รีเซต

อิหร่าน : ทำความเข้าใจระบบปกครองอิหร่านที่ผู้นำสูงสุดควบคุมทุกความเป็นไปของประเทศ

อิหร่าน : ทำความเข้าใจระบบปกครองอิหร่านที่ผู้นำสูงสุดควบคุมทุกความเป็นไปของประเทศ
ข่าวสด
19 มิถุนายน 2564 ( 09:48 )
99
อิหร่าน : ทำความเข้าใจระบบปกครองอิหร่านที่ผู้นำสูงสุดควบคุมทุกความเป็นไปของประเทศ

อิหร่านมีระบบการปกครองที่ซับซ้อนและไม่เหมือนใคร เป็นการผสมระบอบเทวาธิปไตยของศาสนาอิสลามเข้ากับประชาธิปไตย มีเครือข่ายสถาบันที่ผู้นำสูงสุดเป็นผู้ควบคุม ควบคู่ไปกับประธานาธิบดีและระบบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน

 

มาดูกันว่าระบบการปกครองอิหร่านทำงานอย่างไร และใครเป็นผู้ถือครองอำนาจไว้

 

ผู้นำสูงสุด

 

Reuters
อยาตอลเลาะห์ คาเมเนอี ขึ้นครองตำแหน่งเป็นคนที่สองในปี 1989

เขาเป็นบุคคลที่ทรงอำนาจที่สุดในประเทศ ซึ่งเพิ่งมีมาสองคนตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามในอิหร่านในปี 1979 เริ่มจากอยาตอลเลาะห์ โคไมนี ที่โค่นล้มพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี เปลี่ยนระบอบกษัตริย์เป็นสาธารณรัฐ

 

Anadolu Agency

ผู้นำสูงสุดเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกองทัพและกองกำลังความมั่นคง เขาเป็นผู้แต่งตั้งหัวหน้าคณะตุลาการ, ครึ่งหนึ่งของสภาผู้พิทักษ์ (Guardian Council) อันทรงอำนาจ, ผู้นำคนต่าง ๆ ในการละหมาดในวันศุกร์ รวมถึงผู้อำนวยการเครือข่ายโทรทัศน์และวิทยุของรัฐต่าง ๆ ในประเทศ นอกจากนี้ องค์กรการกุศลที่มีทุนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของเขายังมีอิทธิพลอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ

 

หลังจากอยาตอลเลาะห์ โคไมนี เสียชีวิตในปี 1989 อยาตอลเลาะห์ คาเมเนอี ก็ได้ขึ้นครองตำแหน่งเป็นคนที่สอง และยังควบคุมอำนาจและจัดการกับภัยต่อความมั่นคงของชนชั้นปกครองนี้ได้อย่างเด็ดขาด

 

ประธานาธิบดี

 

EPA
ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ชนะการเลือกตั้งมาอย่างถล่มทลายสองครั้ง

ประธานาธิบดีอิหร่านมาจากการเลือกตั้งโดยจะทำหน้าที่สมัยละ 4 ปี และห้ามเกิน 2 สมัย รัฐธรรมนูญระบุว่าประธานาธิบดีเป็นผู้คนที่มีตำแหน่งสูงสุดเป็นอันดับที่ 2 เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร และมีหน้าที่ทำให้ประเทศดำเนินไปตามรัฐธรรมนูญ เขามีอิทธิผลอย่างมากในการกำหนดนโยบายในประเทศและต่างประเทศ แต่ก็เป็นผู้นำสูงสุดที่มีอำนาจในการตัดสินใจสูงสุด

 

เมื่อ 18 มิ.ย. ชาวอิหร่านไปใช้สิทธิเลือกผู้นำคนใหม่ต่อจากประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ซึ่งชนะการเลือกตั้งมาอย่างถล่มทลายสองครั้ง

 

อิหร่านไม่อนุญาตให้ผู้หญิงลงสมัคร ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีต้องได้รับการอนุมติจากสภาผู้พิทักษ์ โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้มี 7 คน จากทั้งหมด 590 คน ที่ผ่านการเห็นชอบ ต่อมา ผู้สมัครที่ผ่านความเห็นชอบแล้วถอนตัวไป 3 คน เมื่อ 17 มิ.ย.

 

การเลือกตั้งครั้งนี้มีขึ้นในห้วงเวลาอันเปราะบางในอิหร่าน ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาจากการถูกนานาชาติคว่ำบาตรจากการดำเนินโครงการนิวเคลียร์ ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำ

 

ทางการอิหร่านคาดว่า จะมีผู้ออกไปใช้สิทธิ 40% ของผู้มีสิทธิออกเสียงในประเทศ 59 ล้านคน ซึ่งถือเป็นตัวเลขต่ำเป็นประวัติการณ์ สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดี

 

รัฐสภา

 

สมาชิกรัฐสภา 290 คนมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน มีอำนาจในการเสนอกฎหมายและปฏิเสธการเสนองบประมาณประจำปี รวมถึงสามารถเรียกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีมากล่าวโทษและถอดถอนได้ อย่างไรก็ดี กฎหมายที่รัฐสภาอนุมัติก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้พิทักษ์อยู่ดี

 

นักการเมืองสายแข็งกร้าวได้ชัยชนะครั้งใหญ่ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2020 หลังจากสภาผู้พิทักษ์ตัดสิทธิ์ผู้ลงสมัครมากกว่า 7,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองสายปฏิรูปและผู้นิยมสายกลาง

 

EPA

สภาผู้พิทักษ์

 

AFP
อยาตอลเลาะห์ อาหมัด จันนาตี เป็นประธานทั้งสภาผู้พิทักษ์ และสมัชชาผู้เชี่ยวชาญ

นี่เป็นสถาบันที่ทรงอำนาจที่สุดในอิหร่าน มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาเห็นชอบหรือคัดค้านกฎหมายที่รัฐสภาผ่านมติมา สมาชิกที่ได้รับเลือกจะทำหน้าสมัยละ 6 ปี โดยการเลือกตั้งในแต่ละครั้งเป็นสำหรับสมาชิกบางส่วน ทำให้สมาชิกครึ่งหนึ่งของสภาถูกเปลี่ยนใหม่ทุกสามปี

 

สภานี้ถูกครองอำนาจโดยคนจากฝ่ายสายแข็ง รวมถึงประธานสภาอย่างอยาตอลเลาะห์ อาหมัด จันนาตี

 

สมัชชาผู้เชี่ยวชาญ

 

สมัชชาผู้เชี่ยวชาญ (Assembly of Experts) มีสมาชิก 88 คน ประกอบไปด้วยนักวิชาการด้านศาสนาอิสลามและผู้นำศาสนา เป็นผู้เลือกผู้นำสูงสุดและคอยจับดามองการบริหารประเทศของเขา และก็มีอำนาจที่จะปลดผู้นำสูงสุดด้วย

 

แม้จะไม่เคยมีกรณีการท้าทายผู้นำสูงสุดมาก่อน แต่มองกันว่าสมัชชานี้สำคัญขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเริ่มมีความกังวลเรื่องสุขภาพของ อยาตอลเลาะห์ คาเมเนอี ซึ่งอายุ 82 ปี แล้ว หากผู้นำสูงสุดคนปัจจุบันเสียชีวิตหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ สมัชชาจะลงคะแนนเสียงอย่างลับ ๆ เพื่อเลือกผู้นำสูงสุดคนต่อไป

 

มีการเลือกสมาชิกสมัชชานี้ทุก 8 ปี โดยครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อปี 2016 ซึ่งฝ่ายปฏิรูปและผู้นิยมสายกลาง ชนะที่นั่งเกือบ 60% ทั้ง ๆ ที่เคยได้ที่นั่งน้อยกว่า 25% ในการเลือกตั้งครั้งก่อน และคนที่เป็นประธานสมัชชาคนปัจจุบันก็คือ อยาตอลเลาะห์ อาหมัด จันนาตี ซึ่งเป็นประธานสภาผู้พิทักษ์ด้วยนั่นเอง

 

Anadolu Agency

สภา​ที่ปรึกษาผู้นำสูงสุด

 

นอกจากให้คำปรึกษาผู้นำสูงสุดแล้ว สภา​ที่ปรึกษาผู้นำสูงสุด (Expediency Council) ยังเป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางกฎหมายระหว่างรัฐสภากับสภาผู้พิทักษ์ สภานี้มีสมาชิก 45 คนโดยมาจากการแต่งตั้งของผู้นำสูงสุด ซึ่งเป็นบุคคลทรงอิทธิพลทางศาสนา สังคม และการเมือง

 

หัวหน้าคณะตุลาการ

 

หัวหน้าคณะตุลาการได้รับการแต่งตั้งและต้องรายงานต่อผู้นำสูงสุด ผู้ครองตำแหน่งนี้ต้องดูแลศาลและผู้พิพากษาให้บังคับใช้กฎหมายอิสลาม นอกจากนี้ หัวหน้าคณะตุลาการยังทำงานร่วมกับกองกำลังด้านความมั่นคงและข่าวกรองในการปราบปรามผู้เห็นต่าง และก็มักจะถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชนจากการพิจารณาคดีที่ถูกกล่าวหาว่าไม่เป็นธรรมซึ่งชอบอ้างกฎหมายด้านความมั่นคง

 

ผู้เลือกตั้ง

 

จากประชากรทั้งหมด 83 ล้านคน มีราว 58 ล้านคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง โดยเกือบครึ่งหนึ่งเป็นชาวอิหร่านที่อายุต่ำกว่า 30 ปี

 

AFP

กองทัพ

 

กองทัพอิหร่านประกอบไปด้วย กองกำลังพิทักษ์การ​ปฏิวัติอิหร่าน (Revolutionary Guard Corps - IRGC) และกองทัพทั่วไป

 

ตอนแรก กองกำลังพิทักษ์การ​ปฏิวัติอิหร่าน ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อปกป้องกฎระเบียบแบบอิสลามและก็เพื่อคานอำนาจกับกองทัพทั่วไป แต่ในเวลาต่อมาได้กลายเป็นหน่วยกำลังอันทรงอิทธิพลทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจด้วย และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้นำสูงสุด กองกำลังหน่วยนี้มีกองทัพบก เรือ และอากาศของตัวเอง และยังควบคุมอาวุธเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศด้วย

 

ผู้บังคับบัญชาของกองกำลังพิทักษ์การ​ปฏิวัติอิหร่านและกองทัพทั่วไปทั้งหมดล้วนมาจากการแต่งตั้งของผู้นำสูงสุด

 

คณะรัฐมนตรี

 

คณะรัฐมนตรี หรือสภารัฐมนตรี มาจากการเลือกของประธานาธิบดี ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา คณะรัฐมนตรีนี้บริหารโดยประธานาธิบดี หรือรองประธานาธิบดี

 

........................

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง