ผลวิจัยชี้! “เชือกผูกเรือ” คืออีกแหล่งไมโครพลาสติกขนาดใหญ่ในทะเล!
ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเราได้ยินข่าวเกี่ยวกับมลพิษในท้องทะเลกันมากมาย โดยหนึ่งในต้นกำเนิดของมลพิษไมโครพลาสติกในทะเลมาจากการเน่าเปื่อยของขยะในน้ำ อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่ายังมีอีกหนึ่งแหล่งใกล้ตัวที่หลายคนคาดไม่ถึง โดยล่าสุดผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรชี้ชัด ว่า ‘เชือกผูกเรือ’ ก็อาจจะเป็นหนึ่งในแหล่งปล่อยไมโครพลาสติกลงสู่ทะเลแหล่งใหญ่เช่นเดียวกัน
ไมโครพลาสติกในมหาสมุทร เป็นอนุภาคหรือเส้นใยขนาดเล็กของพลาสติกที่ลอยอยู่ในน้ำ ซึ่งปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ จะกินเข้าไป และเมื่อปลาเหล่านั้นถูกมนุษย์กินเข้าไปต่อ ไมโครพลาสติกก็จะถูกส่งมาที่ร่างกายของเรา และอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้
โดยการศึกษาก่อนหน้านี้ระบุว่าไมโครพลาสติกในทะเลจำนวนมากมาจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกและขยะอื่น ๆ ซึ่งค่อย ๆ เสื่อมสภาพหลังจากถูกทิ้งลงทะเลหรือถูกชะล้างลงสู่ทะเล สิ่งที่มักจะก่อให้เกิดไมโครพลาสติกได้แก่ เส้นใยสิ่งทอสังเคราะห์ที่จากท่อน้ำเสียของเครื่องซักผ้า หรือแม้แต่อนุภาคของยางรถยนต์ที่หลุดออกมาเวลาเราล้างรถหรือมีฝนตกหนัก ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากแหล่งพลาสติกเหล่านี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์จากBritain's University of Plymouth จึงเกิดความสงสัยว่าเชือกโพลีเมอร์ที่ใช้ลากอวน หรือใช้ผูกเรือ จะก่อให้เกิดมลพิษในท้องทะเลด้วยหรือไม่?
เพื่อหาคำตอบ พวกเขาจึงได้ทำการทดลองในห้องแล็บและการทดลองภาคสนาม พบว่าเชือกผูกเรือที่มีอายุ 1 ปีจะปล่อยเศษไมโครพลาสติกประมาณ 20 ชิ้นลงสู่มหาสมุทรต่อทุก ๆ พื้นที่ 1 เมตรที่ลากผ่าน และจะเพิ่มเป็น 720 ชิ้นต่อเมตรสำหรับเชือกอายุ 2 ปี และมากกว่า 760 ชิ้น สำหรับเชือกอายุ 10 ปี
ดังนั้นเมื่อคำนวณจากตัวเลขที่ได้ จึงสามารถคาดการณ์คร่าว ๆ ได้ว่า หากเรามีเชือกใหม่ที่มีความยาว 50 เมตร ทุกครั้งที่ลากเรือก็อาจจะมีไมโครพลาสติกกว่า 700 ถึง 2,000 ชิ้นที่หลุดลงสู่ทะเล และเชือกยิ่งเก่า จำนวนไมโครพลาสติกก็จะยิ่งเพิ่มจำนวนสูงขึ้น โดยอาจสูงขึ้นถึง 40,000 ชิ้นเลยทีเดียว นักวิจัยลองคำนวณเพิ่มเติมพบว่าหากนับแค่กองเรือประมงของสหราชอาณาจักร ที่มีอยู่กว่า 4,500 ลำ เพียงเท่านี้ก็อาจปล่อยชิ้นส่วนไมโครพลาสติกจากเชือกไปแล้วกว่า 326 ล้านถึง 17 พันล้านชิ้นต่อปีลงสู่ทะเลไปแล้ว
ที่สำคัญคือการคำนวณครั้งนี้นักวิทยาศาสตร์คิดจากแรงดึงน้ำหนัก 2.5 กิโลกรัมเท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาความเป็นจริงเราก็ต่างทราบกันดีว่า การบรรทุกของทางทะเลจะมีน้ำหนักที่หนักกว่ามาก จึงทำให้เกิดการเสียดสีและทิ้งเศษชิ้นส่วนของเชือกมากขึ้น การค้นพบครั้งนี้จึงเป็นการเน้นย้ำให้เห็นว่าอุตสาหกรรมการเดินเรือควรเร่งออกมาตรการบำรุงรักษาและการรีไซเคิลเชือกในอุตสาหกรรมการเดินเรือโดยด่วน และยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยในการปกป้องธรรมชาติ เช่น เราอาจจะต้องหาวิธีออกแบบเชือกสังเคราะห์แบบใหม่ที่ลดการปล่อยไมโครพลาสติกมากขึ้น
เพราะเมื่อเราก่อ เราก็ต้องแก้ นั่นคือวิธีที่เราจะปกป้องและดูแลท้องทะเลให้คงอยู่ได้ยาวนานที่สุด
งานวิจัยชิ้นนี้มีให้อ่านฉบับเต็มแล้วที่ วารสาร Science of the Total Environment
ขอบคุณข้อมูลจาก