รีเซต

ชาวอินเดียสิ้นศรัทธา นายกฯ โมดี หลังวิกฤตโควิดระบาด

ชาวอินเดียสิ้นศรัทธา นายกฯ โมดี หลังวิกฤตโควิดระบาด
TNN World
14 มิถุนายน 2564 ( 09:41 )
63
ชาวอินเดียสิ้นศรัทธา นายกฯ โมดี หลังวิกฤตโควิดระบาด

Editor’s Pick: เขาไม่ใช่มนุษย์ เขาคือยอดมนุษย์ เขาคือนักบุญ...เขาคนนั้นคือ นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี
นั่นคือความคิดของผู้สนับสนุนนายกฯ อินเดียจำนวนหนึ่ง แต่หลายคน กลับเริ่ม 'ตาสว่าง' ว่า โมดีไม่ใช่ผู้นำที่ดีอย่างที่พวกเขาเคยคิด จากความล้มเหลวการรับมือโควิดที่ทำให้ญาติ พี่น้อง เพื่อน คนรัก ลูก ๆ ของพวกเขาต้องสังเวยชีวิตให้กับไวรัสมรณะ

 

 

 

ผู้นำที่ 2,500 ปีจะมีสักคน


ดอกเตอร์ สัตเยนดรา กุมาร์ ทิวารี แพทย์ชาวอินเดียมองว่า นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี เป็น “ยอดมนุษย์” สุดยอดผู้นำที่ 2,500 ปีจะถือกำเนิดขึ้นมาสักคน และเขาควรได้รับการจารึกในประวัติศาสตร์อินเดีย เทียบเท่ากับมหาตมะ คานธี และพระพุทธเจ้า
“โลกจะไม่ได้เห็นผู้นำแบบโมดีอีก” นี่คือคำพูดของศาสตราจารย์ด้านศัลยกรรมทั่วไปในเมืองพาราณสี ซึ่งเป็นเขตเลือกตั้งของโมดี และหนึ่งในเมืองศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวฮินดี

 


ทำไมทิวารีถึงเชิดชูผู้นำอินเดียขนาดนี้, สำหรับผู้สนับสนุนตัวยงแล้ว นายกฯ โมดี คือ ผู้นำที่โหมงานหนักมากกว่า 18 ชั่วโมงต่อวัน ทั้งที่อายุก็ 70 ปีแล้ว และไม่เคยลางานเลยสักวันตลอดการทำงาน 23 ปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับสิ่งที่พรรคภารติยะ ชนะตะ พรรครัฐบาลอินเดียพยายาม ‘ชวนเชื่อ’ มาโดยตลอด

 

 

 

ทำงานหนัก ชอบโยคะ นับถือฮินดู


สำหรับชาวอินเดียจำนวนไม่น้อย นเรนทรา โมดี คือต้นแบบของผู้ชายที่ทำงานหนัก เวลาว่างก็จะเล่นโยคะและนับถือศาสนาฮินดู, ภาพลักษณ์นี้เองที่ทำให้เขาชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเมื่อปี 2019 และดำรงตำแหน่งต่ออีกสมัย 

 


โมดี ปกครองอินเดียมาตั้งแต่ปี 2014 แล้ว, แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัวลง ทั้งที่เขาเคยประกาศจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง สร้างงานและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนยากจนในประเทศ แต่โมดีก็ยังเป็นที่นิยมของประชาชน  

 

 

 

ความล้มเหลวของโมดี


แต่โศกนาฎกรรมที่เกิดจากคลื่นโควิดระบาดระลอกสอง, ฌาปนสถานล้นด้วยศพที่เผาไม่ทัน ระบบสาธารณสุขแทบล่มสลาย
ผู้นำอินเดียจึงเผชิญกับข้อวิจารณ์อย่างหนักถึงการบริหารจัดการที่ล้มเหลว อีกทั้งยังอนุญาตให้จัดการหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นโดยไม่มีการเว้นระยะห่าง ไม่สวมหน้ากากอนามัย, ที่สำคัญคือ ความล้มเหลวการยับยั้งการจัดเทศกาลศักดิ์สิทธิ์กุมภเมลา ที่ผู้แสวงบุญหลายล้านคนลงไปแช่แม่น้ำคงคาเพื่อล้างบาป

 


“ฐานเสียงจำนวนมากของโมดีเหมือนตาสว่าง เพราะพวกเขาสูญเสียคนที่รักไป สูญเสียพี่น้อง พ่อแม่ และลูก ๆ” อชูโทส วาร์ชนีย์ ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียใต้ร่วมสมัย มหาวิทยาลัยบราวน์ กล่าว และประเมินว่า การบรหารจัดการโควิดที่ผิดพลาดของโมดี อาจส่งผลคล้ายกับกรณีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ที่ทำให้เขาพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งได้

 

 

 

ฐานเสียงของโมดีคือใคร


แม้จะอายุ 70 ปีแล้ว แต่น่าสนใจว่า นเรนทรา โมดี มีฐานเสียงคนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อย หนึ่งในนั้น คือ ริชาบห์ เมธา นักศึกษาวัย 24 ปี, เขาชื่นชอบแนวคิดชาตินิยมของโมดี และชื่นชมการพัฒนาด้านความมั่นคงของผู้นำอินเดีย

 


เมื่อถามถึงยอดผู้เสียชีวิตโควิด-19 ที่มหาศาล, เมธาเชื่อว่า ตัวเลขเหล่านี้ ‘เกินจริง’, เป็นสิ่งที่ผู้นำรัฐบาลรัฐต่าง ๆ พยายามปั้นตัวเลขขึ้นเพื่อทำลายภาพลักษณ์โมดี, เมธาเชื่อว่านี่เป็นแผนเพื่อ “ป้ายสีรัฐบาล”

 


แม้เขาจะสูญเสียเพื่อนรักไปหลายคนจากโควิด แต่ความภักดีต่อโมดียังแข็งแกร่ง ทั้งที่เขาเองเป็นคนพาเพื่อนไปส่งโรงพยาบาล และเห็นภาพความวุ่นวาย “ผู้คนตะโกน ไอ ร้องไห้...มันน่ากลัวมาก”

 


ผู้เชี่ยวชาญมองอีกด้าน สื่อมวลชนเองก็แสดงถึงหลักฐานถึงผู้เสียชีวิตจากโควิดที่สูงกว่าตัวเลขของทางการ, ขัดแย้งกับความเชื่อของเมธาว่า มันเป็นเพียงการปั้นตัวเลขเพื่อผลลัพธ์ทางการเมือง

 

 

 


โมดี เป็นกระสอบทราย?


ฐานเสียงรุ่นมิลเลนเนียลอีกคนของโมดี คือ วากิชา โซนี นักวิจัยวัย 29 ปีในกรุงนิวเดลี, เธอคอยช่วยจัดหาออกซิเจนและเตียงคนไข้ให้โรงพยาบาลที่ขาดแคลน เพื่อนของเธอหลายคนสูญเสียพ่อแม่ให้กับไวรัสมรณะ แต่เช่นเดียวกับทิวารี ศาสตราจารย์แพทย์คนนี้ มองว่าโมดีคือผู้ยิ่งใหญ่ 

 


“ฉันรู้สึกเสมอว่าต้องมีผู้นำหนึ่งเดียวที่จะชักนำเราไป และผู้นำคนนั้นคือโมดี ไม่มีใครอื่น”
สำหรับการรับมือโควิด-19 โซนี ชี้ว่าอัตราการเสียชีวิตต่อหัวประชากรแสดงให้เห็นว่า อินเดียไม่ได้เลวร้ายเหมือนที่เป็นข่าวกัน เพราะสหรัฐฯ เองก็รับมือโควิด-19 ไม่ได้เช่นกันในช่วงแรก ทั้งที่มีสาธารณูปโภคทางการแพทย์และโรงพยาบาลที่ดีที่สุด จึงไม่แปลกที่อินเดียจะรับมือไม่ได้เช่นกัน ดังนั้น การใช้โมดีเป็น “กระสอบทราย” ระบายความโกรธแค้น จึงไม่ยุติธรรมเลย

 

 

 


ศรัทธาที่หมดสิ้น


พื้นที่ชนบทของอินเดีย ได้รับผลกระทบหนักโควิด-19 เพราะไม่มีสาธารณูปโภคทางการแพทย์ที่เพียงพอ ทำให้ชาวบ้านต้องเดินทางหลายกิโลเมตรเพื่อพาบุคคลที่รักไปรักษา และชาวบ้านในถิ่นทุรกันดารนี้เอง ที่อาจเป็น “เหยื่อที่ไม่ถูกนับ” ของโควิด
อดีตเจ้าหน้าที่ทหารอาการศคนหนึ่งที่ไม่ประสงค์ออกนาม เปิดเผยว่า เขาเคยลงคะแนนให้โมดี เพราะเชื่อว่าจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงและสร้างงานให้คนหนุ่มสาวได้ 

 


แต่ตอนนี้ เขาต่อต้านโมดี หลังได้เห็นผลกระทบที่เกิดกับหมู่บ้านของเขา
“ถ้าคุณไปที่หมู่บ้านแล้วพูดชื่อโมดี ชาวบ้านก็พร้อมจะฆ่าคุณ พวกเขาโกรธมาก ไม่อยากได้ยินแม้แต่ชื่อ”

 


สิ่งที่ชาวบ้านเจอ คือ รถพยาบาลเอกชนเก็บเงินแบบรีดไถ เพียงเพื่อพาชาวบ้านไปโรงพยาบาลที่อยู่ห่างออกไป 90 กิโลเมตร ขณะที่ยาสามัญทั่วไปอย่างพาราเซตามอล ก็มีราคาพุ่งสูง
“ถ้าคุณมีเงินก็รอด ถ้าไม่มีก็ตาย”

 

 

 


“เลือด...ที่ล้างไม่ออก”


อะชูโทส วาร์ชนีย์ จากมหาวิทยาลัยบราวน์มองว่า ชะตากรรมทางการเมืองของโมดีต่อจากนี้ จะขึ้นอยู่กับฝ่ายค้านว่า จะเตรียมความพร้อมมาดีแค่ไหนในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2024

 


และแม้ประชากรที่มหาศาลของอินเดียจะทำให้สำรวจความคิดเห็นค่อนข้างยากลำบาก แต่พอจะมีดัชนีชี้ให้เห็นถึงกระแสต่อต้านโมดีที่กำลังเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่าง การเลือกตั้งในรัฐเบงกอลตะวันตก ที่พรรครัฐบาลได้ชัยชนะแบบไม่เด็ดขาด ทั้งที่พยายามเพิ่มที่นั่งในสภาท้องถิ่นให้มากขึ้นมานานหลายปีแล้ว 

 


พอฐานเสียงเริ่มเบาบางลง รัฐบาลใช้มาตรการสุดโต่งเพื่อควบคุมความคิดเห็นต่าง และตั้งคำถามถึงจุดยืน “ผู้ช่วยอินเดีย” ของโมดี, ตำรวจจับกุมประชาชน 25 คนในกรุงนิวเดลีที่ติดโปสเตอร์วิจารณ์โมดี ที่ส่งออกวัคซีนไปประเทศอื่น แทนที่จะเอามาใช้ช่วยเหลือประชาชนของตนเอง

 


ตำรวจในรัฐอุตระประเทศ ตั้งข้อหาชายวัย 26 ปีคนหนึ่ง เพียงเพราะโพสต์ Twitter ร้องขอถังออกซิเจนเพื่อมาช่วยพ่อของเขา, Twitter เองได้ลบโพสต์ต่าง ๆ ที่วิจารณ์การรับมือโควิดของรัฐบาล ตามคำขอของรัฐบาลอินเดียอีกด้วย ก่อให้เกิดความวิตกว่าจะเกิดการปิดกั้นเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นโดยรัฐ

 


ดังนั้น อนาคตของโมดีจากนี้ไป อาจขึ้นอยู่กับว่า เขาจะปัดความผิดการรับมือโควิดไปให้รัฐบาลท้องถิ่นได้มากแค่ไหน โดยเฉพาะในรัฐที่พรรครัฐบาลไม่ได้เป็นเสียงข้างมาก

 


แต่สำหรับอดีตผู้สนับสนุนพรรครัฐบาลตัวยง ที่มาวันนี้ตั้งคำถามว่า โมดีควรครองอำนาจต่อไปอีกหรือไม่ เขากล่าวว่า
“ผมพยายามหาถังออกซิเจน แต่ก็หาไม่ได้ ไม่มีใครช่วยผมเลย ผมทำอะไรไม่ได้เลย...ทุกประเทศห่วงใยประชาชนของตนเอง แต่ไม่ใช่อินเดีย”
“เลือดมันเปรอะมือรัฐบาลไปแล้ว...และเลือดนั้น พวกเขาไม่มีวันล้างออก”

 


—————
เรื่อง: ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล
ภาพ: Arun SANKAR / AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง