เปิดเงื่อนไข กู้ กยศ. รายใหม่ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน!
โอกาสดีของผู้กู้กยศ.มาแล้ว เมื่อคณะกรรมการกองทุนฯ กยศ. ได้มีมติยกเลิกการกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันการชำระเงินคืนกองทุน สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ได้รับอนุมัติให้กู้ยืมเงินและทำสัญญากู้ยืมเงินใหม่ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมเงินที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
วันนี้ True ID จึงได้รวบรวมหลักเกณฑ์ต่างๆ พร้อมเงื่อนไข หลังกยศ.ยกเลิกให้มีผู้ค้ำประกันแล้ว จะมีอะไรบ้างไปดูกัน
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ยกเลิกการกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันการชำระเงินคืนกองทุน ในการทำสัญญากู้ยืมเงินใหม่ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป โดยลดอัตราดอกเบี้ยให้ผู้กู้ยืมเงินที่ไม่เคยผิดนัดชำระเหลือ 0.01% ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม –31 ธันวาคม 2564 พร้อมเพิ่มและขยายระยะเวลามาตรการสู้ภัยโควิด ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 รวมถึงชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดีผู้กู้ยืมเงินที่ผิดนัดชำระหนี้ประจำปี 2563 และปี 2564 และงดการขายทอดตลาดจนถึงสิ้นปี 2564 เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชน
สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ได้รับอนุมัติให้กู้ยืมเงินและทำสัญญากู้ยืมเงินใหม่ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 ดังนี้
1.ผู้กู้ยืมรายใหม่
2.ผู้กู้ยืมรายเก่าที่เปลี่ยนระดับการศึกษา
เช่น ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เปลี่ยนระดับการศึกษาไปมหาวิทยาลัย, ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เปลี่ยนระดับการศึกษาไปประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เปลี่ยนระดับการศึกษาไประดับปริญญาตรี (ต่อเนื่อง) ,ระดับปริญญาตรี เปลี่ยนระดับการศึกษาไป ระดับปริญญาโท เป็นต้น
3.ผู้กู้ยืมเงินรายเก่า
ที่เปลี่ยนสถานศึกษา เปลี่ยนหลักสูตร หรือ เปลี่ยนลักษณะการกู้ยืม เป็นต้น
เงื่อนไขการกู้ กยศ. แบบไม่มีผู้ค้ำประกัน
1. ลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0.01% ต่อปี
เป็นการเฉพาะกิจ สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและมิได้เป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้หรือเคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ (ปกติกองทุนคิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปีของเงินต้นคงเหลือ) โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 – 31 ธันวาคม 2564
2. ขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมสู้ภัยโควิด
จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ประกอบด้วย
- ลดเบี้ยปรับ 100% กรณีชำระหนี้ปิดบัญชี สำหรับผู้กู้ยืมเงินทุกรายที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี สามารถชำระได้ที่ธนาคารกรุงไทยและธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยทุกสาขา ส่วนผู้กู้ยืมเงินที่ถูกดำเนินคดี ต้องลงทะเบียนขอรับสิทธิและนัดหมายวันที่ประสงค์จะชำระหนี้ปิดบัญชีได้ที่ https://www.studentloan.or.th/promotion โดยผู้กู้ยืมเงินต้องชำระค่าทนายความและค่าฤชาธรรมเนียมศาลให้เสร็จสิ้นก่อนปิดบัญชี
ผู้กู้ยืม | วิธีการ / ช่องทางการชำระหนี้ |
ผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี | เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยและธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยทุกสาขา |
ผู้กู้ยืมเงินที่ถูกดำเนินคดี | - ลงทะเบียนขอรับสิทธิส่วนลดเบี้ยปรับที่ https://www.studentloan.or.th/promotion - นัดหมายวันที่ประสงค์จะชำระหนี้ปิดบัญชี - ชำระค่าทนายความและค่าฤชาธรรมเนียมศาลให้เสร็จสิ้น - ติดต่อชำระหนี้ได้ที่ เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยและธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยทุกสาขา ตามวันเวลาที่นัดหมาย |
- ลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ
ลำดับ | วิธีการ / ช่องทางการชำระหนี้ |
1. | เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยและธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยทุกสาขา |
2. | แอปพลิเคชัน Krungthai Next หรือแอปพลิเคชัน เป๋าตัง * ตรวจสอบยอดหนี้ก่อนชำระได้ที่ แอปพลิเคชัน “กยศ. Connect” หรือ https://wsa.dsl.studentloan.or.th |
3. | ชำระเงินผ่าน Mobile Banking ทุกธนาคาร โดยใช้ QR Code จากแอปพลิเคชัน “กยศ. Connect” ผู้กู้ยืมต้องทำการชำระหนี้ในวันที่สร้าง QR Code เท่านั้น ยกเว้นการทำรายการในช่วงเวลา 23.00 – 06.00 น. เนื่องจากระบบปิดให้บริการ |
- ลดเงินต้น 5% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและมิได้เป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้หรือเคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ โดยชำระหนี้ปิดบัญชีในคราวเดียว
ลำดับ | วิธีการ / ช่องทางการชำระหนี้ |
1. | เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยและธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยทุกสาขา |
2. | แอปพลิเคชัน Krungthai Next หรือแอปพลิเคชัน เป๋าตัง * ตรวจสอบยอดหนี้ก่อนชำระได้ที่ แอปพลิเคชัน “กยศ. Connect” หรือ https://wsa.dsl.studentloan.or.th |
3. | ชำระเงินผ่าน Mobile Banking ทุกธนาคาร โดยใช้ QR Code จากแอปพลิเคชัน “กยศ. Connect” ผู้กู้ยืมต้องทำการชำระหนี้ในวันที่สร้าง QR Code เท่านั้น ยกเว้นการทำรายการในช่วงเวลา 23.00 – 06.00 น. เนื่องจากระบบปิดให้บริการ |
- ลดอัตราการคิดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
3. ชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี
สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ผิดนัดชำระหนี้ประจำปี 2563 และปี 2564 ยกเว้นคดีที่จะขาดอายุความในปี 2564
4. งดการขายทอดตลาด ทรัพย์สินของผู้กู้ยืมเงิน และ/หรือผู้ค้ำประกัน ที่กองทุนได้ขอให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์ไว้จนถึงสิ้นปี 2564
โดยกองทุนจะต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้กู้ยืมเงิน และ/หรือผู้ค้ำประกันที่ถูกยึดทรัพย์ รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วม ผู้รับจำนองที่ยึดไว้ (ถ้ามี)
ทั้งนี้ กองทุนขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านร่วมกันสู้เพื่อให้ผ่านสถานการณ์โควิดไปด้วยกัน โดยสามารถดูรายละเอียดมาตรการดังกล่าวเพิ่มเติมได้ที่ www.studentloan.or.th หรือ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ไลน์บัญชีทางการ กยศ. หรือโทร. 0 2016 4888” ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าวในที่สุด
ข้อมูลจาก กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)