หมอทวีทรัพย์ เผย "ซิโนแวค" ป้องกันติดเชื้อ 90% ลั่นจำเป็นต้องใช้ เพราะจัดหาได้เร็ว
หมอทวีทรัพย์ เผย "ซิโนแวค" ป้องกันติดเชื้อ 90% ป้องกันปอดบวม 85% ลั่นจำเป็นต้องใช้ เพราะจัดหาได้เร็ว แจงปรับสูตรสลับชนิด เพราะต้องการให้ภูมิสูงขึ้น
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2564 นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค แถลงข่าวประสิทธิผลวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้จริงในประเทศไทย ว่า ขณะนี้มีการศึกษาอยู่ 4 การศึกษา โดย 2 การศึกษาแรกเป็นการศึกษาติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงว่ามีใครติดเชื้อ มีกี่รายได้รับวัคซีนหรือไม่ คือ ภูเก็ต และสมุทรสาคร และอีก 2 การศึกษาเป็นการศึกษาในบุคลากรทางสุขภาพ จากเหตุการณ์ระบาดที่ จ.เชียงราย และกรมควบคุมโรคที่ดึงฐานข้อมูลบุคลากรสาธารณสุขที่ติดเชื้อตั้งแต่ พ.ค. - มิ.ย. มาศึกษา ทั้งนี้ ช่วง เม.ย. - มิ.ย. ส่วนใหญ่รับวัคซีนครบตามเกณฑ์จะเป็นซิโนแวค มีแอสตร้าเซนเนก้าเฉพาะบางการศึกษา
ทั้งนี้ การศึกษาใน จ.ภูเก็ต เริ่มฉีดวัคซีนช่วง เม.ย. 64 ขณะเดียวกันก็พบผู้ติดเชื้อ จึงติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 1,500 กว่าราย พบติดเชื้อ 124 ราย เปรียบเทียบเปอร์เซ็นต์การติดเชื้อระหว่างคนรับวัคซีนและไม่รับวัคซีน พบว่าประสิทธิผลช่วยป้องกันการติดเชื้อ 90.7% สำหรับการศึกษาในสมุทรสาครติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 500 กว่าราย พบติดเชื้อ 116 ราย เปรียบเทียบเช่นเดียวกันพบประสิทธิผลป้องกันติดเชื้อสูงพอกันคือ 90.5% แต่การศึกษาทั้ง 2 ตัวเป็นช่วง เม.ย. - พ.ค. ซึ่งเป็นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) แทบทั้งหมด เพราะสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ยังไม่มา
ดังนั้น ประสิทธิผลของซิโนแวคยังดีพอสมควรในสนามจริงกว่า 90% ซึ่งดีกว่าผลการศึกษาประเทศจริงในประเทศอื่นก่อนจดทะเบียน เช่น บราซิล ตุรกี ที่ป้องกันได้ 50-70% ซึ่งเป็นคนละสายพันธุ์กับบ้านเรา ดังนั้น นี่จึงเป็นข้อมูลจริงของบ้านเรา ป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์อัลฟาได้
นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวต่อว่า ส่วนการศึกษาที่เชียงราย ที่พบการระบาดในบุคลากรสุขภาพ มีการติดเชื้อและตรวจบุคลากรที่มีความเสี่ยงเกือบ 500 ราย พบติดเชื้อ 40 ราย จึงมาดูว่ามีใครติดเชื้อ และการติดเชื้อแล้วปอดอักเสบ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวคือ มิ.ย. เชียงรายยังเป็นสายพันธุ์อัลฟา ทั้งนี้ จากการศึกษาเปรียบเทียบคนรับวัคซีนครบ 2 เข็มและไม่ได้รับวัคซีน พบว่าประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้ออยู่ที่ 88.8% และป้องกันปอดอักเสบอยู่ที่ 84.9% แต่ข้อมูลที่น่าสนใจมีบุคลากรที่ได้รับแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็มครบ 14 วัน จำนวน 50 ราย พบว่าป้องกันการติดเชื้อได้เช่นกัน ประสิทธิผลแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม อยู่ที่ 83.8%
ขณะที่การศึกษาของกรมควบคุมโรคจากฐานข้อมูลประเทศโดยติดตามบุคลากรสุขภาพที่ติดเชื้อและการฉีดวัคซีนช่วง พ.ค. ซึ่งการระบาดยังเป็นสายพันธุ์อัลฟา พบว่าประสิทธิผลซิโนแวค 2 เข็มอยู่ที่ 71% ส่วน มิ.ย.ที่เริ่มมีการระบาดของสายพันธุ์เดลตาทั้งประเทศ 20-40% พบประสิทธิผลอยู่ที่ 75% ไม่ได้ลดลงไป ดังนั้น ที่มีข้อวิตกกังวลสายพันธุ์เดลตาจะมีผลต่อประสิทธิภาพของซิโนแวคในการใช้จริงมากน้อยเพียงใด ขณะนี้การใช้ในสนามจริงยังคงที่ แม้ภาพรวมของการติดตามผลทางห้องปฏิบัติการพบว่าลดการสร้างค่า neutralizing antibody อยู่บ้าง
"โดยสรุปคือวัคซีนที่เอามาใช้ทุกตัวปลอดภัย ประสิทธิภาพขึ้นกับเรื่องของสายพันธุ์ ภาวะที่เรามีความเสี่ยงสูงมากน้อย แต่ประสิทธิผลของโคโรนาแวคชนิดเชื้อตายการใช้จริงในไทยได้ผลดีพอสมควร ป้องกันการติดเชื้อ 90% ปอดบวมประมาณ 85% ต้องทำความเข้าใจว่าไม่ใช่ไม่มีประสิทธิภาพ และสำคัญไม่น้อยคือสายพันธุ์เดลตามีการตามต่อเนื่อง ไม่ใช่ให้วัคซีนประสิทธิผลต่ำแล้วมาเปลี่ยนการใช้วัคซีน แต่คาดการณ์ล่วงหน้าและปรับวิธี เพราะผลห้องปฏิบัติการที่ติดตามถ้าใช้ชนิดเชื้อตายประสิทธิผลอาจได้ไม่สูงมากนัก แม้ในสนามจริงยังไม่บ่งบอก ก็ต้องติดตามต่อไป ดังนั้น การฉีดวัคซีนของ สธ.และรับการอนุมัติจากรัฐบาลต้องใช้วิธีการวัคซีนที่มีอยู่ คือ โคโรนาแวค และแอสตร้าฯ หรือแพลตฟอร์มอื่นในการเพิ่มประสิทธิผลให้ดีที่สุด" นพ.ทวีทรัพย์กล่าว
เมื่อถามว่ายังจำเป็นต้องนำเข้าซิโนแวคหรือไม่ เพราะตอนนี้เป็นการระบาดของเดลตา นพ.ทวีทรัพย์กล่าวว่า ข้อมูลที่มีอยู่ขณะนี้ ซิโนแวคยังได้ผลอยู่ แต่เพื่อให้มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพสูงขึ้นในการเพิ่มระดับภูมิคุ้มกัน จึงเป็นข้อพิจารณาในการปรับแทนที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม จึงเป็นการฉีดข้ามแพลตฟอร์มช่วยเพิ่มภูมิสูงกว่าเดิม สร้างความมั่นใจในการป้องกันมากขึ้น
"เหตุผลทำไมใช้ซิโนแวค เพราะเราสามารถจัดหาได้เร็วไม่ต้องรอคิวถึงปีหน้าหรือไตรมาส 4 ปีนี้ ถ้าเราสามารถบริหารวัคซีนที่จะจัดหาได้ขณะนี้ คือ วัคซีนหลักแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเดิมเราคาดว่าบริษัทจะส่งให้ได้ 10 ล้านโดสต่อเดือน แต่ข้อจำกัดอาจได้แค่ 5 ล้านโดส ซิโนแวคซึ่งเราจัดหาได้และนำมาใช้ได้เลย ความจำเป็นของซิโนแวคยังจำเป็นในช่วงเวลาที่เรามีข้อจำกัดจัดหาวัคซีน"
"แต่อนาคตจะมีการปรับใช้วัคซีนชนิดอื่นหรือไม่ ขึ้นกับสถานการณ์สายพันธุ์ และแต่ละช่วงเวลาจะจัดหาวัคซีนชนิดใดได้เพิ่มขึ้น ซึ่งต้องมีการเตรียมล่วงหน้า และแพลตฟอร์มอื่นที่เราดำเนินการ ตอนนี้คือ mRNA คือวัคซีนไฟเซอร์ คาดว่าจะเข้ามาเสริมเป็นวัคซีนหลักประเทศช่วงไตรมาส 4 คือ หลังต.ค.เป็นต้นไป ในช่วงระบาด 2-3 เดือน ต้องใช้วัคซีนที่มีขณะนี้ให้เป็นประโยชน์สูงสุด ประสิทธิผลยังดี และหาได้ ฉีดได้เลย เป็นสิ่งที่เราสร้างประโยชน์สูงสุดจากวัคซีนที่เราจัดหาให้ประชาชนในช่วงที่การระบาดยังมีอยู่ต่อเนื่อง"
นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวต่อว่า ไม่ว่าแพลตฟอร์มไหน มีความปลอดภัยต่อหญิงมีครรภ์ เชิงความปลอดภัยไม่ต้องกังวล แต่ประสิทธิผลฉีดตัวไหนได้ก่อนดีที่สุด ไฟเซอร์ที่ได้มา เพิ่มเข้ามาจากการฉีดให้กลุ่มเป้าหมายสำคัญตอนนี้ที่อยากฉีดก่อนคือสูงอายุ 7 โรคและหญิงมีครรภ์ ก็ไม่ควรรอควรฉีดวัคซีนที่ปรับเลยขณะนี้ เพราะไฟเซอร์ที่จะจัดซื้อ 20 ล้านโดสมาไตรมาส 4 หลังต.ค. ส่วนที่บริจาคจะมาเร็วๆ นี้ ต้องดูอีกครั้งหนึ่ง ในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญและส่วนตัวขอให้ฉีดวัคซีนที่มี แต่เมื่อปลายเดือนมีไฟเซอร์มาก็ไปฉีดได้
เมื่อถามถึงแผนกระจายวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวว่า เราอิงตามนโยบายป้องกันการเสียชีวิตและการติดเชื้อ และเพื่อให้ระบบสาธารณสุขเดินได้ การใช้วัคซีนที่เข้ามาแต่ละช่วงขึ้นกับการระบาดขณะนั้น หากไฟเซอร์เข้ามาเดือนนี้หรือเดือนหน้า นโยบายคือปกป้องสูงอายุ 7 กลุ่มโรค และหญิงมีครรภ์รับวัคซีนครบก่อน ปกป้องบุคลากรสาธารณสุขทำงานได้ ก็จะเพิ่มให้กับกลุ่มเหล่านี้ และสำหรับบุคคลกลุ่มอื่นๆ ประชาชนทั่วไปและขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะตามมา
เมื่อถามถึงการจัดหาวัคซีนตัวอื่น นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวว่า แอสตร้าฯ เป็นวัคซีนหลัก แต่มีการระบาดก็หาซิโนแวคเข้ามา เราเจรจาเพิ่มไฟเซอร์ 3 ตัวนี้เป็นวัคซีนหลักที่มีสถานะการสั่งจองเรียบร้อยแล้ว ส่วนสถานะเจรจาและดำเนินการแต่ยังไม่สั่งจอง คือ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และสปุตนิก วี ปัญหาที่ยังไม่ดำเนินการมาจากแหล่งผลิตเอง อย่างจอห์นสันแอนด์จอห์นสันเขาขอเลื่อนลงนามสัญญา เนื่องจากโรงงานแหล่งผลิตที่สหรัฐฯ มีปัญหาอยู่ ส่วนสปุตนิก V รอการขึ้นทะเบียนกับ อย.
"แต่ที่ดำเนินการต่อเนื่องคือการจัดหาวัคซีนสำหรับปีหน้า คาดว่ามีการระบาดสายพันธุ์ใหม่ จึงศึกษาดูว่ามีวัคซีนในแหล่งผลิตใดที่้มีการพัฒนาเป็นรุ่นสอง มีการติดตามและทาบทามในเรื่องความก้าวหน้ามี 3-4 บริษัทชั้นนำ ซึ่งเราหวังเรื่องสู้กับสายพันธุ์ใหม่ ส่วนการจัดหามีขบวนการขั้นตอน แต่สุดท้ายเมื่อมีเหตุการณ์ในพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวตลอดเวลา ทำให้หลายครั้งสถานการณ์วัคซีนอาจเกิดความสับสนและเปลี่ยนแปลงได้" นพ.ทวีทรัพย์ กล่าว