รีเซต

นักวิทยาศาสตร์ เตรียมคืนชีพ "แมมมอธ" หวังช่วยลดโลกร้อนในแถบขั้วโลกเหนือ

นักวิทยาศาสตร์ เตรียมคืนชีพ "แมมมอธ" หวังช่วยลดโลกร้อนในแถบขั้วโลกเหนือ
TNN ช่อง16
15 กันยายน 2564 ( 23:37 )
306
นักวิทยาศาสตร์ เตรียมคืนชีพ "แมมมอธ" หวังช่วยลดโลกร้อนในแถบขั้วโลกเหนือ

การคืนชีพของไดโนเสาร์ในภาพยนตร์ Jurassic Park น่าจะเป็นซีนที่หลายคนจดจำ และเป็นแรงบันดาลใจให้นักวิทยาศาสตร์อยากคืนชีพให้กับสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง มีแผนที่จะคืนชีพ "แมมมอธ" ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง




แมมมอธเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำในยุคน้ำแข็ง จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับช้างในยุคปัจจุบัน แต่แตกต่างกันที่ตามตัวของพวกมันจะมีขนปุกปุยและมีงาที่ยาวสวยกว่า เมื่อหลายพันปีก่อนพวกมันถูกมนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์ไล่ล่าเพื่อนำส่วนต่าง ๆ มาใช้ในการดำรงชีวิต ตั้งแต่นำมาทำเป็นอาหาร ไปจนถึงเครื่องนุ่งห่มและเครื่องประดับ


เมื่อเวลาผ่านเลยไปโลกเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลง มีการสิ้นสุดของยุคน้ำแข็งประกอบกับการไล่ลาจนเกินพอดีของมนุษย์ ทำให้แมมมอธเหล่านั้นสูญพันธุ์ เหลือไว้แต่เพียงซากภายใต้ผืนน้ำแข็ง ซึ่งมีไม่น้อยที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์เพราะน้ำแข็งช่วยคงสภาพของพวกมันไว้ไม่ให้เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา


และนั่นทำให้ จอร์ช เชิร์ช และทีมนักวิทยาศาสตร์จากบริษัทสตาร์ตอัป Colossal ซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ต้องการฟื้นคืนชีพให้แมมมอธอีกครั้ง โดยเรียกว่าการ "De-extinction" นั่นเอง


กระบวนการคืนชีพนี้มีอยู่ด้วยกัน 13 ขั้นตอน โดยขั้นตอนแรกที่จะเริ่มดำเนินการนั้น คือการศึกษาลำดับพันธุกรรมของช้างในเอเชีย ซึ่งเชื่อว่ามีลำดับที่เหมือนกับแมมมอธมากถึง 99.6% จากนั้นจึงจะทำการศึกษาลำดับพันธุกรรมของช้างแมมมอธซึ่งได้จากซากที่ค้นพบ และเก็บไว้ในห้องแลปเมื่อปี 2018


เมือ่ได้ลำดับพันธุกรรมมาเรียบร้อย จอร์ชและทีมงานจะเปรียบเทียบพันธุกรรมของช้างเอเชียและแมมมอธว่ามีจุดใดที่แตกต่างกัน แล้วจึงใช้เทคโนโลยี CRISPR (คริสเปอร์) เพื่อตัดแต่งสารพันธุกรรมของช้างเอเชียให้เหมือนลำดับของช้างแมมมอธ ก่อนที่จะนำมาทดสอบว่าเซลล์ที่ได้จากการเติบโตของสารพันธุกรรมนี้สามารถอยู่รอดในอุณหภูมิที่หนาวเย็นได้หรือไม่ หากอยู่รอดได้ก็จะนำไปดำเนินการขั้นตอนถัดไป


เมื่อได้เซลล์ที่ต้องการแล้ว นักวิทยาศาสตร์จะสกัดเอานิวเคลียสของเซลล์ไปปลูกถ่ายไว้ที่เซลล์ไข่ จนกว่าเซลล์จะเริ่มมีการแบ่งตัวเหมือนการเติบโตของตัวอ่อน จากนั้นจึงนำเซลล์ตัวอ่อนนี้ไปฝังที่มดลูกของช้างแอฟริกา (ไม่ทราบเหตุผลที่แท้จริงของการฝังตัวอ่อนไว้ที่ช้างแอฟริกา ไม่ใช่ช้างเอเชีย) ให้อุ้มท้องนาน 22 เดือน เมื่อคลอดลูกช้างออกมา ช้างตัวนั้นจะกลายเป็นแมมมอธตัวแรกที่ฟื้นคืนชีพนั่นเอง


แมมมอธที่ฟื้นคืนชีพขึ้นมานี้ นอกจากทำเพื่อการศึกษาแล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังเชื่อว่าพวกมันมีบทบาทที่ช่วยชะลอสภาพอากาศอันเลวร้ายจากโลกร้อน ให้กับพื้นที่ในบริเวณขั้วโลกเหนืออีกด้วย เช่น การช่วยลดปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และยับยั้งการกระจายของแก๊สมีเทน ดังนั้น การกระทำเหล่านี้ไม่เพียงแต่แสดงถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ แต่ยังเป็นการช่วยชะลอความรุนแรงของภาวะโลกร้อนด้วย


ขอขอบคุณข้อมูลจาก Interesting Engineering

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง