พิษโควิด-19 ตัวเร่ง หนี้ครัวเรือนไทย พุ่งสูงสุด18ปี ห่วงคนซื้อของไม่ออมเงินก่อน
หนี้ภาคครัวเรือนไดรับการแจ้งเตือนจากทางการมาเป็นระยะ มีแนวโน้มจะกลายเป็นปัญหากดทับต่อความเป็นอยู่ของประชาชนรุนแรงมากขึ้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 มกราคม มีรายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เผยแพร่ตัวเลขสถิติการกู้ยืมเงินของภาคครัวเรือนประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2563 มีหนี้สินครัวเรือนในระบบหมุนเวียนอยู่ที่ 13,766,209 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2563 ที่ 182,091 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 86.6% สูงสุดในรอบ 18 ปี เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ที่อยู่ระดับ 83.8% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบไตรมาส 3 ปี 2562 ที่อยู่ระดับ 78.9%
ขณะที่น.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวถึงตัวเลขหนี้ครัวเรือนดังกล่าว ว่า ในอนาคตข้างหน้าระดับหนี้ครัวเรือนก็จะพุ่งสูงขึ้นไปอีก ตราบใดที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่หายไป
น.ส.ธัญญลักษณ์กล่าวว่า การลดหนี้ครัวเรือนคือต้องเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย แต่ตอนนี้การเพิ่มรายได้ยังไม่ใช่จังหวะที่ดี ส่วนการลดรายจ่ายเป็นเรื่องของวินัยการเงินส่วนบุคคล เช่น การจะซื้อตู้เย็นหรือรถก็ควรจะมีการออมก่อนส่วนหนึ่ง ซึ่งค่านิยมตอนนี้ไม่ได้เป็นแบบนั้น ขณะนี้โควิด-19กลับมาแพร่ระบาดรอบใหม่ โจทย์เฉพาะหน้าต้องมีมาตรการมารองรับเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง
น.ส.ธัญญลักษณ์กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สูญเสียรายได้จากการเลิกจ้างงานหรือการลดเงินเดือน แต่หนี้สินยังคงมีอยู่เท่าเดิม ทำให้ภาคครัวเรือนอยู่ในภาวะที่ฝืดเคือง โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน มีหนี้สินมากกว่าเงินออม อยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง ยิ่งสังคมไทยกำลังอยู่ในภาวะสังคมผู้สูงอายุ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการไม่มีเงินออมเก็บไว้เลย
น.ส.ธัญญลักษณ์ กล่าวว่า อัตราการว่างงานที่สูงอยู่ในขณะนี้เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบกันหมด ความต้องการแรงงานโดยรวมลดน้อยลง ต้องรอให้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บรรเทาลงมากกว่านี้ ส่วนการช่วยเหลือจากภาครัฐเรื่องของการจ้างงานเป็นเพียงประคับประคอง ไม่ให้สถานการณ์แย่ลงไปมากกว่านี้ เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน หรือโครงการจ้างเด็กจบใหม่ เมื่อเทียบกับการช่วยเหลือผู้ว่างงานในสหรัฐอเมริกาแบบโปรแกรมให้สินเชื่อเพื่อคุ้มครองธุรกิจ (Paycheck Protection Program หรือ PPP) ในหลักการนั้นดี แต่ว่าปัจจัยหลายอย่างในประเทศไทยไม่ได้เอื้อมาก เพราะธุรกิจเอสเอ็มอีในสหรัฐอเมริกามีการจดทะเบียนนิติบุคคลจำนวนมาก สามารถตรวจสอบได้ ขณะที่้เอสเอ็มอีในไทยมีผู้ประกอบการ 3 ล้านราย แต่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประมาณ 400,000 ราย ทำให้รัฐบาลไทยทำได้แค่มาตรการในเชิงอุดหนุนเท่านั้น