เช็กลิสต์ยื่นภาษีปี 2563 ใช้อะไรลดหย่อนได้บ้าง?
ใกล้จะสิ้นปีนอกจากการเฝ้ารอที่จะได้มูฟออนไปสู่ปีใหม่ เพราะทั้งปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่หนักและยากลำบากสำหรับใครหลายๆคน ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบไปทุกกลุ่มรายได้ และเหลือเวลาไม่มากสำหรับใครที่มีรายได้ประจำในการวางแผนภาษี รวมถึงการใช้สิทธิประโยชน์จากค่าลดหย่อนภาษีต่างๆ
แต่อาจจะยังมีความเข้าใจผิดว่า ยิ่งลดหย่อนภาษีไปเท่าไหร่ ก็จะเสียภาษีน้อยลงเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การเสียภาษีขึ้นอยู่กับเงินได้และอัตราภาษีเฉพาะบุคคลด้วย ที่สำคัญปีนี้ยังมีไฮไลท์อยู่ที่มาตรการ"ช้อปดีมีคืน" ให้สามารถนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนได้สูงสุดถึง 30,000 บาทเลยทีเดียว แต่จะมีอะไรที่นำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้บ้าง TNN ONLINE นำข้อมูลมาฝากกัน
มีรายได้เท่าไหร่จึงจะต้องเสียภาษี?
หากคุณเป็นมนุษเงินเดือนทั่วไป รับค่าจ้างเป็นเงินเดือนปกติจะเรียกว่าเงินได้ประเภทที่ 1 หรือ 40(1) จะได้สิทธิหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาไปเลย 50% ของรายได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนค่าจ้างแบบรายชิ้นงาน หรือเป็นก้อนๆจะเรียกว่าเงินได้ประเภท 2 หรือ 40(2) โดยตามกฎหมายไทยมนุษย์เงินเดินที่มีรายได้เกิน 310,000 บาท ถึงจะเริ่มเสียภาษี และสามารถใช้สิทธิหักลดภาษีได้ตามเงื่อนไขข้างต้น
ปีภาษี 2563 มีค่าลดหย่อนจากรัฐบาล แต่ไม่มี LTF แล้วใช้อะไรลดหย่อนได้บ้าง?
เนื่องจากรัฐบาลได้ยกเลิกกองทุน LTF ไปแล้ว ทำให้ใครที่ถือกองทุน LTF มาลดหย่อนภาษีไม่ได้ แต่ปัจจุบันรัฐบาลเองก็ยังคงมีนโยบายส่งเสริมการออมให้กับประชาชน โดยยังมีผลิตภัณฑ์และมาตรการที่น่าสนใจ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย ซึ่งรายการที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีในปี 2563 หากแบ่งตามกลุ่มจะสามารถแบ่งได้ ดังนี้
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ
- ช้อปดีมีคืน หักลดหย่อนได้สูงสุด 30,000 บาท สำหรับการซื้อสินค้าตั้งแต่ 23 ต.ค.-31 ธ.ค.2563
- ดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท โดยลดได้เฉพาะส่วนที่เป็นดอกเบี้ยเท่านั้น
ลดหย่อนตัวเองและครอบครัว
- ค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว ค่าลดหย่อนส่วนบุคคล จะหักได้คนละ 60,000 บาททันทีที่ยื่นแบบแสดงรายได้
- ค่าลดหย่อนจากคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ 60,000 บาท และอีกฝ่ายต้องไม่มีเงินได้ หรือมีแต่คำนวณภาษีพร้อมกัน (ไม่ได้ต่างคนต่างยื่น)
- ค่าลดหย่อนบุตร ได้ 30,000 บาทต่อบุตร 1 คน คนที่ 2 ขึ้นไป (เกิดตั้งแต่ปี 2561) จะเพิ่มเป็นคนละ 60,000 บาท
- ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรต่อท้อง ลดหย่อนได้ไม่เกินปีละ 60,000 บาท
- ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา ซึ่งต้องอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้คนละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 4 คน (รวมพ่อแม่ของคู่สมรส) แต่หากมีพี่น้องและพี่น้องของเราใช้สิทธิ์ไปแล้ว เราจะไม่สามารถใช้สิทธิตรงนี้ได้
- ค่าอุปการะคนพิการ หรือ คนทุพพลภาพ ลดหย่อนได้ 60,000 บาทต่อคน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เช็กมาตรการพักชำระหนี้ แบงก์ไหนขยายระยะเวลาเพิ่มถึงปีหน้า?
3 ช่องทางออมเงินให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากว่าหยอดกระปุก
แชร์ 7 วิธีเก็บเงินง่ายๆ เปลี่ยนเศษเงินเป็นเงินเก็บตอนสิ้นปี
ทำความรู้จัก ตลาดซื้อขายโลหะเงิน ล่วงหน้า
เปิดเงื่อนไข รถเก่าแลกรถใหม่ คุ้มค่าไหม? ถ้าใช้สิทธิตามมาตรการ
ลดหย่อนกลุ่มประกัน
- เบี้ยประกันชีวิต ไม่เกิน 100,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพ ไม่เกิน 25,000 บาท แต่เมื่อรวมกับประกันชีวิตแล้วจะต้องไม่เกิน100,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา ไม่เกิน 15,000 บาท
- ประกันแบบบำนาญ 15% รวมการออมเพื่อเกษียณต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ออมเพื่อเกษียณ
- กบข./PVD/สงเคราะห์ครู ลดหย่อนได้ 15% ของรายได้ (แต่ไม่เกิน 500,00 เมื่อรวมกับหมวดลงทุนเพื่อการเกษียณ)
- กอช. ลดหย่อนได้ 13,200 บาท
- กองทุน RMF ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30%ของรายได้(แต่ไม่เกิน 500,00 เมื่อรวมกับหมวดลงทุนเพื่อการเกษียณ)
- กองทุน SSF ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30%ของรายได้(แต่ไม่เกิน 500,00 เมื่อรวมกับหมวดลงทุนเพื่อการเกษียณ)
- กองทุน SSFX หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 200,000 บาท( ไม่รวมกับกลุ่มออมเพื่อเกษียณ)
- ประกันสังคม 5,850 บาท ( เดิม 9,000)
เงินบริจาค
- เงินบริจาคทั่วไป 10% ของรายได้หลังหักค่าลดหย่อน
- การศึกษา การกีฬา โรงพยาบาลรัฐ 10% ของรายได้หลังหักค่าลดหย่อน ซึ่งจะได้สิทธิ 2 เท่าของเงินบริจาค แต่จะต้องไม่เกิน 10%หลังหักค่าลดหย่อน
- พรรคการเมือง ไม่เกิน 10,000 บาท
ที่จริงแล้วการวางแผนลดหย่อนภาษีในบางเรื่องเราสามารถทำระหว่างปีได้ อย่างเช่นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศที่ต้องใช้ใบกำกับภาษีฉบับเต็ม หากมีการเดินทางและซื้อสินค้าและบริการอยู่แล้ว ก็ควรขอใบกำกับภาษีมาเก็บไว้ เพราะในช่วงสิ้นปีเชื่อว่าจะเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของการนำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษี หลายคนน่าจะมีความคิดคล้ายๆกับเรา ซึ่งอาจจะทำให้เสียเวลารอคิวขอใบกำกับภาษีอีกก็เป็นได้ หากเราทยอยขอใบกำกับภาษีก็จะช่วยให้เราคำนวณความคุ้มค่าของการนำเงินออกมาใช้จ่ายในแต่ละครั้งได้ด้วย แต่แน่นอนว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่เราเสียภาษีไป จะเป็นรายได้ส่วนหนึ่งที่จะนำกลับมาใช้พัฒนาประเทศได้ต่อไปนั่นเอง
cr:Pixabay
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNTHAILAND.comfacebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE