รู้จัก “อนุสัญญาเจนีวา” กัมพูชาโจมตี รพ. ไทย คือการก่ออาชญากรรมสงคราม ?

จากเหตุการณ์เปิดฉากโจมตีของกัมพูชาต่อไทย จนทำให้คนไทยเสียชีวิต ทั้งหมด 14 ราย แบ่งเป็นพลเรือน 13 ราย และทหาร 1 ราย บาดเจ็บรวม 46 ราย
สิ่งหนึ่งที่ทำให้คนตั้งคำถามกับการกระทำครั้งนี้จากทางฝั่งกัมพูชา คือ การที่กัมพูชายิงจรวดโจมตีโรงพยาบาลพนมดงรัก จ.สุรินทร์ รวมถึงบริเวณที่อยู่อาศัยของพลเรือนฝั่งไทยหลายแห่ง เป็นการละเมิดอนุสัญญาเจนีวา ซึ่งเป็นหลักการที่ว่าปกป้องคุ้มครองผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสู้รบ ซึ่งการกระทำดังกล่าวของกัมพูชา อาจเข้าข่ายอาชญากรรมสงคราม
แล้ว “อนุสัญญาเจนีวา” คืออะไร ?
อนุสัญญาเจนีวา เป็นรากฐานสำคัญของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หรือ IHL ซึ่งเป็นชุดกฎเกณฑ์ที่ต้องการจำกัดผลกระทบของสงคราม ด้วยเหตุผลทางด้านมนุษยธรรม ซึ่งอนุสัญญาเจนีวา จะเป็นชุดสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และพิธีสารเพิ่มเติมที่กำหนดกฎเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมในช่วงสงคราม
บุคคลที่จะต้องได้รับการปกป้องตามอนุสัญญานี้ ได้แก่ พลเรือน, บุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มผู้ทำงานเพื่อการช่วยเหลือต่าง ๆ
นอกจากนี้ ยังรวมถึงบุคคลที่ไม่สามารถร่วมการสู้รบได้อีกต่อไป เช่น ทหารผู้บาดเจ็บ เจ็บป่วย ทหารเรืออัปปาง และเชลยสงคราม
อนุสัญญาเจนีวามีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1864 ภายหลังมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและเพิ่มกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อให้ครอบคลุมถึงสภาพความเป็นจริงของสงคราม โดยการปรับปรุงแก้ไขครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 1949 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงเป็นเวลา 4 ปี
สงครามครั้งนั้น ถือเป็นความเสียหายครั้งใหญ่ของมนุษยชาติเนื่องจากมีพลเรือนมากมายตกเป็นเป้าหมายของการโจมตี การแก้ไขอนุสัญญาเจนีวาครั้งนี้จึงมีการเพิ่มกฎการคุ้มครองพลเรือนเข้าไป
ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1949 ทั้ง 4 ฉบับ ได้แก่
1.อนุสัญญาเจนีวาเพื่อให้ผู้บาดเจ็บและป่วยไข้ในกองทัพในสนามรบมีสภาวะดีขึ้น
2.อนุสัญญาเจนีวาเพื่อให้ผู้สังกัดในกองทัพขณะอยู่ในทะเล ซึ่งบาดเจ็บ ป่วยไข้ และเรืออับปาง มีสภาวะดีขึ้น
3.อนุสัญญาเจนีวาเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อเชลยศึก
4.อนุสัญญาเจนีวาเกี่ยวกับการคุ้มครองบุคคลพลเรือนในเวลาสงคราม
แล้วสิ่งที่กัมพูชาโจมตีโรงพยาบาลของไทย ถือเป็นการละเมิดอนุสัญญาเจนีวาหรือไม่ ?
สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกแถลงการณ์ กล่าวประณามการโจมตีโรงพยาบาลและประชาชนชาวไทย ว่าเป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และอนุสัญญาเจนีวาอย่างร้ายแรง
มาตราที่ 18 แห่งอนุสัญญาเจนีวา ฉบับที่ 4 ระบุว่าไว้ชัดเจนว่า “ห้าม” โจมตีโรงพยาบาลฝ่ายพลเรือน ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลรักษาผู้บาดเจ็บ และป่วยไข้ ผู้ทุกพลภาพ และสตรีที่คลอดบุตร ห้ามเป็นจุดโจมตีไม่ว่าจะพฤติการณ์ใด ๆ
พฤติการณ์ของกัมพูชา ที่โจมตีโรงพยาบาล และพลเรือน ถือเป็นการละเมิดร้ายแรง และหากกระทำโดยเจตนา ถือเป็นอาชญากรรมสงคราม อาจถูกฟ้องร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC ในภายหลัง
การกระทำดังกล่าว ถือเป็นหนึ่งในอาชญากรรมหลัก 4 ประการ ที่ศาลอาญาระหว่างประเทศมีสิทธิพิจารณาดำเนินคดี และผู้ที่เกี่ยวข้องอาจได้รับโทษสูงสุดคือ จำคุกตลอดชีวิต ตามมาตรา 77 ว่าด้วยบทลงโทษที่บังคับใช้ ศาล ICC จะเป็นผู้กำหนดโทษ โดยพิจารณาว่า คดีนั้นมีความร้ายแรงมากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้ ตามข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศ ไทยยังไม่ได้มีการออกกฎหมายเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดฐานอาชญากรรมสงคราม แม้ว่าแต่เดิมไทยเคยมีพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 ซึ่งบัญญัติฐานความผิดสำหรับผู้กระทำความผิดที่ละเมิดกฎหมายหรือจารีตประเพณีระหว่างประเทศในการทำสงคราม แต่ปัจจุบันได้ตราพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 พ.ศ. 2510 แล้ว
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
https://blogs.icrc.org/th/2021/08/13/gcs1949-72/
https://www.icc-cpi.int/about/how-the-court-works
https://www.icc-cpi.int/sites/default/files/2024-05/Rome-Statute-eng.pdf
https://blogs.icrc.org/th/wp-content/uploads/sites/104/2017/06/GenevaConventions_2017_FInal1.pdf
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
