รีเซต

นายกรัฐมนตรีปากีสถานคนใหม่ ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์จีนอย่างไร

นายกรัฐมนตรีปากีสถานคนใหม่ ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์จีนอย่างไร
TNN ช่อง16
20 เมษายน 2565 ( 11:29 )
117
นายกรัฐมนตรีปากีสถานคนใหม่ ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์จีนอย่างไร

นักวิเคราะห์จาก South China Morning Post มองว่า เซห์บาซ ชารีฟ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของปากีสถานส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของจีน และทำให้มีบทบาทที่เข้มแข็งในภูมิภาคมากขึ้น


การขึ้นสู่อำนาจของเชบาซ ชารีฟ ในปากีสถานทำให้จีนอยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบ เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านทางตะวันตกล้วนมีรัฐบาลที่เป็นมิตรกับจีน


นี่ยังหมายความว่าจีนจะมีส่วนได้ส่วนเสีย ในปัญหามากมายที่เล็ดลอดออกมาจากภูมิภาคนี้ ซึ่งจะส่งผลให้จีนให้มีบทบาทที่เข้มแข็งในภูมิภาคมากขึ้น


ราฟาเอลโล พันทุชชี จากสถาบันเพื่อการกลาโหมและความมั่นคงศึกษา ( RUSI ) ในกรุงลอนดอน ของอังกฤษ มองว่า การเลือกที่ เชห์บาซ ชาริฟ ได้รับเลือกจากรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของปากีสถานทำให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย ที่จะทำให้จีนอยู่ในตำแหน่งที่ดีในภูมิภาคยูเรเชีย


---ความใกล้ชิดจีนกับตระกูลชารีฟ---


ก่อนหน้านี้จีนก็เคยมีความสัมพันธ์ที่ดี “นาวาซ ชาริฟ” อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นน้องชายของ เชห์บาซ ชารีฟ นายกรัฐมนตรีคนใหม่มาก่อน


ในช่วงเวลานั้น โครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถานถูกเรียกแบบติดตลกว่าเป็น "ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปัญจาบ" เพราะการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดและน่าสนใจที่สุดจำนวนมาก ดูเหมือนจะมุ่งไปยังรัฐปัญจาบซึ่งเป็นบ้านเกิดของนาวาซ ชาริฟ ซึ่งในขณะนั้น หัวหน้าคณะรัฐมนตรีของรัฐปัญจาบคือ เชห์บาซ ชาริฟ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของปากีสถานนั่นเอง


อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า ความจริงก็คือการลงทุนของโครงการระเบียงเศรษฐกิจดังกล่าวกระจายไปทั่วปากีสถานอย่างเป็นธรรม แม้ว่าอัตราความสำเร็จในรัฐปัญจาบและสินธุจะดูดีกว่า นั่นเป็นเพราะว่า รัฐปัญจาบเป็นภูมิภาคที่มีประชากรมากที่สุดของปากีสถาน จึงไม่แปลกที่จีนเน้นการลงทุนที่นั่น


แต่ถ้ามองอีกมุม ก็อาจจะกล่าวได้ว่า การเอนเอียงเทการลงทุนไปยังรัฐปัญจาบ ยังสะท้อนให้เห็นว่าจีนชื่นชอบ เชห์บาซ ชาริฟ และพบว่าเขาเป็นผู้นำที่มีความสามารถที่จะร่วมงานด้วย


---จีนต้องการผู้นำที่เด็ดขาด---


ตอนนี้ ชารีฟก้าวขึ้นสู่อำนาจ หลังจากการปกครอง ของอิมราน ข่าน อดีตนักคริกเก็ตสตาร์คริกเก็ต แม้ว่าจีนจะระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงการแสดงความพึงพอใจต่อผู้นำคนหนึ่งมากกว่าผู้นำอีกคนหนึ่ง แต่จีนกลับชอบให้มีผู้นำที่เด็ดขาดและมีประสิทธิภาพ


ข่าน ได้รับการยอมรับก่อนหน้านี้ เพราะถูกคาดว่าจะสนับสนุนฝ่ายทหาร และมักจะสนับสนุนจีนในประเด็นเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในซินเจียง อุยกูร์ แต่เมื่อไม่นานมานี้ จีนต้องเผชิญกับปัญหาหลายอย่าง เช่น ประชาชนและผลประโยชน์ของจีนตกเป็นเป้าโจมตีจากกลุ่มติดอาวุธปากีสถาน


ดังนั้น จีนจึงชอบผู้นำอย่างเช่น นายพล เปอร์เวซ มูชาร์ราฟ อดีตประธานาธิบดีปากีสถาน ที่เขามักจะจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ก่อนใคร และพยายามทำให้จีนพอใจ แม้จะเกิดปัญหาภายในประเทศก็ตาม


นักวิเคราะห์จึงมองว่า ชารีฟจึงเป็นทางเลือกที่ยอดเยี่ยมจากมุมมองของจีน


---กองทัพปากีสถานปฏิเสธ ร่วมมือกับสหรัฐฯ---


หลังเซห์บาซ ชารีฟ ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของปากีสถาน อดีตนายกรัฐมนตรี อิมราน ข่าน ได้กล่าวหาว่า ฝ่ายค้านสมคบคิดกับสหรัฐอเมริกา ในการขับเขาให้พ้นจากอำนาจ ด้วยญัตติไม่ไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎรจนทำให้นายข่านพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา


แต่โฆษกกองทัพปากีสถาน แถลงปฏิเสธทฤษฎีที่นายอิมราน ข่าน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวหา


ก่อนหน้านี้ นายข่านและพรรครัฐบาลพยายามขัดขวางการเสนอญัตติไม่ไว้วางใจดังกล่าว ด้วยการประกาศยุบสภาและประกาศเลือกตั้งล่วงหน้า แต่ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนคำร้องของฝ่ายค้านแล้วเห็นว่าพฤติกรรมของนายข่านและรัฐบาลขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงมีคำสังให้เดินหน้าญัตติไม่ไว้วางใจได้


กองทัพปากีสถาน ยังระบุด้วยว่า สหรัฐฯ ไม่เคยขอตั้งฐานทัพในปากีสถาน หลังจากกองทัพพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯ ถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว


---ข่านชี้ สหรัฐฯ ต้านเพราะเขาไม่คว่ำบาตรรัสเซีย---


นายข่าน อดีตนักกีฬาคริกเกตชื่อดัง วัย 69 ปี กล่าวหาว่าที่สหรัฐฯ สนับสนุนการขับเขาพ้นจากอำนาจเพราะเขาไม่ยอมฟังคำแนะนำและยังเดินทางไปเยือนรัสเซีย เพื่อพบปะหารือกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หรือ วันเดียวกับที่รัสเซียเริ่มเปิดปฏิบัติการทางทหารในยูเครน และยังเคยให้สัมภาษณ์ออกโทรทัศน์ระบุว่า จะไม่ยอมให้สหรัฐฯเข้ามาตั้งฐานทัพ หากมีการร้องขอมา


ขณะที่สหรัฐฯ ได้ปฏิเสธแล้วว่าไม่ได้ร่วมมือกับฝ่ายค้านของปากีสถานตามที่นายข่านกล่าวหา


ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ได้ส่งสารแสดงความยินดีต่อ เชห์บาซ ชารีฟ ที่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของปากีสถาน ระบุ พร้อมจะสานต่อความร่วมมือที่มีมาอย่างยาวนาน เป็นการส่งสัญญาณถึงความปรารถนาของสหรัฐฯ ในการกลับไปสานสัมพันธ์ที่ร้าวฉาน ที่เป็นผลมาจากการที่อดีตนายกรัฐมนตรีอิมราน ข่านเคยกล่าววิพากษ์ตำหนิสหรัฐฯ อย่างรุนแรง

—————

ติดตามสถานการณ์ยูเครน-รัสเซียอย่างใกล้ชิด

https://bit.ly/TNNRussiaInvasion

—————

แปล-เรียบเรียง: สุภาพร เอ็ลเดรจ

ภาพ: Reuters



ข่าวที่เกี่ยวข้อง