ประชุม ศบค.พรุ่งนี้ เตรียมเคาะลดระดับ "โควิด-19" เป็น "โรคติดต่อเฝ้าระวัง" 1 ต.ค.นี้
เลขาฯ สมช. ชง ศบค.ไฟเขียว "โควิด-19" เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง 1 ต.ค.นี้ เตรียมแผนเข้าสู่ "โรคประจำถิ่น" ยื้อต่อ "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" เพื่อควบคุมการเข้าออกประเทศ ป้องกันระบาดหนักระลอกใหม่
วันนี้ (18 ส.ค.65) พลเอกสุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เปิดเผยว่าการประชุม ศบค.ในวันพรุ่งนี้จะมีการพิจารณาข้อเสนอของกระทรวงสาธารณะสุขที่จะกำหนดกรอบแนวทางโรค โควิด-19 เป็นโรคที่จะต้องเฝ้าระวัง 1 ตุลาคมนี้
เพราะที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ โควิด-19 ศบค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อประกาศเป็นโรคเฝ้าระวังแล้วจะยุบ ศบค.หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และต้องประเมินสถานการณ์ว่าจำเป็นจะต้องใช้กฎหมายพิเศษหรือไม่
ขณะที่ข้อเสนอของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในการขยายเวลาการเปิดผับจนถึงเวลาตี 4 นั้น ในวันพรุ่งนี้ในที่ประชุม กระทรวงการท่องเที่ยวฯก็จะไม่เสนอเรื่องนี้ แต่หากมีการเสนอ ทาง ศบค.ก็ต้องให้ข้อกังวลว่าจะส่งผลกระทบด้านใดบ้าง พร้อมกันนี้รับทราบสถานการณ์ภาพรวมของการติดเชื้อโรคภูมิภาคและในประเทศไทย รับทราบรายงานสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวด้านเศรษฐกิจตัวเลขต่างๆที่เติบโตขึ้น และข้อจำกัดที่จะต้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติม
รวมถึงรายงานสถานการณ์การเปิดด่านใช้แดนที่เปิดมาได้หนึ่งเดือนกว่าว่ามีความคืบหน้าอย่างไร มีความติดขัดหรือต้องปรับปรุงอย่างไร ภายใต้การควบคุมที่ให้ระบบเศรษฐกิจดีขึ้นกว่านี้ รวมถึงแผนการกระจายยา ยกระดับให้ดีขึ้น หลังจากที่กระจายไปยังโรงพยาบาลเอกชน และคลินิกเวชกรรมแล้ว ต่อไปก็จะขยายไปยังร้านขายยาชั้นหนึ่งให้จำหน่ายยาได้ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์
นอกจากนี้ ที่ประชุมเตรียมพิจารณาแผนที่ต้องชัดเจนไปสู่ "โรคติดต่อไม่ร้ายแรง" หรือประกาศเป็น "โรคประจำถิ่น" โดยจะมีการเสนอในที่ประชุมให้รับทราบและย้ำว่าเรื่องนี้อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติที่สามารถพิจารณาได้อยู่แล้ว โดยคณะแพทย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในคณะกรรมการโรคติดต่อ
ต้องมีการเตรียมแผนประเมินสถานการณ์ไว้หากมีสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงกระทรวงสาธารณสุขก็จะพิจารณาจะปรับอย่างไรก็ต้องว่าไปตามนั้น แต่ในแผนนี้มีความสำคัญที่ต้องเตรียมก่อนเนื่องจากต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปเตรียมแผนรองรับอีก โดยใช้กลไก พ.ร.บ.โรคติดต่อแห่งชาติ และจะต้องมีการพิจารณา กฎหมายพิเศษอื่นๆ อีกหรือไม่
ทั้งนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก็จะทำงานเป็นหมวกสองใบคือมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเตรียมในพื้นที่ตามกรอบตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุข เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานครก็ต้องเตรียมบูรณาการจังหวัดข้างเคียงพื้นที่แปลงใหญ่ปริมณฑล ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันค่อนข้างมีความใกล้ชิดเพื่อให้ทุกส่วนได้เตรียมการไว้ โดยการประชุมพรุ่งนี้จะสรุปแผนอย่างชัดเจน
เลขาฯสมช. ยังย้ำว่าเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายลงแล้ว ยังจำเป็นต้องใช้กฎหมายฉุกเฉินหรือไม่นั้นเห็นว่า ขณะนี้ยังใช้อยู่เพราะมีความจำเป็นที่จะต้องกำกับควบคุมคนเดินทางเข้าออกประเทศ และห้ามในการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่จะก่อเกิดให้เกิดโรคระบาด ซึ่งเมื่อดูเหมือนตัวเลขพบว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่มาตรการในการรองรับทั้งการรักษาพยาบาลการกระจายยาการดูแลรักษาตนเองของผู้ป่วย ที่ประชาชนดำเนินการอยู่เป็นไปในทิศทางที่ดี.
ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP