รีเซต

บุรีรัมย์พบผู้ป่วย"โรคอีวาลี่"ทรุดหนักใน 24 ชั่วโมงรายแรก

บุรีรัมย์พบผู้ป่วย"โรคอีวาลี่"ทรุดหนักใน 24 ชั่วโมงรายแรก
TNN ช่อง16
19 พฤศจิกายน 2567 ( 14:22 )
23

นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ  กรมควบคุมโรค ร่วมกับ แพทย์หญิงภาวิณี วงค์ประสิทธิ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญโรงพยาบาลบุรีรัมย์ / ร่วมแถลงข่าวกรณีพบผู้ป่วยปอดอักเสบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์


โดย พญ.ภาวินี เผยว่า ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า หรือ โรคอีวาลี่ (EVALI) 1 ราย เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ ด้วยอาการหอบเหนื่อย เหงื่อเยอะ ไอเป็นเลือด และอาการทรุดหนักภายใน 24 ถึง 36 ชั่วโมง ซึ่งไม่เคยพบการทรุดตัวเร็วลักษณะนี้มาก่อน ถือเป็นรายแรกของโรงพยาบาลบุรีรัมย์ ซึ่งแพทย์ได้ใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อให้ผู้ป่วยพ้นขีดอันตรายแล้ว 


จากการซักประวัติพบว่า ผู้ป่วยมีประวัติสุบบุหรี่ไฟฟ้าปริมาณมากถึง 400 สูดต่อวัน (หรือ 4 พอด) และสูบบุหรี่มวนร่วมด้วย รวมถึงมีโรคประจำตัวเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งทำการตรวจร่างกายผู้ป่วยโดยละเอียดพบว่า ปอดมีฝ้าขาวขณะที่อาการผู้ป่วยล่าสุดอาการโดยรวมดีขึ้น ไม่รุนแรง ไม่มีอาการแทรกซ้อน รวมถึงไม่พบการติดเชื้อก่อโรคใดๆ ทั้งไวรัส เชื้อรา และแบคทีเรีย แต่สังเกตพบว่าผู้ป่วยมีลักษณะคล้ายอาการลงแดงจากการขาดนิโคติน ทั้งนี้ โรงพยาบาลได้ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุีรัมย์ เพื่อสอบสวนโรคตามแนวทางต่อไป


ด้าน นพ.ชยนันท์ กล่าวว่า กรมควบคุมโรค มอบหมายให้กองระบาดวิทยา จัดทำระบบการเฝ้าระวังสอบสวนโรค และรายงานผู้ป่วยภาวะปอดอักเสบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์พบผู้ป่วยภาวะปอดอักเสบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า กำหนดให้สถานพยาบาล ต้องซักประวัติการสูบบุหรี่ รวมถึงการสูบบุหรี่ไฟฟ้าทุกครั้ง และหากผู้ป่วยเข้าข่ายเป็นผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า ต้องรายงานในระบบและแจ้งสำนักงานสาธารณสุข จังหวัดในพื้นที่ เพื่อดำเนินการสอบสวนโรคและแจ้งต่อไปยังสำนักงานป้องกันควบคุมโรค หรือสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมืองโดยทันที


พร้อมกล่าว กล่าวเพิ่มเติมว่า บุหรี่ไฟฟ้า เป็นสิ่งผิดกฎหมายที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ อีกทั้งในน้ำยาของบุหรี่ไฟฟ้ายังมีสารพิษมากมาย เช่น นิโคติน สารโลหะหนัก รวมถึงสารเคมีอื่นๆ ที่ใช้ในการปรุงแต่งในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ส่งผลให้ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเสพติดได้ง่าย แต่เลิกสูบยากมากขึ้น กรมควบคุมโรค จึงขอเตือนนักสูบให้เลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง การสูบบุหรี่ไฟฟ้าอาจส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นที่รุนแรงและเฉียบพลันได้ เช่น ภาวะปอดอักเสบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง