สภานายจ้างจับตาเปิดสภากังวลรบ.โต้ตอบผู้ชุมนุม หวั่นการเมืองบานปลายกระทบศก.
นายธนิต โสรัตน์ ในฐานะรองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย(อีคอนไทย) กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบให้เปิดการประชุมสภาวิสามัญ วันที่ 26-27 ตุลาคม ตามข้อเรียกร้องของผุ้ชุมนุมทางการเมือง ว่า เป็นสัญญาณที่ดีที่ทางรัฐบาลจะเปิดพื้นที่เจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง ในการหาทางออกให้กับประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจเปราะบางจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และกำลังจะฟื้นตัวขึ้นมาได้ เพราะถ้าหากปล่อยให้มีความรุนแรงของสถานการณ์ทางการเมืองแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ อาจจะทำให้สถานการณ์ยิ่งบานปลาย และกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งไม่อยากให้การเปิดประชุมสภาเป็นเพียงการเตรียมตัวของรัฐบาลเพื่อโต้ตอบกลับทางผู้ชุมนุมทางการเมืองเท่านั้น แต่รัฐบาลต้องแสดงจุดยืนที่จะแก้ไขปัญหาให้กับสถานการณ์ในครั้งนี้ รวมทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมทางการเมืองเองก็ควรจะเน้นที่การแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เป็นจุดสำคัญของปัญหาเสียกอ่น ที่จะเรียกร้องเรื่องอื่นๆ
นายธนิต กล่าวว่า ส่วนกรณีการเรียกร้องจากผู้ชุมนุนทางการเมืองให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออก ภายใน 3 วัน ในวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา เรื่องนี้เป็นอำนาจทางกฎหมายของนายกรัฐมนตรีที่จะลาออกหรือจะอยู่ต่อจนครบวาระ เป็นเรื่องของกลไกรัฐสภาที่จะเห็นชอบและให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ รวมทั้งการทำประชามติเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจ ถ้าหากเกิดกรณีการลาออกจริงไม่ว่าจากกรณีไหนก็ตาม การต้องจัดเลือกตั้งใหม่ ที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างแน่นอน จึงอยากทั้งสองฝ่ายให้เจรจากันมากกว่า เพื่อพยุงเศรษฐกิจซึ่งอยู่ในช่วงเสี่ยงมีความผันผวนอย่างฉับผลันขณะนี้ และยืนยันว่าการเจรจากันเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับปัญหาทางการเมืองในครั้งนี้
นายธนิต กล่าวว่า เรื่องที่น่าเป็นกังวลที่สุดขณะนี้ คือการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เปราะบาง แล้วยิ่งปัญหาที่ซับซ้อนเข้ามา ยิ่งทำให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจล่าช้าลง ความมั่นใจของนักลงทุนชาวต่างชาติที่จะเข้ามาในประเทศก็ลดลง ธุรกิจท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19อยู่แล้ว แม้ว่าจะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติบ้างแล้ว แต่ยังคงเป็นจำนวนน้อยมากที่จะทดแทนรายได้ที่เสียไป ชาวต่างชาติที่เข้าประเทศก็อาจเป็นเพียงนักลงทุนที่เดินทางมาไทยเพื่อดูแลธุรกิจตนเองเท่านั้น รวมทั้งการขยายเวลาพักชำระหนี้โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว ก็เป็นเพียงการแช่แข็งเพื่อให้เกิดหนี้เสียช้าลง ซึ่งในอนาคตอาจมีคนว่างงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมกับนักศึกษาจบใหม่ยังไม่มีงานทำที่ยังคงจากปีที่ผ่านมา และกำลังจะนักศึกษาจบใหม่อีกใน เดือนมีนาคม 2564
นายธนิต กล่าวว่า อย่างไรก็ตามปี 2564 ก็ยังมีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยเพียง 9-10 ล้านคน เป็นสัดส่วนแค่ 1 ใน 4 ของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งปี เนื่องจากเศรษฐกิจหลายประเทศทั่วโลกก็ประสบปัญหาเช่นกัน คนต่างชาติก็ว่างงานมกขึ้นและไม่มีกำลังใช้จ่าย ดังนั้นการที่จะพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติให้ดันเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้นยังเป็นเรื่องยาก ส่วนเศรษฐกิจไทยจะกลับมาปกติได้หรือไม่ คงต้องรอดูสถานการณ์ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ต่อไป