รีเซต

แชร์ forex สู่คดีดัง แชร์ลูกโซ่ ในอดีต ใช้มุกเดิม แต่ยังเกิดเหยื่อใหม่

แชร์ forex สู่คดีดัง แชร์ลูกโซ่ ในอดีต ใช้มุกเดิม แต่ยังเกิดเหยื่อใหม่
TrueID
10 พฤษภาคม 2566 ( 10:30 )
2.2K

ข่าววันนี้ แชร์ forex สู่ แชร์ลูกโซ่ เล่นแชร์ โกงแชร์ ในอดีต ชื่อเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย! แต่กลับสร้างความสูญเสียให้ "เหยื่อ" ที่ถูกล่อใจด้วยดอกเบี้ยสูง หวังอยากร่ำรวยจากการลงทุนทางลัด และที่ทำวงการบันเทิงช็อก "พิงกี้ สาวิกา ไชยเดช" ถูกส่งเข้าเรือนจำ พ่วงด้วย "ดีเจแมน พัฒนพล มินทะขิน" และ "ใบเตย อาร์สยาม" หรือ "สุธีวัน ทวีสิน" ไม่รอดเอี่ยวคดีร้อน แชร์ forex ด้วยเช่นกัน 

 

แชร์ forex สู่คดีดังแชร์ลูกโซ่ในอดีต ใช้มุกเดิม แต่ยังเกิด 'เหยื่อใหม่'

 

Forex 3D คืออะไร? ปมร้อนแรงล่าสุดที่ทำให้หลายคนเกิดลืมไปแล้วว่า "แชร์ forex" เป็นอีกหนึ่งคดีตัวอย่างของการสร้างความเดือดร้อน สูญเสียทรัพย์สิน ผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัว แถมนับวันเกิด "เหยื่อใหม่" เพิ่มขึ้นวนไม่รู้เป็นบทเรียนต่อกี่ครั้ง 

 

แชร์ลูกโซ่ยุค 2022 กับคนไทย ไม่ว่าผ่านมากี่ยุคกี่สมัย นับวัน "เหยื่อใหม่" เพิ่มซ้ำซาก

ปัจจัยที่ทำให้คนมองหาโอกาสทางธุรกิจ หรือช่องทางใหม่ ๆ คือการอยากสร้างรายได้ มีเงินใช้ เนื่องจากแต่ละคนประสบปัญหาหลากหลายแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นขาดสภาพคล่องทางการเงิน สถานการณ์โรคโควิดระบาดหนัก ทำให้หลายคนขาดรายได้ มีรายได้ไม่เพียงพอ ไปจนถึงขั้นตกงาน


จะให้หาเงินทุนสักก้อนมาหมุนให้คล่อง ๆ ต่อลมหายใจ หลายคนอาจเทใจเลือกลงทุนด้วยการ "เล่นแชร์" มากกว่ารวบรวมเอกสารขอกู้เงินถูกกฎหมาย กู้สินเชื่อกับสถาบันทางการเงิน เนื่องจากเสียเวลา ใช้เวลานานกว่าจะได้รับการอนุมัติ ต้องดำเนินการหลายขั้นตอน สวนทางกับความต้องการในการใช้เงินทันทีทันใด

 

การเข้าสู่วงการ "แชร์ลูกโซ่" ที่มาในรูปแบบการโฆษณาชวนเชื่อให้หลงเชื่อจนติด "กับดัก" ทั้ง ๆ ที่อาจเป็น "หลุมพราง" ให้เกิดความโลภ และขาดความรู้ ไม่เท่าทันกลโกงโดยไม่รู้ตัว มารู้ตัวอีกที เงินที่มีมลายหายไปในพริบตา


ซึ่งรูปแบบการเล่นแชร์ หรือแชร์ลูกโซ่ แค่มีบุคคลตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ตกลงกันเป็นสมาชิกวงแชร์ โดยแต่ละคนมีภาระที่จะส่งเงินหรือทรัพย์สินอื่นใด รวมเข้าเป็นทุนกองกลางเป็นงวด ๆ เพื่อให้สมาชิกวงแชร์หมุนเวียนกันรับทุนกองกลางแต่ละงวดนั้นไป โดยการประมูลหรือโดยวิธีอื่นใด และให้หมายรวมถึงการรวมทุนในลักษณะอื่น ตามที่กฎหมายกำหนดในกฎกระทรวงด้วย 

 

ยกตัวอย่าง เล่นแชร์

ยกตัวอย่างให้เห็นง่าย ๆ ของการตั้งวงแชร์ เช่น วงเงิน 100,000 บาท ก็หาสมาชิกให้ได้ 10 คน จากนั้นลงเงินเริ่มต้นคนละ 10,000 บาท โดยส่งเงินทุกเดือน หากลูกแชร์คนหนึ่งคนใดต้องการเงินในแต่ละเดือน ก็จะใช้หลากหลายวิธีในการประมูล เพื่อให้ได้เงินก้อนใหญ่ หรือที่เรียกว่าการ "เปียร์แชร์" นั่นเอง 

 

เมื่อการลงทุนเล่นแชร์แม้เสี่ยงถูกหลอกแต่กลายเป็นทางเลือกมหานิยม ฮอตฮิตของคนที่อยากได้เงินก้อน อยากได้เงินทันใช้ หาเงินก้อนได้ง่าย รวดเร็วกว่าช่องทางการหาเงินในรูปแบบอื่นที่ยุ่งยากกว่าหลายเท่า

 

และนี่จึงกลายเป็นช่องโหว่ให้เหล่ามิจฉาชีพออกรูปแบบกลโกงแชร์มากมายอย่างกรณีของ "ซ้อปลา" เปิดบ้านออมแชร์ ได้ประกาศวงแชร์ล่ม โดยอ้างตำรวจยักยอกเงิน 5 ล้านบาท ทำให้เหล่าลูกแชร์นับร้อยบุกขอค้นทรัพย์สินในบ้าน กลายเป็นคดีโกงแชร์ที่ได้รับความสนใจและประชาชนต่างติดตามว่าจะจบลงอย่างไร


รวมทั้งทำให้นึกย้อนคดีดัง "แชร์ลูกโซ่" ในอดีต บทเรียนที่เกิดขึ้นไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง แต่ทรูไอดีหวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้เห็นถึงรูปแบบกลโกงที่เพื่อน ๆ ทุกคนต้องระวังกันให้มาก มาเริ่มกันเลยดีกว่า

 

คดีโกงแชร์ "แม่ชม้อย" จุดเริ่มต้นยุค "แชร์ลูกโซ่"

คดีแชร์ลูกโซ่โด่งดังที่ทำให้ภาครัฐยอมออกกฎหมายเพื่อทำให้มีการเล่นแชร์ถูกกฎหมายในประเทศไทยครั้งแรก นั่นคือ "คดีแชร์ลูกโซ่แม่ชม้อย" หรือ คดีนางชม้อย ทิพย์โส ซึ่งคดีนี้กล่าวหานางชม้อย กับพวกรวม 10 คน ผู้ต้องหา ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และฝ่าฝืนพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน


โดยรูปแบบกลโกงในการหลอกล่อเงินของ "แม่ชม้อย" เธอใช้วิธีการรับกู้ยืมเงินจากประชาชนและให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงเป็นรายเดือน

  • กำหนดวิธีการรับกู้ยืมเงินเป็นคันรถบรรทุกน้ำมันคันรถละ 160,500 บาท
  • ให้ผลตอบแทนเดือนละ 12,000 บาท หรือร้อยละ 6.5 ต่อเดือน หรือร้อยละ 78 ต่อปี
  • ในเดือนธันวาคมของทุกปีจะหักเงินไว้ร้อยละ 4 ของผลประโยชน์ที่ได้รับในรอบปี
  • เก็บภาษีการค้าและหักค่าเด็กปั้มไว้อีกเดือนละ 100 บาท ตามจำนวนเดือนที่นำเงินมาให้กู้ยืมโดยจะออกหลักฐานไว้ให้เป็นสัญญากู้ยืมเงินตามแบบที่มีขายอยู่ทั่วไปในท้องตลาด หรือบางรายจะออกหลักฐานให้เป็นเช็ค
  • ผู้ให้กู้ยืมสามารถเรียกคืนเงินต้นเมื่อใดก็ได้และจะกลับมาให้กู้ยืมอีกก็ได้ในเงื่อนไขเดิม

 

และนี่คือ "จุดขาย" ของคดีแชร์ลูกโซ่ หรือคดีแชร์แม่ชม้อย ที่ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากตบเท้ากันเข้ามาร่วมลงทุนจนส่งผลให้เกิดการกู้เงินยืมทั้งหมด 23,519 ครั้ง รวมเป็นเงิน 4,043,997,795บาท นี่จึงถือเป็น "คดีการโกงแชร์ระดับเงินล้าน" เลยทีเดียว

 

มาดูกลวิธีรูปแบบการเล่นแชร์ลูกโซ่ของคดีดังกล่าว โดยช่วงแรก นางชม้อย ได้จ่ายผลประโยชน์หรือดอกเบี้ยให้ผู้ให้กู้เงินตรงตามเวลาที่นัดหมายทุกเดือน นอกจากนั้นใครที่จะถอนเงินต้น ก็สามารถถอนได้ทุกราย ยิ่งสร้างความเชื่อมั่นขึ้นไปอีก

 

รวมทั้งภาพลักษณ์ของ นางชม้อย ยังทำงานอยู่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยอีกด้วย กลายเป็นยิ่งสร้างความเชื่อมั่นดับเบิ้ลแบบดับเบิ้ลให้ประชาชนหลงเชื่อนำเงินไปให้ผู้ต้องการกู้เงินยืมอย่างสนิทใจ โดยไม่เอะใจ ซึ่งในช่วงแรกผู้ให้กู้เงินยืมอยู่ในหมู่ผู้ที่มีฐานะการเงินดี แต่ต่อมาได้แพร่หลายออกไปรวมทั้งประชาชนในต่างจังหวัดก็นิยมและได้แพร่หลายลงไปถึงประชาชนผู้มีฐานะการเงินไม่ดีก็สามารถเล่นได้ 

 

คดีแชร์ลูกโซ่ คดีแรกทำภาครัฐตัดสินใจดัน "การเล่นแชร์" ถูกกฎหมาย

แต่เมื่อ กรมสรรพากร ตรวจสอบเชิงลึก พบว่า นางชม้อย มีบัญชีเงินฝาก 2 ประเภท คือประเภทออมทรัพย์และกระแสรายวัน โดยมีข้อตกลงกับธนาคารว่าให้โอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์เข้ามาบัญชีกระแสรายวันได้เมื่อมีการสั่งจ่ายเช็คเบิกเงินออกไปจากบัญชีกระแสรายวัน และจากการตรวจสอบหลักฐานการฝากถอนเงินในบัญชีเงินฝากของนางชม้อย กับพวกเห็นว่า ได้มีการจ่ายดอกเบี้ยให้ประชาชนเพิ่มขึ้นทุกปีเนื่องมาจากมีผู้ร่วมลงทุนเพิ่มมากขึ้นซึ่งแท้จริงแล้วนางชม้อยกับพวกไม่ได้ทำการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและไม่ได้ประกอบกิจการค้าอื่นใดที่จะได้ผลตอบแทนเพียงพอที่จะนำมาจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ผู้ให้กู้ได้สูงถึงร้อยละ 6.5 ต่อเดือน แต่นางชม้อยใช้วิธีเอาเงินจากเหยื่อรายใหม่มาหมุนเวียนจ่ายให้กับเหยื่อรายเดิมเท่านั้น ถ้าวันไหนไม่มีผู้ร่วมลงทุนรายอื่นมาสมทบก็เท่ากับวงเงินก้อนใหญ่ที่ทุกคนวางเอาไว้ก็จะหายไปด้วย และนี่เองจึงทำให้แม่ชม้อยและพวกได้รับโทษฐานฉ้อโกงไปตามกฎหมาย 

 

คดีนางชม้อย ได้ใช้เวลาสืบพยานในศาลเป็นเวลาประมาณ 4 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงคงจำคุกทั้งสิ้นคนละ 20 ปี เพราะประมวลกฎหมายอาญาให้จำคุกไม่เกิน 20 ปี และให้นางชม้อย กับพวกร่วมกันคืนเงินที่ฉ้อโกงด้วย นางชม้อย จำคุกอยู่ในเรือนจำเพียง 7 ปี 11 เดือน 5 วัน เพราะได้รับการลดลงโทษ 2 ครั้ง และพ้นโทษเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2536

 

หลังจากเกิดคดีแชร์ชม้อย ได้มีการจัดตั้งพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2534 กล่าวคือ ทำให้การเล่นแชร์ถูกกฎหมาย โดยระบุห้ามนิติบุคคลเป็นนายวงแชร์ ห้ามนายวงแชร์ตั้งวงเกิน 3 วง และจำกัดสมาชิกในวงแชร์ทุกวงเกิน 30 คน รวมจำกัดเงินกองกลางแชร์แต่ละงวดห้ามเกิน 300,000 บาท

 


ดูเหมือนว่า เสพ = เล่นแชร์

กลายเป็นวิธีรวยทางลัดที่เกิดซ้ำซากไม่หยุดของคนไทยบางคน

หวังรวยทางลัด แต่ขาดสติเห็นแก่ของราคาถูกจนหลงกลโกง

 

 

ซินแสโชกุน ตุ๋นทัวร์ญี่ปุ่น ลอยแพคนเที่ยวแน่นสนามบิน ใช้มุกเดิม แต่ได้ "เหยื่อใหม่"

อีกหนึ่งการลงทุนในรูปแบบ "แชร์ลูกโซ๋" คือ คดีโกงแชร์ซินแสโชกันที่โด่งดังไม่แพ้กัน! เมื่อเกิดภาพข่าวผู้โดยสารรอขึ้นเครื่องบินอื้อ สรุปไม่ได้ไปเหตุเพราะถูกลอยแพ จนเกิดเป็นคดีความให้สังคมไทยได้ติดตาม เมื่อกลุ่มผู้เสียหายกว่า 30 คน เข้าแจ้งความกับตำรวจกองบังคับการปราบปราม หลังถูกเครือข่ายของนางสาวพิสิษฐ์ อริญชญ์ลาภิศ หรือ ซินแสโชกุน เจ้าของบริษัทแชร์ลูกโซ่ เวลล์ เอฟเวอร์ หลอกขายทัวร์ไปท่องเที่ยวยังเมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ในราคาตั้งแต่ประมาณ 9,000 - 20,000 บาท ระบุว่า เดินทางในวันที่ 11-16 เมษายน 2560 เป็นการเดินทางแบบเครื่องบินเช่าเหมาลำ แต่เมื่อมาถึงกลับไม่มีเที่ยวบิน ผู้เสียหายไม่สามารถเดินทางได้จนตกค้างอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ กว่า 2,000 คน 

 

วิธีกลโกลงในคดีแชร์ลูกโซ่ "ซินแสโชกุน"

สำหรับวิธีกลโกลงในคดี "ซินแสโชกุน" มีหลายรูปแบบ อาทิ ชักชวนประชาชนให้เป็นสมาชิกธุรกิจบริษัทเวลล์ เอฟเวอร์ ซึ่งผู้ที่ตกเป็นเหยื่อไม่รู้ว่าเป็นธุรกิจขายตรง โดยจะเสียค่าสมัครสมาชิก จำนวน 850 บาท แต่หากต้องการเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นในราคาถูก ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 4,750 บาท ก่อนอ้างว่าจะเดินทางจริงในวันที่ 11-17 เมษายน โดยผู้เสียหายบางคนจะถูกหลอกลวงด้วยการให้ซื้อแพคเกจทัวร์โดยตรง ซึ่งใช้วิธีการซื้อผ่าน “เทรดเดอร์”

 

เทรดเดอร์ คืออะไร? คือการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการผ่านทางเว็บไซด์ ซึ่งจะมีมูลค่าของสินค้านั้น ๆ ที่เปรียบเป็นมูลค่าของเงิน เช่น ซื้อทัวร์ผ่านทางเทรดเดอร์ ในจำนวนเงิน 20,000 บาท และโอนเงินสดให้กับแม่ข่ายอีก 10,000 บาท 

 

ในคดีนี้ "ซินแสโชกุน" จำคุก 4,355 ปี และนี่คือรูปแบบแช์ลูกโซ่ การลงทุนที่สอดแทรกกลโกง ด้วยมุกเดิม ๆ แต่ได้ "เหยื่อใหม่เพิ่มไม่รู้จบ" สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยเสพติดของราคาถูก เสพติดเล่นแชร์

 

แชร์แม่มณี ทำสวย หรู ดูแพง แต่โกงแชร์ สะท้อนอย่ามองแต่ภาพลักษณ์คน

สำหรับคดีแชร์แม่มณี นี่ก็โด่งดังชนิดไม่น้อยหน้าคดีดังที่กล่าวข้างต้น แต่เกิดคำถามทำไมคนไทยไม่จำ! เมื่อ น.ส.วันทนีย์​ ทิพย์ประเวช​ หรือ เดียร์ หรือแม่มณี ได้ถ่ายคลิปพร้อมทนายความ ออกมาชี้แจงไปยังลูกแชร์ ระบุว่าที่ตนไม่สามารถคืนเงินลูกแชร์ได้เนื่องจากบัญชีถูกอายัด หลังมีข่าวแชร์แม่มณีวงแตก โดยในวันนี้ เธอได้เช็คอินที่บ่อนในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเธอได้ปิดโทรศัพท์และไม่สามารถติดตามตัวได้ จุดเริ่มต้นของการขุดคุ้ยสู่คดีโด่งดังที่ต้องติดตาม

 

ด้วยภาพลักษณ์ของแม่มณีที่ปรากฎผ่านสื่อ ไปในทางค่อนข้างดี มีลุคเป็นนักธุรกิจ และผู้บริหารอายุน้อย คล้ายกับคนในแวดวงสังคม ซึ่งหากใครยังจำได้แม่มณีได้จัดงานเปิดตัว Manila แบรนด์เครื่องสำอางค์ของตัวเธอเอง ที่มีรูปแบบยิ่งใหญ่ มีการจ้างดาราดัง เซเล็บมากมายมาร่วมงาน จุดนี้เองทำให้ภาพลักษณ์ของเธอยิ่งดูน่าเชื่อถือ 

 

วิธีกลโกลงในคดีแชร์ลูกโซ่ แม่มณี

ส่วนวิธีการในการฉ้อโกงในคดีนี้ แม่มณีใช้วิธีในรูปแบบการลงทุนในลักษณะฝากเงิน ออมเงิน โดยจูงใจผู้คนด้วยการให้ดอกเบี้ยสูงกว่า 93% ทั้งยังมีระยะเวลาในการฝากเพียง 1 เดือน เช่น ฝาก 1,000 รับคืน 1,930 รับคืนทั้งต้นทั้งดอกเบื้ย พร้อมการโฆษณาชวนเชื่อ "โอนจริง โอนไว 100 % เครดิตแน่น ๆ ดอกเบี้ยงาม" ส่งผลให้มีผู้คนต่างระดมเงินที่มีฝากเงิน ออมเงินกับแม่มณี ซึ่งในช่วงแรก แม่มณีจ่ายตรงตามโฆษณาชวนเชื่อ กระทั่ง มีการบอกต่อกันแบบปากต่อปาก จนมีผู้คนผันตัวเป็นแม่ทีมระดมเงินจากเครือข่ายมาลงทุนเพื่อกินส่วนต่าง สุดท้ายแม่มณีถูกจับในที่สุด วงเงินความเสียหายในคดีแชร์แม่มณีสูงกว่า 1,300 ล้านบาท

 

และนี่คือกลโกงของเหล่ามิจฉาชีพ รวมทั้งประเด็นร้อน คดี "ซ้อปลา" ซึ่งหากวิเคราะห์ดูแล้ว รูปแบบ หรือวิธีการที่ใช้ในการหลอกล่อผู้คนเป็นวิธีเดิม ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย แต่สิ่งที่สะท้อนให้เห็นคือ เกิดเหยื่อใหม่เพิ่มขึ้น อาจเป็นไปได้ที่คนไทยบางส่วน

  1. อยากรวยทางลัด
  2. ไม่ศึกษารูปแบบการลงทุน
  3. ขาดความรู้
  4. ไม่เท่าทันกลโกงของเหล่ามิจฉาชีพ
  5. เสพติดการลงทุนทางลัด
  6. ขาดสติในการลงทุนอย่างมาก

 

 

เล่นแชร์ทั้งที ต้องเช็กให้ดี

 

เมื่อลดอาการเสพติดการเล่นแชร์ไม่ได้ ก็ต้องเพิ่มความรู้เกี่ยวกับกฎหมายในการเล่นแชร์ที่ถูกกฎหมายไว้ด้วย จะได้เท่าทันกลโกง โดยสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม เผยแพร่ความรู้ ก่อนเล่นแชร์ ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก "สำนักงานกิจการยุติธรรม" โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

1. ห้ามนิติบุคคลเป็นท้าวแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์

  • ฝ่าฝืน : ปรับตั้งแต่ 1 เท่าหรือ 3 เท่าของกองกลางแต่ละงวดของทุกวงแชร์ ไม่น้อยกว่า 200,000 บาท และให้ศาลสั่งหยุดดำเนินการทันที

 


2. ห้ามโฆษณาหรือประกาศชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมเล่นแชร์

  • ฝ่าฝืน : ปรับไม่เกิน 50,000 บาท

 

 

3. ตั้งวงแชร์ได้ แต่ห้าม

  • ห้ามตั้งวงแชร์รวมกันเกิน 3 วง
  • ห้ามมีสมาชิกทุกวงรวมกันเกิน 30 คน
  • ห้ามมีเงินกองทุนหรือเงินกองกลางต่อ 1 งวดรวมกันเกิน 300,000 บาท
  • ห้ามท้าวแชร์ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น นอกจากเงินกองกลางการเล่นแชร์เท่านั้น ฝ่าฝืน : - จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • การเล่นแชร์จะตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับตั้งแต่ต้น (ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150)
  • ท้าวแชร์จะฟ้องเรียกลูกแชร์ให้ชำระค่าแชร์ที่ยังไม่ชำระไม่ได้


4. เช็คข้อมูลของท้าวแชร์ และ สมาชิกร่วมวงแชร์ ก่อนเล่น

  • เช่น ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ อาชีพ ฐานะทางการเงิน บัญชีธนาคาร อาชีพ ฐานะทางการเงิน

 

ท้าวแชร์หนีหรือโกง ต้องทำอย่างไร?

  • มีเจตนาทำวงแชร์ และสมัครใจแล่นแชร์กัน แต่บริหารผิดพลาด : สมาชิกวงแชร์ฟ้องร้องคดีแพ่งเรียกเงินคืนได้
  • ไม่มีเจตนาทำวงแชร์ และหลอกลวงตั้งใจเชิดเงินหนี : สมาชิกวงแชร์แจ้งความดำเนินคดีอาญาฐาน “ฉ้อโกง”

 

อย่าลืมเตรียม เอกสารหลักฐานที่ต้องเตรียม เมื่อถูกท้าวแชร์โกง

 

  • หน้า Facebook , Page , Line ของท้าวแชร์ และคำเชิญชวนที่โพสต์ในออนไลน์
  • ข้อมูลของท้าวแชร์ เช่น บัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร เบอร์โทรติดต่อ ที่อยู่
  • สเตทเมนต์พร้อมไฮไลท์ยอดที่โอนให้ท้าวแชร์ ให้ตรงกับสลิปที่โอนเงินให้
  • แยกยอดเงินระหว่างเงินส่งแชร์ และเงินที่ได้ดอกในวงแชร์ให้ชัดเจน

 

 

เล่นแชร์ลูกโซ่ ลูกแชร์เปียแชร์แล้วหนี ทาวร์แชร์ทำยังไง?

  • วงแชร์ : ต้องดำเนินการให้มีการเล่นแชร์ต่อไป
  • ท้าวแชร์ : ต้องรับผิดชอบสำรองจ่ายแทน และฟ้องร้องคดีแพ่งไล่เบี้ยเงินจากลูกแชร์ที่หลบหนี หรือถ้าตั้งใจจะเชิดเงินตั้งแต่แรก ฟ้องร้องคดีอาญาฐาน “ยักยอกทรัพย์” (ตาม ป.อ. มาตรา 352)

 

โดนโกงแชร์แจ้งที่ไหน?

สำหรับช่องทางในการแจ้งความเมื่อโดนโกงแชร์ มี 3 ช่องทางดังนี้ 

  1. แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ที่สถานีตำรวจ
  2. ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ (การเล่นแชร์) สายด่วน 1359
  3. แจ้งความร้องทุกข์องที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (มูลค่าความเสียหายเกินกว่า 5 ล้านบาท)

 

 

 

หวังว่าคดีแชร์ลูกโซ่ที่ผ่านมา จะเป็นข้อมูลให้ทุกคนได้รู้เท่าทัน ลดความเสี่ยงที่จะเกิดการฉ้อโกง หรือโกงแชร์ได้บ้าง เพราะตัวอย่างจากคดีดังตั้งแต่ในอีด อย่างคดีแชร์แม่ชม้อย มาถึงยุคคดีแชร์ลูกโซ่ 2565 อย่าง "แชร์ forex" ที่สะเทือนคนในวงการบันเทิงให้ต้องเอี่ยวผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัว หรือรู้ไม่เท่าทัน

 

อย่าหวังรวยทางลัด สู่เส้นทางหมดตัวได้

สะท้อนให้เห็นว่า การหวังรวยทางลัด หรือหลงเชื่อของราคาถูก ทำให้ตกเป็นเหยื่อใหม่มากมาย เสียทั้งเวลาและเสียทั้งทรัพย์สิน ดังนั้น ตั้งสติไว้เสมอ "ไม่เชื่อ  ไม่รีบ ไม่โอน" ไว้ก่อน จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ รวมทั้งอย่าลืมศึกษาข้อควรระวัง ความรู้ กลโกงบนโลกออนไลน์จากหน่วยงานภาครัฐที่เชื่อถือได้ เพื่อสร้างเกราะป้องกันให้ตัวเองด้วย

 

รู้ให้ทันแชร์ลูกโซ์ รู้ทันโกงแชร์กันนะ

 

 

ข้อมูล : มติชน, กรุงเทพธุรกิจ, วิกิพีเดีย

 

 

บทความเกี่ยวกับ forex3D

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง