนในโพรงมดลูกของสตรี การคุมกำเนิดจึงเป็นการวางแผนครอบครัววิธีหนึ่ง เพื่อจำกัดจำนวนการมีบุตร ทำได้หลายวิธีด้วยกัน และทำได้ทั้งหญิงและชาย
ประโยชน์ของการคุมกำเนิด
1. เหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่พร้อมจะมีลูก
2. เพื่อสุขภาพที่ดีของพ่อแม่
3. เพื่อสุขภาพของลูก
การคุมกำเนิด แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1.การคุมกำเนิดชั่วคราว คือ วิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพชั่วคราว เมื่อหยุดใช้จะกลับมาตั้งครรภ์ได้ เหมาะกับผู้ที่ยังไม่พร้อมมีลูก แต่ยังต้องการที่จะมีลูกในอนาคต
- การคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติ เป็นวิธีป้องกันการตั้งครรภ์แบบธรรมชาติ โดยอาศัยหลักการทำงานของฮอร์โมนเพศหญิง การตกไข่ และการมีประจำเดือน มาช่วยในการกำหนดวันปลอดภัยที่จะมีเพศสัมพันธ์โดยไม่เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์
- การคุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมน ใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ทำเลียนแบบฮอร์โมนในร่างกายของผู้หญิง ให้ผลในการป้องกันสูง วิธีการคุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมน เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด ห่วงอนามัย
2.การคุมกำเนิดถาวร คือ วิธีการคุมกำเนิดไปได้ตลอดชีวิต ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก เหมาะสำหรับครอบครัวที่มีลูกเพียงพอแล้วและไม่ต้องการมีลูกอีก ทำเพียงครั้งเดียว ได้ผลดีมาก ไม่ต้องเสี่ยงต่อผลข้างเคียงเหมือนกับการใช้วิธีคุมกำเนิดแบบชั่วคราว มี 2 วิธีดังนี้
- การทำหมันหญิง มีทั้งการทำหมันแห้งที่เป็นการทำหมันในรายที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ และการทำหมันเปียก เป็นการทำหมันภายใน 6 สัปดาห์แรกหลังการคลอดบุตร นิยมทำในช่วง 48 ชั่วโมงแรกหลังการคลอดบุตร
- การทำหมันชาย เป็นการทำหมันถาวรโดยการตัดและผูกท่อทางเดินของเชื้ออสุจิ เพื่อไม่เปิดโอกาสให้เชื้ออสุจิเดินทางเข้ามาในช่องคลอดขณะร่วมเพศได้
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีสิทธิประโยชน์การวางแผนครอบครัว รวมถึงการคุมกำเนิดทั้งแบบชั่วคราวและถาวร การทำหมันหญิงและชายสำหรับคนไทยทุกสิทธิ
โดยมีบริการให้ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด การใส่ห่วงอนามัย การทำหมัน แนะนำให้ผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดปรึกษาแพทย์ โดยยื่นบัตรประจำตัวประชาชนแจ้งใช้สิทธิ ณ หน่วยบริการ (สถานพยาบาล)ที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ คลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso ขอบคุณข้อมูลจากกรมอนามัย
ข้อมูลจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP