รีเซต

วันนี้วันอะไร วันไบโพลาร์โลก ตรงกับวันที่ 30 มีนาคม

วันนี้วันอะไร วันไบโพลาร์โลก ตรงกับวันที่ 30 มีนาคม
TNN ช่อง16
17 มีนาคม 2565 ( 22:18 )
219

รู้หรือไม่ วันไบโพลาร์โลก (World bipolar day) ตรงกับวันที่ 30 มีนาคมของทุกปี เป็นวันที่จัดขึ้นเพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาและเข้าใจโรคไบโพลาร์ให้มากขึ้น ซึ่งโรคไบโพลาร์ (Bipolar) หรือที่รู้จักกันในชื่อ โรคอารมณ์สองขั้ว เป็นความผิดปกติทางอารมณ์อยู่ใกล้ตัวเราเป็นอย่างมาก ซึ่งในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคดังกล่าวมากเป็นอันดับ 3 ของโรคทางจิตเวช  โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า โรคไบโพลาร์เป็นโรคที่ก่อให้เกิดความสูญเสียเนื่องจากความเจ็บป่วยหรือพิการมากเป็นอันดับ 6 ของโลก ซึ่งมีผู้ป่วยถึง 1 ใน 5 ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ


โรคไบโพลาร์ (Bipolar) เป็นยังไง

โรคไบโพลาร์ (Bipolar) เป็นโรคที่ในกลุ่มด้านอารมณ์ ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับโรคซึมเศร้า แต่โรคซึมเศร้าคือโรคที่มีอารมณ์ชัดเจน อารมณ์เบื่อเศร้า ขณะที่โรคไบโพลาร์มีลักษณะที่มีอารมณ์สองช่วง คือ อารมณ์ครื้นเครง รื่นเริง สนุกสนาน สลับกับอารมณ์ซึมเศร้า 


โรคไบโพลาร์เกิดจากสาเหตุอะไร

สาเหตุของโรคไบโพลาร์เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง โดยมีสื่อนำประสาทที่ไม่สมดุล คือ มีสารซีโรโทนิน (Serotonin) น้อยเกินไป และสารนอร์เอพิเนฟริน (Epinephrine) มากเกินไป นอกจากนี้ ยังเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรมอีกด้วย ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มักจะมีญาติบางคนป่วยเป็นโรคนี้ด้วย 


อาการคนเป็นไบโพลาร์เป็นอย่างไร

คนที่เป็นโรคไบโพลาร์มักจะอารมณ์ดีในลักษณะที่ผิดปกติ คือ อารมณ์ดีมากเกินกว่าปกติที่ควรจะเป็น และมักจะไม่มีเหตุผลหรือไม่สมเหตุสมผล ซึ่งในช่วงที่อารมณ์ดีจะช่างพูดช่างคุย คุยได้ไม่หยุด และไม่ชอบให้ใครมาขัด แต่ถ้าอารมณ์ร้ายขึ้นมาเมื่อไรอาจขั้นใช้อารมณ์ก้าวร้าวได้ เรียกว่าเปลี่ยนไปเป็นคนละคน ซึ่งอาจทำให้มีปัญหากระทบกระเทือนต่อหน้าที่การงานและการใช้ชีวิตประจำวัน 


ผู้ป่วยที่เป็นโรคไบโพลาร์บางคนจะมีปัญหาไม่ยอมนอนตอนกลางคืน อยากเที่ยวกลางคืน ใช้จ่ายเงินมาก มีอารมณ์ทางเพศมากขึ้น อาจทำให้ผู้ป่วยไม่มีสมาธิในการเรียน ผลการเรียนตกลง มีปัญหาทางพฤติกรรมทะเลาะกับเพื่อน ครูอาจารย์ รู้สึกอยากไปเที่ยวกลางคืน 


อย่างไรก็ตาม อาการของโรคไบโพลาร์ไม่จำเป็นต้องสลับกับช่วงซึมเศร้า บางคนเป็นโรคนี้อยู่ช่วงหนึ่งก็สามารถกลับคืนเป็นปกติได้เองโดยไม่ต้องรักษา ทำให้คนรอบข้างไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหาถ้าไม่สังเกตอย่างใกล้ชิด เมื่อเป็นปกติแล้วเขาจะดำเนินชีวิตได้ปกติ พอถึงช่วงหนึ่งจะรื่นเริงอีกหรืออาจจะสลับไปขั้วตรงข้ามเป็นแบบซึมเศร้า อาการจะเริ่มตั้งแต่แยกตัว เบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไร กินไม่ได้ นอนไม่หลับ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ที่สำคัญที่สุดคือการฆ่าตัวตาย          


โรคไบโพลาร์ในช่วงซึมเศร้าจะเหมือนกับโรคซึมเศร้า อัตราการฆ่าตัวตายคือ 15-20% ซึ่งเท่ากับผู้ป่วย 1 ใน 5 มีโอกาสที่จะเกิดปัญหาเศร้าและฆ่าตัวตายได้ แต่ช่วงที่รื่นเริงมาก ๆ ก็จะมีประเด็นการฆ่าตัวตายได้ด้วยเช่นกัน ไม่ใช่เฉพาะแค่ตอนซึมเศร้า 


การรักษาโรคไบโพลาร์ ทำได้อย่างไร

การรักษาโรคไบโพลาร์สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา ได้แก่ ยาในกลุ่มยาควบคุมอารมณ์ (Mood stabilizers), ยาแก้โรคจิต (Antipsychotics) และยาแก้โรคซึมเศร้า (Antidepressants) ซึ่งมีวิธีการใช้ยาดังนี้         


1. ใช้ยาไปช่วยในการปรับสารสื่อนำประสาทตรงให้กลับมาทำงานได้อย่างปกติ เรียกชื่อกลุ่มยานี้ว่า กลุ่มปรับอารมณ์ให้คงที่ (Mood stabilizer) ซึ่งสามารถช่วงระยะการรักษาช่วงแรกจะเป็นการคุมอาการให้กลับมาเป็นปกติที่สุดภายใน 1 สัปดาห์ก่อน หรืออย่างช้า 1 เดือน หลังจากนั้นจะเป็นการรักษาต่อเนื่อง อาจต้องใช้ยาคุมอาการ ระยะเวลาการรักษาขึ้นอยู่กับอาการคนไข้เป็นสำคัญ ในคนไข้บางราย 1 ปี อาจมาพบหมอแค่ 2-4 ครั้งเท่านั้น ไม่ต้องอยู่โรงพยาบาลตลอด 


2. ยาหลักที่นิยมใช้รักษาและได้ผลดี คือ Lithium ควบคุมอาการได้ดีมาก แต่ผู้ป่วยอาจต้องใช้ยาเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากโรคนี้อาจเป็น ๆ หาย ๆ ตัวยายังสามารถป้องกันอาการซึมเศร้าได้อีก


3. ยาสำหรับอาการซึมเศร้า ตอบสนองดีต่อยา Clozapine, Olanzapine, Risperidone, Quetiapine 


ทั้งนี้ นอกจากรักษาโดยการให้ยาแล้ว คนรอบข้างต้องเข้าใจผู้ป่วยที่เป็นภาวะเช่นนี้ ส่วนผู้ที่เป็นโรคไบโพลาร์ต้องดำเนินชีวิตในทางสายกลาง ควบคุมเวลานอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง พยายามหาวิธีแก้ปัญหาและลดความเครียด อย่าใช้ยากระตุ้นหรือสารมึนเมา เช่น เหล้า หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูง ซึ่งหากคนรอบตัวมีอาการผิดปกติทางอารมณ์ตามอาการของโรคไบลาร์ ควรพาไปพบแพทย์เพื่อให้วินิจฉัยและรีบรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติเหมือนคนทั่วไป 

 

ที่มาข้อมูล : สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ 

ที่มาภาพ : AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง