โควิด-19 : เราควรฉีดวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ให้เด็กทุกคนหรือเปล่า
การฉีดวัคซีนให้เด็ก ๆ เป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นสำหรับโรคหัด คางทูม โปลิโอ คอตีบ ไวรัสโรตา ไอกรน และยังมีอีกหลายอย่างเกินจะนับไหว ในบางกรณีเริ่มให้ตั้งแต่เด็กยังอายุไม่กี่สัปดาห์
แล้วกรณีของโควิด-19 เด็กต้องได้รับการฉีดวัคซีนหรือไม่
บางประเทศเดินหน้าให้วัคซีนกับเด็กเต็มที่ อย่างสหรัฐฯ ฉีดวัคซีนให้เด็กที่อายุระหว่าง 12-15 ปี ราว 6 แสนคนแล้ว พวกเขาบอกว่าปีหน้าจะมีข้อมูลมากพอให้แน่ใจว่าวัคซีนปลอดภัยสำหรับเด็กอายุน้อยกว่านั้นอีก
ในสหราชอาณาจักร ผู้ใหญ่ทุกคนน่าจะได้วัคซีนภายในเดือน ก.ค. แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจเรื่องเด็ก
นี่เป็นคำถามเชิงวิทยาศาสตร์ การให้วัคซีนเด็กจะช่วยรักษาชีวิตคนได้ไหม แต่ละประเทศตอบคำถามนี้ไม่เหมือนกัน แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นคำถามเชิงศีลธรรมด้วย เราควรจะเอาวัคซีนที่จะให้เด็ก ๆ ในประเทศ ไปให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้สูงอายุที่เปราะบางในประเทศอื่นก่อนไหม เพราะอาจจะรักษาชีวิตคนไว้ได้มากกว่า
โอกาสเสี่ยงต่ำมากสำหรับเด็ก
เหตุผลหนึ่งที่คนบอกว่าไม่ต้องฉีดให้เด็กคือจะทำให้เกิดประโยชน์น้อยมาก
ศาสตราจารย์อดัม ฟินน์ ซึ่งอยู่ในคณะกรรมาธิการร่วมด้านการให้วัคซีนและภูมิคุ้มกันของสหราชอาณาจักร บอกว่า เรื่องดีอย่างหนึ่งของการระบาดในครั้งนี้คือเด็กมีโอกาสป่วยหนักจากเชื้อโควิด-19 ต่ำมาก
เด็กที่ติดเชื้อมักจะมีอาการน้อยมากหรือไม่แสดงอาการเลย ซึ่งแตกต่างกับกลุ่มคนที่อายุมากกว่าซึ่งได้รับสิทธิ์ฉีดวัคซีนก่อน
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารแลนเซ็ต (Lancet) ซึ่งศึกษาข้อมูลจาก 7 ประเทศ ประเมินว่ามีเด็กน้อยกว่า 2 ในหนึ่งล้านคนที่เสียชีวิตจากโควิด-19
ในสหราชอาณาจักร แม้กระทั่งเด็กที่มีปัญหาสุขภาพแบบที่ถ้าผู้ใหญ่เป็นจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิดมาก ก็ยังไม่มีโอกาสจะรับวัคซีนเลย มีแต่เด็กที่มีโอกาสเสี่ยงได้รับเชื้อสูงเท่านั้น - ซึ่งอาจหมายถึงเด็กที่อายุมากกว่าและมีความพิการรุนแรง - ที่ได้รับคำแนะนำให้รับวัคซีน
จริง ๆ แล้ว ตัววัคซีนปลอดภัยมาก แต่ก็ยังต้องชั่งน้ำหนักเรื่องประโยชน์และความเสี่ยงอื่น ๆ อยู่
อาจจะดีสำหรับบางประเทศ
การให้วัคซีนเด็กอาจเป็นประโยชน์เพราะจะช่วยรักษาชีวิตคนรอบข้างได้
มีการใช้วิธีคิดแบบนี้แล้วกับไข้หวัดใหญ่ โดยเด็กในสหราชอาณาจักรที่อายุระหว่าง 2 ถึง 12 ปี จะได้รับสเปรย์พ่นจมูก โดยหลัก ๆ แล้วก็เพื่อช่วยปกป้องปู่ย่าตายายของพวกเขา
อีกเหตุผลหนึ่งก็คืออาจจะช่วยทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่นั่นเอง เพราะวัคซีนดูเหมือนจะสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อได้ดี แค่วัคซีนหนึ่งเข็มดูเหมือนจะลดการติดเชื้อได้ถึงครึ่งหนึ่ง และแม้ว่าคน ๆ นั้นจะติดเชื้อขึ้นมาก็มีแนวโน้มจะนำไปแพร่ต่อน้อยลงถึงครึ่งหนึ่ง
ดูเหมือนเด็กเล็กจะไม่ได้เป็นคนที่ทำให้เชื้อแพร่กระจายมาก แต่เด็กที่โตขึ้นมาหน่อยก็ยังมีส่วนในการแพร่เชื้ออยู่
ดร.อดัม คูชาสกี จากวิทยาลัยสุขอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน (London School of Hygiene and Tropical Medicine) บอกว่า มีหลักฐานว่าเด็กระดับชั้นมัธยมนำเชื้อไปแพร่ระบาด ดังนั้นการให้วัคซีนกับเด็กช่วงอายุนี้ก็สามารถส่งผลต่อสถานการณ์การแพร่เชื้อโดยรวมได้
แต่ผู้เชี่ยวชาญก็เห็นไม่ตรงกันว่าสมควรจะฉีดให้เด็กด้วยไหม
ตอนนี้ เด็กอายุ 16-17 ปี ในอังกฤษ มากกว่า 25% มีแอนติบอดีในตัวเองทั้ง ๆ ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ดังนั้น สหราชอาณาจักรและประเทศที่มีสถานการณ์คล้าย ๆ กันอาจสร้างระบบภูมิคุ้มกันขึ้นได้มากพอโดยที่ไม่ต้องไปฉีดวัคซีนให้เด็กด้วย
เชิงศีลธรรม
ที่น่าคิดคือถ้าเด็กคนหนึ่งได้รับวัคซีน จะมีอีกคนที่พลาดโอกาสนั้นไป
องค์การอนามัยโลกบอกว่าประเทศที่ร่ำรวยควรจะเลื่อนแผนฉีควัคซีนให้เด็กไปก่อนและบริจาควัคซีนที่มีให้ประเทศอื่น ๆ ศาสตราจารย์แอนดรูว์ พอลลาร์ด ซึ่งเป็นผู้ควบคุมการทดลองวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า บอกว่า เป็นเรื่องที่ "ผิดศีลธรรม" หากจะให้วัคซีนเด็กก่อน
ศาสตราจารย์เอลีนอร์ ไรลีย์ นักภูมิคุ้มกันวิทยาจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ บอกว่า หากมีวัคซีนไม่จำกัด ก็ควรเดินหน้าให้วัคซีนเด็กที่อายุมากกว่า 12 ปีต่อไป แต่นี่ไม่ใช่อย่างนั้น
"ในที่สุดก็จะเป็นการตัดสินใจทางการเมืองว่าจะให้ความสำคัญกับเด็กก่อนผู้ใหญ่ที่อื่นในโลกที่กำลังล้มตายเป็นจำนวนมากหรือเปล่า"