รีเซต

สรุปข้อมูลศูนย์ NOAA แจ้งเตือนพายุสุริยะจากดวงอาทิตย์เดินทางมากระทบชั้นบรรยากาศโลก

สรุปข้อมูลศูนย์ NOAA แจ้งเตือนพายุสุริยะจากดวงอาทิตย์เดินทางมากระทบชั้นบรรยากาศโลก
TNN ช่อง16
5 ธันวาคม 2566 ( 12:55 )
77
สรุปข้อมูลศูนย์ NOAA แจ้งเตือนพายุสุริยะจากดวงอาทิตย์เดินทางมากระทบชั้นบรรยากาศโลก

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาศูนย์พยากรณ์อากาศอวกาศของ NOAA สหรัฐอเมริกาได้ประกาศตรวจพบการระเบิดของพลาสมาจำนวน 4 ครั้ง บนพื้นผิวดวงอาทิตย์ส่งผลให้เกิดการปลดปล่อยก้อนมวลจากโคโรนา (CME) หรือพายุสุริยะ เดินทางมาถึงโลกตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา และครั้งล่าสุดจะเกิดขึ้นในวันอังคารที่ 5 ธันวาคม ตามเวลาในสหรัฐอเมริกา โดยมีความรุนแรงระดับ G1 ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ไม่มีความรุนแรงมากนัก


พายุสุริยะคืออะไร


พายุสุริยะการปลดปล่อยก้อนมวลจากโคโรนา หรือ Coronal Mass Ejection (CME) หมายถึง การปลดมวลออกมาจากบรรยากาศชั้นโคโรนาชั้นนอกสุดของดวงอาทิตย์อุณหภูมิ 2 ล้านองศาเซลเซียส กลุ่มมวลที่ถูกปลดปล่อยออกมานั้นจะอยู่ในรูปของพลาสมา หรือสถานะที่อะตอมของธาตุสูญเสียอิเล็กตรอนออกไปจนอยู่ในสภาพไอออนและอิเล็กตรอนปะปนกัน เช่น ไอออนของธาตุฮีเลียม ออกซิเจน และเหล็ก 


พายุสุริยะเดินทางด้วยความเร็ว 16 ล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน ในการเดินทางมาถึงโลก และสามารถเดินทางไปได้ไกลสุดถึงระบบสุริยะชั้นนอก หรือนับจากดาวพฤหัสบดี เป็นต้นไป


ผลกระทบจากพายุสุริยะอาจทำให้ระบบไฟฟ้าและการสื่อสาร สัญญาณวิทยุ โทรศัพท์ ระบบนำทาง GPS และอินเทอร์เน็ต เกิดการขัดข้อง นอกจากนี้ยังทำให้เกิดแสงเหนือหรือออโรรา แสงสว่างบนท้องฟ้าที่สามารถมองเห็นได้แถบขั้วโลกและพื้นที่ตอนเหนือของสหรัฐอเมริกา แคนาดา ยุโรปและรัสเซีย


สนามแม่เหล็กของโลกและการเกิดแสงเหนือออโรรา


แสงเหนือหรือแสงออโรรา (Aurora) เกิดขึ้นจากมวลจากโคโรนาเดินทางด้วยความเร็วสูงชนเข้ากับโมเลกุลในชั้นบรรยากาศโลกทำให้เกิดแสงสีต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับประเภทของโมเลกุล เช่น ออกซิเจนจะให้แสงสีเขียวหรือสีแดง ไนโตรเจนให้สีน้ำเงินหรือสีแดง ฮีเลียมให้สีฟ้าและสีชมพู ออโรราสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในบริเวณขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ รวมไปถึงประเทศที่อยู่ใกล้เคียงกับขั้วโลก


ความรุนแรงของพายุสุริยะ


ความรุนแรงของพายุสุริยะในวันอังคารที่ 5 ธันวาคม มีความรุนแรงระดับ  G1 จากทั้งหมด 5 ระดับ หรือ G1 ถึง G5 โดยไรอัน เฟรนช์ (Ryan French) นักฟิสิกส์จากหอดูดาวพลังงานแสงอาทิตย์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา ได้อธิบายเพิ่มเติมว่าพายุสุริยะที่เกิดขึ้นในวันอังคารที่ 5 ธันวาคม อาจไม่รุนแรงเพียงพอที่จะกระทบต่อเทคโนโลยีการสื่อสาร หรือการหยุดชะงักของเทคโนโลยีครั้งใหญ่ อาจมีเพียงผลกระทบเพียงเล็กน้อยหรือช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น


ความเห็นของนักฟิสิกส์ไรอัน เฟรนช์ สอดคล้องกับรายจากดาวเทียม Solar Dynamics Observatory ของนาซา ซึ่งพบว่าพายุสุริยะลูกที่เกิดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมาได้รบกวนสัญญาณวิทยุคลื่นสั้นทั่วมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ เป็นระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนกลับมาส่งสัญญาณได้ตามปกติ นอกจากนี้ยังมีรายงานการตรวจพบแสงเหนือหรือออโรราจากหลายประเทศทั่วโลก ในช่วงวันพฤหัสบดีที่ 31 พฤศจิกายนและศุกร์ที่ 1 ธันวาคม



ที่มาของข้อมูล FoxWeather.com, Washingtonpost.com, สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง