รีเซต

กรมชลฯ เตือน 11 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา รับมือสถานการณ์น้ำเพิ่มสูงขึ้น

กรมชลฯ เตือน 11 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา รับมือสถานการณ์น้ำเพิ่มสูงขึ้น
TNN ช่อง16
21 ตุลาคม 2563 ( 13:58 )
387

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ปฏิบัติราชการแทน อธิบดีกรมชลประทาน มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 20 ต.ค. 63 แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ฉบับที่ 2 ไปยังผู้ว่าราชการในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 11 จังหวัด ได้แก่ จ.อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ และเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

เนื่องจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักกระจายบริเวณจังหวัดกำแพงเพชร นครสวรรค์ และพิจิตร ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานีวัดน้ำ C2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ และน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานี รวมกันไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท เพิ่มมากขึ้น

ในขณะที่พื้นที่ชลประทานในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก มีปริมาณมากต้องเร่งระบายออก จึงสามารถแบ่งระบายน้ำจากเหนือเขื่อนเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งได้เพียงเล็กน้อย ประกอบกับในระยะนี้มีฝนตกกระจายทั่วพื้นที่ ส่งผลให้ปริมาณน้ำดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และไหลลงสู่บริเวณเหนือเขื่อนจ้าพระยา

ปัจจุบัน ณ วันที่ 20 ต.ค. 63 เวลา 06.00 น. ระดับน้ำเหนือเขื่อนจ้าพระยา อยู่ที่ระดับ +16.50 เมตร (ระดับน้ำทะเลปานกลาง) ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนจ้าพระยา 889 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นอยู่ในเกณฑ์ประมาณระหว่าง 900 - 1,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำ ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน

โดยระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่คลองโผงเผง คลองบางบาล บริเวณอำเภอบางบาล อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 60 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร

ทั้งนี้ หากมีฝนตกเพิ่มเติม ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่าเกณฑ์ดังกล่าว จะแจ้งให้ทราบต่อไป

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำ จึงขอให้ทางจังหวัดประกาศประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร เป็นต้น และประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ขอให้เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด


เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง