รีเซต

นักวิทย์รัสเซียไขปริศนา หลุมยักษ์ในไซบีเรีย อาจโยงภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

นักวิทย์รัสเซียไขปริศนา หลุมยักษ์ในไซบีเรีย อาจโยงภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
ข่าวสด
18 กุมภาพันธ์ 2564 ( 00:45 )
154

นักวิทย์รัสเซียไขปริศนา - วันที่ 17 ก.พ. ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ไขความลับของหลุมขนาดใหญ่ที่ปรากฏตัวในเขตทุนดราไซบีเรีย บนคาบสมุทรยามัลและกีดา ในอาร์กติกรัสเซีย คาดว่าเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยภาพถ่ายจากโดรน แบบจำลองสามมิติ และปัญญาประดิษฐ์ กำลังช่วยเผยความลับของหลุมปริศนาเหล่านี้

 

อีกอร์ โบโกยัฟเลนสกี

 

หลุมดังกล่าวเป็นหลุมที่ 17 นับตั้งแต่การค้นพบหลุมลักษณะนี้หลุมแรกเมื่อปี 2556 จากการระเบิดอย่างรุนแรงของก๊าซมีเทนจนน้ำแข็งและเศษหินหลายร้อยก้อนกระเด็นออกไปเมื่อปีที่แล้ว เหลือร่องรอยเป็นวงกลมปากกว้างบนพื้นดินและโพรงว่างใต้ดิน

 

“หลุมใหม่ได้รับการรักษาอย่างดีโดยเฉพาะ เนื่องจากน้ำผิวดินยังไม่รวมตัวในหลุมเมื่อเราไปสำรวจ ทำให้เราได้ศึกษาหลุมที่สดใหม่ และยังไม่ผ่านการย่อยสลาย” นายเยฟกีนี ชูวีลิน นักวิทยาศาสตร์ผู้นำการวิจัย ศูนย์การกู้คืนไฮโดรคาร์บอน สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สคอลโคโว ในกรุงมอสโก ระบุ

 

ทั้งเป็นครั้งแรกที่คณะนักวิจัยสามารถใช้โดรนบินลึกลงไปในหลุม ซึ่งต่ำกว่าพื้นดิน 10-15 เมตร จึงจับภาพรูปร่างโพรงใต้ดินที่ก๊าซมีเทนก่อตัว

 

นายชูวีลินเป็นส่วนหนึ่งของคณะนักวิทยาศาสตร์รัสเซียที่เยือนหลุมดังกล่าวเมื่อเดือนส.ค.2563 และการค้นพบดังกล่าวถูกตีพิมพ์ในวารสาร จีโอไซแอนซ์ (ธรณีศาสตร์) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

 

อีกอร์ โบโกยัฟเลนสกี

 

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

โดรนถ่ายภาพราว 80 ภาพ ทำให้คณะนักวิจัยสร้างแบบจำลอง 3 มิติ ของหลุม ซึ่งมีความลึก 30 เมตร เท่ากับรถบัส 3 คัน ต่อกัน

อีกอร์ โบโกยัฟเลนสกี แห่ง สถาบันวิจัยน้ำมันและก๊าซ สถาบันวิทยาศาสตร์รัสเซีย ทำหน้าที่เป็นนักบินโดรน กล่าวว่า เขาต้องนอนราบบนขอบหลุมลึกเท่ากับตึก 10 ชั้น และห้อยแขนสองข้างเหนือปากปล่องเพื่อควบคุมโดรน

 

“เราเกือบสูญเสียโดรนไป 3 ครั้ง แต่ประสบความสำเร็จในการได้ข้อมูลเพื่อนำไปทำแบบจำลอง 3 มิติ” นายโบโกยัฟเลนสกีกล่าว

 

แบบจำลองดังกล่าวซึ่งแสดงถ้ำหรือโพรงที่ผิดปกติในส่วนล่างของหลุม ส่วนใหญ่ยืนยันสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เคยตั้งสมมติฐานว่า ก๊าซมีเทนก่อตัวในโพรงในน้ำแข็ง ทำให้เนินดินปรากฏขึ้นที่ระดับพื้นดิน เนินดินมีขนาดใหญ่ขึ้นก่อนระเบิดจนน้ำแข็งและเศษดินอื่นๆ กระเด็นออกไป เหลือแต่หลุมไว้

 

ส่วนสิ่งที่ยังไม่มีความชัดเจนคือว่า ก๊าซมีเทนมาจากไหน อาจมาจากชั้นลึกภายในโลกหรือใกล้พื้นผิว หรือทั้งสองอย่างรวมกัน

 

“แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมีผลต่อความเป็นไปได้ที่หลุมระเบิดจากก๊าซจะปรากฏในชั้นดินเยือกแข็งคงตัวในอาร์กติก” นายชูวีลินกล่าว

 

ด้วยการใช้ภาพถ่ายดาวเทียม คณะนักวิจัยยังสามารถระบุได้ว่า หลุมก่อตัวขึ้นเมื่อใด เชื่อว่าเนินดินจะระเบิดในช่วงใดช่างหนึ่งระหว่างวันที่ 15 พ.ค.-9 มิ.ย.2563 หลุมถูกพบครั้งแรกในระหว่างการบินเฮลิคอปเตอร์ในวันที่ 16 ก.ค.2563

 

เวลาดังกล่าวไม่ได้จากการสุ่ม นี่เป็นช่วงเวลาของปีที่มีพลังงานสุริยะไหล่บ่าเข้ามาจำนวนมาก ทำให้หิมะละลายและชั้นบนของพื้นดินร้อนขึ้น ทำให้ลักษณะและปฏิกิริยาดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป” นายชูวีลินกล่าว

 

แม้ว่าหลุมเหล่านี้จะปรากฏในพื้นที่ที่มีประชากรเบาบางมาก แต่เกิดความเสี่ยงต่อคนพื้นเมืองและโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันและก๊าซ และหลุมเหล่านี้มักถูกพบโดยบังเอิญระหว่างเที่ยวบินของเฮลิคอปเตอร์หรือฝูงกวางเรนเดียร์

 

อีกอร์ โบโกยัฟเลนสกี

 

ทำแผนที่และทำนายการระเบิดของหลุม

จนถึงตอนนี้มีการบันทึกหลุม 17 แห่ง แตยังไม่ทราบว่ามีหลุมทั้งหมดเท่าไร และหลุมต่อไปจะสามารถระเบิดได้เมื่อไร

 

คณะนักวิทยาศาสตร์ยังไม่มีเครื่องมือดีพอเพื่อตรวจสอบและทำแผนที่หลุมที่ปลดปล่อยก๊าซออกมา แม้ว่า ทีมศูนย์วิจัยภูมิอากาศวูดเวลล์ ในรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา กำลังพยายามเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้

 

เพื่อบันทึกการเปลี่ยนแปลงในภูมิประเทศอาร์กติก และในที่สุดอาจคาดการณ์ได้ว่าหลุมที่จะระเบิดครั้งต่อไปอาจเกิดขึ้นที่ใด คณะนักวิจัยคิดค้นอัลกอริทึมเพื่อหาจำนวนการเปลี่ยนแปลงของคุณสมบัติต่างๆ เช่น ความสูงของเนินดิน และ การขยายตัวหรือการหดตัวของทะเลสาบ ในสองคาบสมุทร คือ ยามัล และ กีดา

 

แบบจำลองของนักวิทยาศาสตร์ทำนายหลุมทั้งหมด 7 หลุม อย่างถูกต้อง ตามที่นักวิทยาศาสตร์รายงานเมื่อปี 2560 และเปิดเผยการก่อตัวของหลุมใหม่อีก 3 แห่ง

 

คณะนักวิจัยยังพบว่า หลุมเป็นเพียงสัญญาณที่ไม่มั่นคงว่า พื้นที่เหนือสุดของโลกใบนี้ 327,000 ตารางกิโลเมตร กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง โดยร้อยละ 5 ของพื้นที่ดังกล่าวที่ทีมงานไปสำรวจเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันในภูมิทัศน์ระหว่างปี 2527-2560

 

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้รวมถึงการยุบตัวของพื้นดิน การก่อตัวของทะเลสาบใหม่ๆ และการหายไปของทะเลสาบอื่นๆ และการกัดเซาะของแม่น้ำ ตามผลการวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารจีโอไซแอนซ์ในเดือนม.ค.ปีนี้

 

"หลุมเหล่านี้แสดงถึงกระบวนการที่นักวิทยาศาสตร์ไม่ทราบมาก่อน หลุมและการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันอื่นๆ ที่เกิดขึ้นทั่วภูมิทัศน์ของอาร์กติกบ่งบอกว่า อาร์กติกร้อนและน้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้อยู่อาศัยในอาร์กติกและทั่วโลก" ซู นาตาลี ผู้อำนวยการโครงการอาร์กติกจากศูนย์วิจัยภูมิอากาศวูดเวลล์ และผู้ร่วมการวิจัย กล่าวในแถลงการณ์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

นักวิทย์รัสเซียงง หลุมยักษ์ปริศนาโผล่อีก ความลึกเกือบ50เมตร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง