รีเซต

ตะลึง! คืนชีพพยาธิตัวกลมโบราณ จำศีลนาน 46,000 ปี

ตะลึง! คืนชีพพยาธิตัวกลมโบราณ จำศีลนาน 46,000 ปี
TNN ช่อง16
31 กรกฎาคม 2566 ( 13:28 )
132

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบและฟื้นคืนชีพหนอนพยาธิตัวกลมที่ถูกแช่แข็งในชั้นดินเยือกแข็งคงตัว (Permafrost) ในไซบีเรียเมื่อ 46,000 ปีก่อน


ศาสตราจารย์กิตติคุณ เทย์มูรัส เคอร์สชาเลีย (Teymuras Kurzchalia) จากสถาบันแม็กซ์ แพลนค์ด้านเซลล์โมเลกุลและพันธุกรรม (Max Planck Institute of Molecular Cell Biology and Genetics) ในเยอรมนี หนึ่งในนักวิจัยของโครงการกล่าวกับสำนักข่าว CNN ของสหรัฐอเมริกาว่า พยาธิตัวกลมสายพันธุ์ที่ไม่เคยพบมาก่อน ถูกพบใต้พื้นผิวที่ความลึก 40 เมตร ในสภาพไร้ความเคลื่อนไหว (Dormant state) ที่เรียกว่า “คริปโตไบโอซิส” (Cryptobiosis) หรือสภาวะเสมือนไร้ชีวิต ที่คล้ายกับการจำศีล


เคอร์สชาเลีย อธิบายว่า สิ่งมีชีวิตในสถานะดังกล่าวจะมีภาวะที่ร่างกายลดอัตราการเผาผลาญพลังงานหรือเมตาบอลิซึมลง สู่ระดับที่ต่ำมากจนแทบไม่สามารถตรวจวัดเมตาบอลิซึมเลย ทำให้ดูเหมือนตายไปแล้ว นอกจากนี้ พวกมันยังสามารถทนต่อการขาดน้ําหรือออกซิเจนอย่างสมบูรณ์ ทั้งยังทนต่ออุณหภูมิสูง สภาวะเยือกแข็งหรือระดับเค็มยิ่งยวดได้เช่นกัน


การค้นพบพยาธิตัวกลมที่เข้าสู่สภาพเสมือนไร้ชีวิตและกลับมามึชีวิตอีกครั้งภายหลังหลายหมื่นปีจึงถือว่าเป็นการค้นพบครั้งสำคัญ


ฟิลิปป์ ชิฟเฟอร์ (Philipp Schiffer) หัวหน้าคณะวิจัยของสถาบันสัตววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยโคโลญจน์ (University of Cologne) ในเยอรมนี หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในการศึกษากล่าวว่า การได้เห็นวิถีเมตาบอลิซึมแบบเดียวกันนี้ถูกใช้ในสปีชีส์โบราณที่อยู่ห่างออกไป 200-300 ล้านปีนั้นน่าทึ่งมาก ซึ่งหมายความว่ากระบวนการบางอย่างได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างลึกซึ้งในช่วงของวิวัฒนาการ


ชิฟเฟอร์ ยังเชื่อว่า การศึกษาการปรับตัวของสปีชีส์ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่สุดขั้วต่าง ๆ ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลพันธุกรรมของพวกมันจะช่วยให้มนุษย์สามารถพัฒนากลยุทธ์การอนุรักษ์ที่ดีขึ้นขณะเผชิญกับภาวะโลกร้อน


ทั้งนี้ นี่ไม่ใช่การฟื้นคืนชีพหนอนโบราณครั้งแรกประมาณ 5 ปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันปัญหาทางเคมีกายภาพและชีวภาพในวิทยาศาสตร์ดิน (the Institute of Physicochemical and Biological Problems in Soil Science) ในรัสเซียพบพยาธิตัวกลมอีก 2 ชนิดในชั้น Permafrost ที่ไซบีเรียเช่นกัน 


ที่มาของข้อมูล Edition.CNN.com  

ที่มาของรูปภาพ Alexei V. Tchesunov and Anastasia Shatilovich/Institute of Physicochemical and Biological Problems in Soil Science RAS

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง