รีเซต

สธ.ชง ศบค.ยกเลิกตรวจโควิด RT-PCR นักท่องเที่ยวเข้าไทยวันแรก ใช้ ATK แทน

สธ.ชง ศบค.ยกเลิกตรวจโควิด RT-PCR นักท่องเที่ยวเข้าไทยวันแรก ใช้ ATK แทน
TNN ช่อง16
7 เมษายน 2565 ( 14:18 )
100

วันนี้ (7 เม.ย.65) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุภายหลังการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ถึงการเตรียมพร้อมการฉีดวัคซีนเข็มที่ 5 ว่า จากข้อมูลตอนนี้ พบว่า วัคซีนโควิด เข็ม 3 มีประโยชน์แน่นอน 

จากที่กรมควบคุมโรคได้เก็บข้อมูลและนำเสนอมา ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ว่า การฉีดวัคซีน 2 เข็มสามารถลดการเสียชีวิตได้ถึง 5-6 เท่า ส่วนการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ลดการเสียชีวิตได้ถึง 30 เท่า 

ส่วนประเด็นที่มีการพูดถึงวัคซีนเข็มที่ 5 นั้น นพ.โอภาส ระบุว่า ประเทศไทยมีแผนเรื่องเข็ทกระตุ้นมาโดยตลอด มีการตรวจดูระดับภูมิคุ้มกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามข้อมูลในการเข้ารับเข็ม 5 

หลังจากได้มีการเจาะเลือดหาภูมิคุ้มกันในประชาชนผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็ม 3 และเข็ม 4 ว่า ภูมิคุ้มกันลดลงอยู่ในระดับใด โดยตอนนี้ข้อมูลยังไม่มากพอ ถึงการที่จะเข้ารับวัคซีน เข็ม 5 ว่าต้องฉีดเมื่อใด

แต่ที่มีข้อมูลแน่นอน คือการเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 และ เข็ม 4 อีกทั้ง ตอนนี้คนที่ฉีดวัคซีนเข็ม 4 ยังมีไม่มาก และยังไม่ถึงระยะเวลารับวัคซีนเข็ม 5

โดยแนวทางวัคซีนครบ 2 เข็มที่ฉีดไปแล้วครบ 3 เดือนให้เข้ารับเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 ส่วนเข็ม 4 ห่างจากเข็ม 3 เป็นระยะเวลา 4 เดือน ขณะเดียวกัน ทางสมาคมวิชาชีพต่างๆ ได้ออกมาให้ข้อมูลตรงกันถึงความจำเป็นการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย 


นพ.โอภาส ระบุว่า ในวันที่ 8 เม.ย. กระทรวงสาธารณสุข เตรียมเสนอ ศบค.ยกเลิกการตรวจโควิดรูปแบบ RT-PCR ในนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ให้เหลือตรวจหาเชื้อแบบ ATK แทน

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ 1 เม.ย.ได้มีการยกเลิกการตรวจ RT-PCR นักท่องเที่ยวก่อนเดินทางเข้าประเทศ โดยพบว่า มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยมากขึ้น โดยสูงสุดวันที่ 4 เม.ย. จำนวน 18,000 ราย

รวมถึงอัตราการติดเชื้อไม่เพิ่มขึ้น ทำให้ภาระการดูแลรักษาไม่ได้เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม รอมติ ศบค.ในวันพรุ่งนี้ก่อน และภาพรวมการติดเชื้อในประเทศหลังเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับแผนกันอีกครั้ง 

นอกจากนี้ การตรวจด้วยโควิดด้วยรูปแบบ ATK หรือ Antigen Test Kit มีความง่ายและรวดเร็ว และสามารถคัดครองเบื้องต้นได้ ในกรณีที่ไม่มีอาการ ได้ถึงร้อยละ 90 ส่วนที่มีอาการปานกลาง ตรวจด้วยชุดตรวจ ATK พบผลบวก ร้อยละ 10

ขณะเดียวกันการตรวจ RT-PCR จะใช้ในกรณีที่จะต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ส่วนประชาชนทั่วไปสามารถตรวจหาเชื้อด้วยวิธี ATK เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ซ้ำ ซึ่งสอดคล้องกับการที่จะปรับโควิด-19 ให้กลายเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งการตรวจคัดกรองหาเชื้อต่างๆ ต้องปรับตามสถานการณ์ 


นพ.โอภาส ระบุอีกว่า จากข้อมูลที่ผ่านมา ช่วงเทศกาลหยุดยาว จะพบผู้ติดเชื้อมาก เช่น การระบาดสายพันธุ์เดลต้าปีที่แล้วก็ระบาดหนักหลังสงกรานต์ ทำให้ตอนนี้ที่ใกล้เข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ถือว่าเป็นช่วงที่สำคัญที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์การติดเชื้อ เน้นย้ำให้ประชาชน ก่อนเดินทางกลับภูมิลำเนาให้ตรวจหาเชื้อด้วย ATK ก่อน


ภาพจาก TNN ONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง