รีเซต

อุยกูร์ : กดดันแอปเปิล-ไนกี้ และสินค้าดังทั่วโลกไม่ใช้วัตถุดิบที่เกี่ยวพันกับการบังคับใช้แรงงานในจีน

อุยกูร์ : กดดันแอปเปิล-ไนกี้ และสินค้าดังทั่วโลกไม่ใช้วัตถุดิบที่เกี่ยวพันกับการบังคับใช้แรงงานในจีน
ข่าวสด
24 กรกฎาคม 2563 ( 10:00 )
384
อุยกูร์ : กดดันแอปเปิล-ไนกี้ และสินค้าดังทั่วโลกไม่ใช้วัตถุดิบที่เกี่ยวพันกับการบังคับใช้แรงงานในจีน

 

อุยกูร์ : กดดันแอปเปิล-ไนกี้ และสินค้าดังทั่วโลกไม่ใช้วัตถุดิบที่เกี่ยวพันกับการบังคับใช้แรงงานในจีน - BBCไทย

บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งรวมถึงไนกี้ เผชิญกับการเรียกร้องให้ตัดสัมพันธ์กับผู้ผลิตสินค้าและวัตถุดิบที่ถูกกล่าวหาว่า "บังคับใช้แรงงาน" จากชาวอุยกูร์ในจีน

นักเคลื่อนไหวได้เริ่มการรณรงค์ที่กล่าวหาว่า บริษัทหลายแห่ง "สนับสนุนและหากำไร" จากการเอารัดเอาเปรียบกลุ่มชาวมุสลิมอุยกูร์

สืบเนื่องจากเหตุนี้ สหรัฐฯ ยังได้เพิ่มแรงกดดันทางเศรษฐกิจด้วยการเตือนบริษัทต่าง ๆ ที่ทำธุรกิจในซินเจียงด้วย

ไนกี้และสินค้าอีกหลายยี่ห้อ ระบุว่า พวกเขากำลังติดตามปัญหานี้อยู่

ไนกี้ บอกว่า "กำลังตรวจสอบผู้ผลิตสินค้าและวัตถุดิบในจีนเพื่อระบุและประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ"

ไนกี้ระบุว่า ไม่ได้ใช้วัสดุโดยตรงจากซินเจียง ภูมิภาคทางตะวันตกของจีนซึ่งมีประชากรชาวอุยกูร์อยู่จำนวนมาก และมีรายงานว่า โรงงานหลายแห่งในภูมิภาคใช้แรงงานชาวอุยกูร์

แอปเปิล ยังบอกด้วยว่า ได้ตรวจสอบข้อกล่าวอ้างต่าง ๆ แล้ว "เรายังไม่พบหลักฐานของการบังคับใช้แรงงานใด ๆ ในสายการผลิตของแอปเปิล และเรามีแผนจะเฝ้าระวังต่อไป" ทางบริษัทระบุ

Getty Images

บรรดานักการเมืองและนักเคลื่อนไหวที่ประกอบด้วยเครือข่ายชาวอุยกูร์พลัดถิ่นและสหภาพแรงงานในสหรัฐฯ ระบุว่า บริษัทต่าง ๆ จำเป็นต้องดำเนินการมากกว่านี้ ถ้าไม่อยากจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลจีน

"สินค้ายี่ห้อต่าง ๆ และผู้จัดจำหน่ายรายย่อย ควรออกมาตั้งนานแล้ว แต่พวกเขาก็ไม่ออกมา และนั่นคือเหตุผลที่การเรียกร้องให้ดำเนินการของสาธารณชนมีความสำคัญและจำเป็น" โคลเอ ครันสตัน จากองค์รต่อต้านการค้าแรงงานทาสสากล (Anti-Slavery International) หนึ่งในองค์กรกว่า 180 แห่งที่เข้าร่วมการรณรงค์กดดันนี้

"มันไม่ใช่แค่การยุติความสัมพันธ์กับผู้ผลิตวัตถุดิบรายใดรายหนึ่ง แต่มันคือแนวทางการดำเนินจัดการที่ครอบคลุมทั้งระบบ"

เกิดอะไรขึ้นในซินเจียง

รายงานจากสถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ออสเตรเลีย (Australian Strategic Policy Institute--ASPI) และรัฐสภาสหรัฐฯ และรายงานอีกหลายแห่ง พบว่า ชาวอุยกูร์หลายพันคนถูกส่งไปทำงานตามโรงงานทั่วประเทศจีน ภายในสภาพแวดล้อมที่ ASPI ระบุว่า "ดูคล้ายคลึงมากกับการบังคับใช้แรงงาน" และได้เชื่อมโยงโรงงานเหล่านั้นกับสินค้ายี่ห้อดังมากกว่า 80 ยี่ห้อ รวมถึง ไนกี้, แอปเปิล และ แก๊ป

จีนถูกกล่าวหาว่า ควบคุมตัวชาวอุยกูร์มากกว่า 1 ล้านคนตามค่ายกักกันต่าง ๆ ในซินเจียง และมีการบังคับทำหมันด้วย จีนเรียกโครงการนี้ว่าเป็นการฝึกทักษะงานและให้การศึกษา

เจ้าหน้าที่ทางการจีน กล่าวว่า กำลังเตรียมรับมือกับความเสี่ยงของแนวคิดสุดโต่ง และระบุว่า ข้อกล่าวหาเรื่องค่ายกักกัน เป็นเรื่อง "หลอกลวง"

โอเมอร์ คานัต ผู้อำนวยการบริหารของ โครงการสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ กล่าวว่า การทำให้บริษัทต่าง ๆ ย้ายธุรกิจออกไปจากซินเจียง เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ในการโน้มน้าวในรัฐบาลจีนเปลี่ยนแปลงนโยบาย

"จนถึงตอนนี้ มีการประณามสิ่งที่รัฐบาลจีนได้กระทำไป แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการใด ๆ เกิดขึ้น" เขากล่าวกับ บีบีซี

"รัฐบาลจีน จะไม่ทำอะไร ถ้าไม่มีผลกระทบเกิดขึ้นจริง ๆ ดังนั้น การพุ่งเป้าไปที่บริษัทต่าง ๆ จึงมีความสำคัญอย่างมาก"

Getty Images
ซินเจียงผลิตฝ้ายได้ 80% ของฝ้ายที่ผลิตในจีน

รัฐบาลต่าง ๆ กำลังทำอะไรอยู่

การเรียกร้องให้ดำเนินการ กับจีน เกิดขึ้นในช่วงที่สหรัฐฯ เพิ่มแรงกดดันในเรื่องนี้

ในเดือนนี้ สหรัฐฯ ได้คว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ทางการจีนที่ดูแลภูมิภาคนี้ และเตือนบริษัทต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำธุรกิจในซินเจียง

เจ้าหน้าที่พรมแดนของสหรัฐฯ ได้ตรวจยึดการส่งผลิตภัณฑ์เส้นผมปริมาณ 13 ตัน จากภูมิภาคซินเจียงมูลค่าประมาณ 8 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 25 ล้านบาท) ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ได้ขึ้นบัญชีดำบริษัทอีก 11 แห่ง ที่ร่วมงานกับแอปเปิลและอีกหลายบริษัท เพื่อจำกัดขีดความสามารถของบริษัทเหล่านั้นในการซื้อสินค้าของสหรัฐฯ โดยการอ้างเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงาน

สมาชิกรัฐสภาของสหรัฐฯ กำลังพิจารณาออกกฎหมายเพื่อห้ามการนำเข้าสินค้าจากซินเจียง ขณะที่นักการเมืองในสหรัฐฯ และยุโรป ขู่ว่า จะออกกฎหมายที่บังคับให้บริษัทต่าง ๆ ต้องเฝ้าระวังปัญหานี้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น

"บริษัทต่าง ๆ ทั่วโลก ต้องประเมินการปฏิบัติงานและห่วงโซ่อุปทานของตัวเอง และหาทางเลือกที่ไม่เอารัดเอาเปรียบแรงงาน และละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์" เจมส์ แม็กกอฟเวิร์น สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการด้านกิจการจีน กล่าว

นายคานัต กล่าวว่า เขาเชื่อว่า การเคลื่อนไหวในระดับสากลกำลังขยายตัว โดยชี้ไปที่การแสดงความเห็นเมื่อไม่นานนี้ของนายโดมินิก ราบ รัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งกล่าวหาจีนว่า ละเมิดสิทธิมนุษยชน "อย่างรุนแรงและไม่อาจยอมรับได้" และกล่าวว่า อาจพิจารณาใช้การคว่ำบาตร

บริษัทต่าง ๆ บอกว่าอย่างไร

การรณรงค์ของนักเคลื่อนไหวมุ่งเน้นไปที่ผู้ผลิตเสื้อผ้าหลายยี่ห้อ เพราะซินเจียงเป็นแหล่งผลิตฝ้ายหลักของจีน ซึ่งคิดเป็น 20% ของปริมาณฝ้ายที่ผลิตได้ทั้งโลก

บริษัทผลิตเสื้อผ้าเหล่านี้บอกว่า พวกเขาดำเนินการอย่างจริงจังในเรื่องนี้

ไนกี้ ระบุว่า หลังจากที่หารือเรื่องนี้กับกลุ่มแทกวาง (Taekwang Group) หนึ่งในบริษัทผลิตสินค้าและวัตถุดิบของไนกี้ ทางบริษัทก็ได้เลิกจ้างพนักงานที่มาจากซินเจียงที่โรงงานหนึ่งแห่งของทางบริษัท ไนกี้ระบุว่า ทางแทกวางบอกว่า คนงานเหล่านั้น "สามารถยุติสัญญาหรือต่อสัญญาได้ทุกเมื่อ"

"เรื่องนี้ยังคงเป็นปัญหาสำคัญ" ทางไนกี้ระบุ "เรากำลังทำตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญและร่วมงานกับสินค้าอีกหลายยี่ห้อและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ ในการพิจารณาแนวทางที่สามารถทำได้ทั้งหมด เพื่อแก้ไขสถานการณ์นี้"

Getty Images
โรงงานแห่งหนึ่งของกลุ่มแทกวาง (Taekwang Group)

แก๊ป ระบุเช่นกันว่า มีนโยบายห้ามใช้แรงงานที่ไม่สมัครใจในห่วงโซ่อุปทานของทางบริษัท และไม่ได้ใช้ผ้าโดยตรงจากซินเจียง

"เรายังตระหนักว่า ปริมาณฝ้ายจำนวนมากในโลกมาจากการปลูกและปั่นที่นั่น" ทางบริษัทระบุเพิ่มเติม "ดังนั้น เราจึงดำเนินการต่าง ๆ เพื่อทำความเข้าใจให้ดีขึ้นว่า ห่วงโซ่อุปทานโลกของเราอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมอย่างไรบ้าง"

หลายบริษัทได้โต้แย้งข้อกล่าวอ้างที่ระบุว่า ห่วงโซ่อุปทานของพวกเขามีส่วนในการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อาดิดาส ระบุว่า ไม่เคยใช้ผลิตภัณฑ์จากซินเจียง และบริษัทที่รายงานของ ASPI อ้างถึงว่าเป็นบริษัทผลิตสินค้าและวัตถุดิบส่งให้แก่บริษัทอื่นนั้น เป็นการอ้างอิงที่ผิด

"มาตรฐานการทำงานของอาดิดาสห้ามใช้แรงงานที่ถูกบังคับและที่มาจากเรือนจำอย่างเข้มงวดทุกรูปแบบ และมาตรฐานนี้ก็บังคับใช้กับทุกบริษัทในห่วงโซ่อุปทานของเรา" อาดิดาสระบุเพิ่มเติม "การใช้แรงงานที่ถูกบังคับโดยหุ้นส่วนความร่วมมือแห่งใดแห่งหนึ่งของเรา จะส่งผลให้การเป็นพันธมิตรกันสิ้นสุดลง"

แอปเปิลระบุว่า ยังไม่พบปัญหาใด ๆ แม้ว่า ได้มีการตรวจสอบโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้าหลายครั้งกับบริษัท โอ-ฟิล์ม (O-Film) บริษัทที่ผลิตสินค้าและวัตถุดิบป้อนให้กับแอปเปิลมาเป็นเวลานาน และเป็นหนึ่งในบริษัทที่กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ อ้างถึง

บริษัทของจีนบางแห่งที่ถูกกล่าวหาว่าบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์ ได้โต้แย้งข้อกล่าวหานี้เช่นกัน

กลุ่มเอสเควล (Esquel Group) ผู้ผลิตเสื้อที่ตั้งอยู่ในฮ่องกง ซึ่งมีรายงานว่า ผลิตเสื้อให้กับลาคอสต์ ระบุว่า "เราไม่เคยใช้, ไม่ใช้, และจะไม่ใช้แรงงานที่ถูกบังคับในบริษัทของเราทุกแห่ง"

ทางบริษัทระบุเพิ่มเติมด้วยว่า รู้สึก "ไม่พอใจอย่างยิ่ง" ที่สหรัฐฯ ได้เพิ่มชื่อบริษัทไว้ในบัญชีดำการส่งออกในสัปดาห์นี้

"เรากำลังประสานงานกับทางการที่เกี่ยวข้องทุกแห่ง เพื่อแก้ไขสถานการณ์นี้ และเรายังคงยึดมั่นที่จะอยู่ในซินเจียงต่อไป เพราะเรามีความภาคภูมิใจต่อการมีส่วนร่วมในภูมิภาคนี้มาตลอดช่วง 25 ปีที่ผ่านมา"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง