Google เปิดสำนักงานใหม่ในนิวยอร์ก สร้างขึ้นบนสถานีรถไฟเก่ายุค 1930
กูเกิล (Google) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับโลก เผยโฉมอาคารสำนักงานใหม่ในมหานครนิวยอร์กอย่างเป็นทางการ โดยตั้งอยู่บนโครงสร้างของสถานีรถไฟเก่าช่วงปี 1930 โดยนำมาดัดแปลงใหม่ให้ออกมาเป็นอาคารที่เน้นความยั่งยืน
การบูรณะและดัดแปลงอาคารหลังนี้ เป็นฝีมือของสองสตูดิโอสถาปัตยกรรมชื่อดัง คุกฟอกซ์ อาร์คิเท็กซ์ (CookFox Architects) และ เกนส์เลอร์ (Gensler) ตัวอาคารแห่งนี้มีความสูง 12 ชั้นหรือประมาณ 70 เมตร ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของเขตแมนฮัตตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยสถาปนิกด้านการออกแบบในโครงการ ได้ดัดแปลงสถานีรถไฟ เซนต์จอห์น เทอร์มินัล (St John's Terminal) เพื่อสร้างอาคารสำนักงานสตูดิโอเพิ่มอีก 9 ชั้น จากเดิมที่มี 3 ชั้น ซึ่งได้รับการบูรณะขึ้นใหม่
ทีมสถาปนิก ยังได้ตัดบางส่วนของอาคารผู้โดยสารเก่า ซึ่งทอดยาวขนานไปกับทางเข้าใหม่ เผยให้เห็นโครงสร้างของอาคารที่ดูโล่งสบาย ส่วนเส้นทางรางรถไฟเดิมของอาคาร สถาปนิกได้ปล่อยทิ้งไว้ แล้วใช้ต้นไม้ช่วยคลุมเส้นทาง ทำให้เกิดส่วนที่ยื่นเป็นเส้นตรงที่ทางเข้า เพิ่มการตกแต่งที่มีลูกเล่นยิ่งขึ้น
ในขณะที่ภายในอาคาร ตกแต่งโซนทำงานให้ใช้สอยพื้นที่ได้หลากหลาย มีสิ่งอำนวยความสะดวก พื้นที่พักผ่อน และสามารถหมุนเวียน เปลี่ยนรูปแบบการใช้พื้นที่ที่ต่างกันได้ง่าย เพื่อให้บรรดา กูเกลอร์ (Googler) หรือคำเรียกพนักงานของ Google สามารถจัดสรรการใช้พื้นที่ทั้งในการทำงานและการพักผ่อนได้ตามความต้องการ
อาคารหลังนี้ จะรองรับพนักงานชาว กูเกลอร์ (Googler) กว่า 3,000 คน โดยภายในจัดเป็นโซนประชุมทำงานต่าง ๆ ได้มากกว่า 60 จุด ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นพื้นที่ส่วนกลาง สำหรับทีมงานที่มีพนักงานประมาณ 20-50 คน มารวมตัวกันได้โดยง่าย นอกจากนี้ยังมีพื้นที่การใช้งานอ่น ๆ เช่น คาเฟ่ ครัวขนาดเล็ก และพื้นที่จัดกิจกรรม เช่น โรงละคร ไว้บริการอีกด้วย
ส่วนในแง่ของความยั่งยืน อาคารหลังนี้ยังใช้กลยุทธ์ในการออกแบบด้านความยั่งยืนอื่น ๆ เช่น การใช้แผงโซลาร์เซลล์ การกักเก็บน้ำฝน และการใช้ไม้รีไซเคิลที่ได้มาจากเหตุการณ์พายุพัดถล่ม นำมาปัดฝุ่นใหม่ใช้งานให้คุ้มค่ามากขึ้น
โดย Google ระบุว่าการสร้างอาคารสำนักงานใหม่ด้วยการดัดแปลงโครงสร้างอาคารเก่า และใช้รากฐานอาคารเดิมที่มีอยู่แล้ว คาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าได้ประมาณ 78,400 เมตริกตัน หรือเท่ากับการนำรถยนต์ประมาณ 17,000 คันออกจากถนนเป็นเวลาหนึ่งปี
ข้อมูลจาก dezeen, reutersconnect